ฟีเวอร์ไล่หลังพันธบัตร

ฟีเวอร์ไล่หลังพันธบัตร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
''ลงทุนหุ้นกู้'' อย่าวู่วาม ''ต้องรู้จริง''

ภายหลังการเปิดขาย พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ของรัฐบาล 2 รอบ รวมวงเงิน 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งให้ดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากเงินทั่วไปในยุคนี้มาก และปรากฏว่าขายเกลี้ยงไม่เหลือในเวลาอันรวดเร็ว กระแส ฟีเวอร์ ที่เกิดขึ้นตามมาแบบแทบจะทันทีทันใดก็คือกระแสการออก หุ้นกู้ ของธนาคารและบริษัทเอกชนต่าง ๆ

เบื้องต้นขณะนี้มีข่าวแว่ว ๆ หลายแหล่ง-หลายหมื่นล้าน

ดอกเบี้ยสูง คือจุดล่อใจที่คล้ายพันธบัตรไทยเข้มแข็ง

ถามว่า หุ้นกู้คืออะไร ? หุ้นกู้คือตราสารหนี้ระยะยาว มีหลายแบบ ออกขายโดยบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทมหาชน ซึ่งโดยทั่วไปมักจะมีกำหนดอายุ 2-20 ปี โดยมีดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน เช่นอาจจะ 3-6% ต่อปี

สำหรับตัวอย่างของประเภทหุ้นกู้ที่มีในปัจจุบัน และลักษณะจำเพาะโดยสรุป ก็เช่น... หุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นหุ้นกู้แบบที่มีสิทธิจะแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ ตามเงื่อนไขที่กำหนดในหนังสือชี้ชวนให้ซื้อ ซึ่งถ้าได้แปลงสภาพก็จะทำกำไรได้มากกว่าผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยของหุ้นกู้, หุ้นกู้ชนิดมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แบบนี้อัตราดอกเบี้ยจะต่ำกว่าหุ้นกู้ที่บริษัทไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน, หุ้นกู้ชนิดทยอยจ่ายคืนเงินต้น จะมีเงื่อนไขหรือข้อตกลงในหนังสือชี้ชวนหรือหนังสือชี้แจง เช่น จะทยอยคืนเงินต้นคราวละกี่ปี คราวละเท่าไหร่, หุ้นกู้ชนิดที่ให้สิทธิในการไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด นี่ก็จะมีเงื่อนไขหรือข้อตกลงแจ้งในหนังสือชี้ชวนว่าจะอย่างไรบ้าง

อีกแบบ-อีกประเภทคือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิ โดยหุ้นกู้แบบนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบเป็นพิเศษก่อนตัดสินใจลงทุนซื้อ เพราะแม้อัตราดอกเบี้ยจะสูง แต่คำว่า ด้อยสิทธิ ก็มีความหมายที่ตรงตัว !!

หุ้นกู้ด้อยสิทธินั้นจะเป็นหุ้นกู้ที่มีอัตราผลตอบแทนสูง แต่เมื่อตัดสินใจซื้อแล้วต้องเผื่อใจกับคำว่า ด้อยสิทธิ เพราะ... สมมุติว่าเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ ตามกฎหมายแล้วหากธนาคารมีปัญหา เช่น เกิดล้มละลาย ทรัพย์สินที่ยังมีอยู่ก็จะต้องถูกให้ความสำคัญกับการใช้ชำระหนี้กับผู้ฝากเงินก่อน

หรือหากเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิของบริษัท สมมุติว่าบริษัทมีหนี้ธนาคาร 20 ล้าน หนี้หุ้นกู้ 20 ล้าน หากบริษัทเกิดปัญหาล้มละลาย และมีเงินเหลืออยู่ 30 ล้าน บริษัทจะจ่ายหนี้ธนาคาร 20 ล้านก่อน ที่เหลือเท่าไหร่จึงจะจ่ายหนี้หุ้นกู้แค่เท่านั้น หรือถ้าบริษัทเหลือเงิน 20 ล้านก็จ่ายหนี้ธนาคารอย่างเดียว ผู้ที่ถือหุ้นกู้ก็จะไม่ได้รับการคืนเงิน

ดังนั้น ผู้ที่คิดจะซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิจึงต้องศึกษาข้อมูลให้ดี

กับเรื่องของหุ้นกู้นี้ ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความรู้ความเข้าใจว่า... คือการลงทุนทางการเงินประเภทหนึ่ง คล้าย ๆ กับการซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือการลงทุนในกองทุนตราสารเงิน โดยหุ้นกู้ส่วนใหญ่จะออกโดยบริษัทเอกชน เพื่อต้องการนำเงินไปขยายกิจการ ขยายกำลังการผลิต ซึ่งการนำเงินไปใช้อะไรจะชี้แจงอยู่ในหนังสือชี้ชวน โดยที่ อัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้จะสูงกว่าดอกเบี้ยการฝากเงินธนาคารเพื่อจูงใจให้เจ้าของเงินนำเงินมาซื้อหุ้นกู้ ส่วนระยะเวลาของหุ้นกู้ ก็เช่น 3 ปี 7 ปี หรือ 15 ปี เป็นต้น

หุ้นกู้นี้ถือว่าเป็นแบบ วิน-วิน ทั้งสองฝ่าย ระหว่างบริษัทผู้ออกหุ้นกู้และผู้ซื้อหุ้นกู้ ผู้ออกหุ้นกู้จะสามารถระดมเงินมาขยายกิจการในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยกู้ธนาคาร ขณะผู้ซื้อหุ้นกู้ก็ได้ดอกเบี้ยที่สูงกว่า การออมเงินในธนาคาร ส่วนธนาคารนั้นเมื่อเจอสภาพนี้ก็อาจต้องออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มาแข่งขันเพื่อรักษาสภาพคล่องของตัวเองไว้ หรือเป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้นกู้ ซึ่งก็จะได้รับรายได้จากค่าธรรมเนียมในการขายหุ้นกู้

อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้ที่ออกมานั้นจะต้องผ่านการประเมินจากบริษัทที่ประเมินหลักทรัพย์เสียก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทต่างชาติ ซึ่งก็จะมีเรตความน่าเชื่อถือ อาทิ เอเอเอ (AAA), เอเอ (AA), เอ (A) จำนวนตัวเอที่มาก ก็หมายถึงมีความน่าเชื่อถือมาก ...ดร.ภูษิตบอกจุดพิจารณาเรตความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้

พร้อมทั้งระบุอีกว่า... ในช่วงเวลานี้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารต่ำเหลือใจ จนเป็นปัญหาต่อผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ทางอื่นนอกจากดอกเบี้ยจากเงินออมในธนาคาร ซึ่งจะสังเกตได้ว่าพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งที่รัฐบาลออกมาขายนั้นจะให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุ และก็ได้รับความสนใจอย่างสูงจากผู้สูงอายุ จนขายหมดเกลี้ยงภายในระยะเวลาไม่นาน นี่สะท้อนชัดเจนว่าคนกำลังต้องการหาที่ออมเงินที่มีผลตอบแทนสูงกว่าฝากเงินในธนาคารทั้งในรูปแบบฝากประจำหรือออมทรัพย์ ดังนั้น ช่วงนี้บริษัทเอกชนจึงทยอยออกหุ้นกู้เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นบริษัทก่อสร้าง บริษัทน้ำมัน ฯลฯ หรือแม้แต่ธนาคาร ซึ่งด้านหนึ่งก็ถือว่าเป็นอีกทางเลือกของผู้ออมเงินในยุคดอกเบี้ยต่ำ

แต่การลงทุนในตราสารหนี้ทุกประเภท รวมถึงหุ้นกู้ ล้วนมีความเสี่ยงหมด ยกเว้นพันธบัตรรัฐบาล ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือแทบไม่มีเลย ดังนั้น ผู้ที่ต้องการซื้อคงต้องศึกษาดี ๆ ศึกษาทั้งในหนังสือชี้ชวน ศึกษาทั้งบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ลักษณะของหุ้น ผลตอบแทน รวมไปถึงเงื่อนไขต่าง ๆ และที่สำคัญต้องดูตัวเองด้วยว่าเงินที่จะนำไปซื้อนั้น เป็นเงินเย็นหรือไม่ เพราะเป็นการลงทุนที่มีระยะเวลา เพราะฉะนั้นต้องคำนวณให้ดี และที่สำคัญไม่ควรซื้อหุ้นกู้ชนิดเดียวแบบหมดหน้าตัก ควรจะแบ่งการลงทุนเป็นส่วน ๆ และผลตอบแทนของหุ้นกู้นั้นก็ต้องเสียภาษี 15% ด้วย เพราะถือเป็นรายได้ ...ดร.ภูษิตกล่าว

นี่ก็เป็นข้อมูลคร่าว ๆ แบบเข้าใจง่าย ๆ เรื่อง หุ้นกู้

ณ ที่นี้ก็มิใช่จะชี้ว่ามันไม่ดีหรือมีการหลอกลวงอะไร

เพียงแต่ว่า คิดจะลงทุนซื้อหุ้นกู้...ต้องรู้จริง !!.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook