ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (2)

ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (2)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ย่างเข้าสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคมแล้ว ดอกชวนชมเบ่งบานสะพรั่งไปทั่วถิ่น ทั้งขาว แดง ชมพูแกมขาว เหลือง ส้ม หันกลับมามองปฏิทินภาษีประจำเดือนนี้ มีเครื่องหมายดอกจันที่วันที่ 31 สิงหาคม หรือวันจันทร์หน้าระบุว่าเป็นวันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี ภ.ง.ด.51 สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ และมีรอบระยะเวลาบัญชี 12 เดือนที่ตรงกับปีปฏิทิน ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 52

ซึ่งเรียนย้ำกันอีกครั้งหนึ่งว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีมี 2 แบบ ก็คือ

การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีจากกำไรจริงที่ได้รับสำหรับครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีแรก ซึ่งมีวิธีการคำนวณภาษีเช่นเดียวกับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำรอบระยะเวลาบัญชี ใช้สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ และเครดิตฟองซิเอร์ และกิจการที่ได้รับอนุญาตให้มีผู้สอบทานงบการเงิน ซึ่งสามารถคำนวณกำไรสุทธิตามความเป็นจริงได้

การเสียจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำและจะได้กระทำตลอดรอบระยะเวลาบัญชี สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไปนอกจากที่กล่าวข้างต้น

กรณีกิจการเอสเอ็มอี ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ณ วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท เมื่อประมาณการกำไรสุทธิได้เป็นจำนวนเท่าใด นำไปหักด้วยผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชี คงเหลือเป็นจำนวนเท่าใดให้หารด้วยสอง เพราะเป็นการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

สำหรับจำนวนกำไรที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายใหม่จำนวนไม่เกิน 150,000 บาท นั้น นอกเหนือจากการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้เสียในอัตรา 15% กำไรสุทธิส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้เสียในอัตรา 25% และส่วนที่เกิน 3 ล้านบาท ให้เสียในอัตรา 30% แล้วยังได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท อีกด้วย โดยให้นำไปหักออกจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิของทั้งรอบระยะเวลาบัญชี แล้วคำนวณภาษีตามอัตราก้าวหน้าดังกล่าว

ท่านอธิบดีกรมสรรพากร นายวินัย วิทวัสการเวช ได้กล่าวย้ำเป็นกรณีพิเศษว่าการเตรียมแบบแสดงรายการภาษีให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการป้องกันปัญหาทาง ภาษีอากรที่ดีสุด ซึ่งก่อประโยชน์สูงสุดทั้งส่วนตนส่วนท่าน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติมอีก.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook