ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี

ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ย่างเข้าปลายเดือนสิงหาคม ฝนทิ้งช่วงไประยะหนึ่ง แต่ก็กลับมาตกใหม่ ทำให้เกิดความชุ่มชื้นชื่นฉ่ำไปโดยทั่ว ดอกไม้ออกดอกแตกช่ออยู่ดารดาษ

ครั้นรู้ตัวก็หันกลับมามองทางภาษี ถือเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี ภ.ง.ด. 51 ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ และมีรอบระยะเวลาบัญชี 12 เดือน ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2551 ถึง 31 ธันวาคม 2551 ที่จะสิ้นสุดในวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2552 นี้

โดยทั่วไปมีข้อกำหนดให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีดังนี้

สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ และเครดิต ฟองซิเอร์ และกิจการที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากรให้มีผู้สอบทานงบการเงิน ซึ่งสามารถคำนวณกำไรสุทธิตามความเป็นจริงได้ ให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีจากกำไรที่ได้รับจริงในช่วง 6 เดือนแรก

ส่วนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวข้างต้นให้เสียภาษีเงิน ได้นิติบุคคลครึ่งปีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำและจะได้กระทำตลอดรอบระยะเวลาบัญชี

แต่อย่างไรก็ตาม มีบางกิจการไม่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ในปีนี้ และหรือที่จดทะเบียนเลิกกิจการต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยมีรอบระยะเวลาบัญชีแรกหรือรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายไม่ถึง 12 เดือน รวมทั้ง กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี และรอบระยะเวลาบัญชีปีนั้นมีกำหนดเวลาไม่เกินกว่า 6 เดือน

ฝากย้ำเตือนสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ณ วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งนอกจากได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 15% ของกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท และ 25% ของกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท

สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 3 ล้านบาทนั้นให้ยังคงเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราปกติ 30% ยังได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กิจการดังกล่าวอีกไม่เกิน 150,000 บาทต่อรอบระยะเวลาบัญชี โดยให้นำจำนวนเงินที่ได้รับยกเว้นไม่เกิน 150,000 บาท มาคำนวณหักออกจากประมาณการกำไรสุทธิภายหลังจากที่ได้หารสองออกไปแล้ว ในลักษณะเดียวกับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีนั่นเอง.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook