แบงก์เมินห้ามหักหนี้ในบัญชีเงินฝาก ชี้ต้องรักษาวินัยลูกหนี้ดี/สคบ.อ้างข้อร้องเรียน6เดือน ผู้บริโภคโอ

แบงก์เมินห้ามหักหนี้ในบัญชีเงินฝาก ชี้ต้องรักษาวินัยลูกหนี้ดี/สคบ.อ้างข้อร้องเรียน6เดือน ผู้บริโภคโอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้ให้บริการบัตรเครดิตเมินข้อเรียกร้องสคบ. ไม่ให้หักกลบลบหนี้บัตรเครดิตจากบัญชีเงินฝากของลูกหนี้ อ้างไม่เป็นธรรมต่อลูกค้าที่รักษาวินัยการเงินและต้องรักษาประโยชน์ของแบงก์ เคแบงก์เผยอะลุ้มอล่วยให้ลูกหนี้บัตรเครดิตมาแล้ว 5 เดือน โดยก.ย.นี้เตรียมกลับมาใช้วิธีหักกลบลบหนี้อีก ด้านสคบ.เดินหน้าเจรจาธปท. ยกข้อร้องเรียนเกี่ยวกับบัตรเครดิต 6 เดือนแรก 113 เรื่อง

ต่อกรณีลูกหนี้บัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งค้างชำระหนี้กับธนาคาร และถูกผลกระทบจากการที่ธนาคารใช้วิธีการหักกลบลบหนี้ดังกล่าวจากบัญชีเงินฝากของลูกค้ารายดังกล่าวที่มีอยู่กับสถาบันการเงินเดียวกับที่เป็นผู้ออกบัตรเครดิต ก่อนที่จะมีการฟ้องดำเนินคดี ซึ่งล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ได้ขอความร่วมมือผ่านไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินไม่ให้หักเงินจากบัญชีเงินฝากกรณีที่ยังไม่ผ่านกระบวนการดำเนินคดีนั้น

นายพิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ ว่า 6 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2552) สถิติร้องเรียนของผู้บริโภคที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับธนาคารและสถาบันการเงินมี 212 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องบัตรเครดิต 113 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการหักเงินจากบัญชีเงินฝาก รองลงมาเรื่องค่าธรรมเนียมปรับที่สูง รวมถึงบัตรสูญหายแต่ยังมียอดการใช้บัตร ขณะเดียวกันผู้ร้องยอมรับไม่มีสภาพจะชำระคืนหนี้ได้ เช่น ตกงาน เป็นโรคร้าย ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม สคบ.ยังเดินหน้าประสานความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)และหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องหักกลบลบหนี้จากบัญชีเงินฝากนั้น ได้ส่งเรื่องไปยังธปท.เพื่อหารือว่าจะสามารถออกประกาศควบคุมหรือมาตรการแนวทางอื่นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร หลังจากเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตัวแทนธปท.ได้ให้ความเห็นเรื่องการหักเงินจากบัญชีเงินฝากว่าถ้าลูกค้าเซ็นยินยอมให้สถาบันการเงิน ผู้ออกบัตรหรือธนาคารหักเงินจากบัญชีได้ตั้งแต่กรอกใบสมัคร ก็ต้องถือว่าประเด็นดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินเจ้าของบัตรสามารถหักเงินจากบัญชีเงินฝากได้ แต่กรณีหักเงินในบัญชีที่ไม่ยินยอมน่าจะไม่เป็นธรรม

นายสุขดี จงมั่นคง กรรมการผู้จัดการ บริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยาฯ ในฐานะประธานชมรมบัตรเครดิต กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อจากสคบ. ในประเด็นดังกล่าว ถ้ามีการประสานความร่วมมือมาคงต้องดูหารือกันในภาพรวมทั้งผู้ถือหุ้นและสถาบันการเงิน เพราะบริษัททำหน้าที่เป็นตัวกลางดำเนินการแทน ในแง่ของธุรกิจสถาบันการเงินรับเงินฝากมาเพื่อนำไปปล่อยกู้หารายได้ หากปฏิบัติตามที่สคบ.ประสานมาก็อาจทำให้ผู้ถือหุ้นเสียประโยชน์

ถ้าต้องเดินตามที่สคบ.ขอ ก็เท่ากับเสริมคนที่ไม่มีวินัยในทางอ้อม เท่ากับเราไม่รักษาผลประโยชน์สถาบันการเงินของเราที่มีต้นทุนเงินฝากต้องบริหารและผู้ถือหุ้นเสียประโยชน์ และยังมีกลุ่มที่ได้รับความเสียหายจากการที่รักษาวินัย นายสุขดีกล่าว

นายเชิด สรรพนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า การหักบัญชีเงินฝากนั้นเป็นข้อตกลงที่ได้มีการเจรจาระหว่างผู้ออกบัตรและลูกค้าผู้ถือบัตร กรณีหักบัญชีชำระค่างวดเพื่อความสะดวก หรือกรณีบัตรเครดิตค้างชำระที่มีบัญชีเงินฝากค้ำประกัน เช่น เมื่อลูกค้าค้างชำระ 3 งวดหรือ 90 วันก็จะมีฐานะเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอลธนาคารหรือสถาบันการเงินผู้ออกบัตรจะหักเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าว ซึ่งเป็นการหักกลบลบหนี้ตามข้อตกลงโดยรวมเงินต้นและดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน สถาบันผู้ออกบัตรหรือธนาคารต้องมีกฎระเบียบเพื่อให้ทุกคนยึดปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ดังนั้น หากไม่ให้หักบัญชีเงินฝากหรือไม่มีหนังสือยินยอมให้ตรวจสอบฐานะจากเครดิตบูโร ถ้าลูกค้าไม่เซ็นยินยอมในใบสมัคร ทางธนาคารหรือสถาบันผู้ออกบัตรจะไม่พิจารณาอนุมัติตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะสถาบันผู้ออกบัตรจะดูเจตนาของผู้สมัคร หากประสงค์จะใช้บัตรเครดิตโดยไม่มีรายได้เป็นรายเดือน หรืออาชีพไม่แน่นอน เช่น แม่บ้าน ผู้สมัครจะต้องนำบัญชีเงินฝากประจำค้ำประกันวงเงินที่จะได้รับอนุมัติ โดยบัญชีเงินฝากประจำมีวงเงินจำนวน 5 แสนบาทจะได้รับอนุมัติวงเงินบัตรเครดิต 50%หรือ 2.5 แสนบาทถ้ามีมากกว่า 5 แสนบาทก็อาจได้รับวงเงินบัตรเครดิต 5 แสนบาท

นางสาวอัญชลี จรัสยศวุฒิชัย ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาดบัตรเครดิต ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า แม้จะมีกฎหมายบังคับเรียกคืนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำได้ แต่ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยก็อะลุ้มอล่วยมาโดยตลอด โดยตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ได้หยุดหักเงินจากบัญชีประมาณ 5 เดือน หลังจากที่ตั้งแต่ปลายปี 2551 ได้ดำเนินการหักบัญชีกับลูกหนี้เอ็นพีแอลที่ค้างชำระ 90 วัน โดยหักจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มีวงเงินเกิน 500 บาท

ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มหักบัญชีอีกในเดือนกันยายนนี้ โดยส่วนตัวมองว่า การยกเว้นการหักเงินจากบัญชีกรณีลูกหนี้ค้างชำระก็ไม่อาจระบุได้ถึงความเป็นธรรม เพราะขณะเดียวกันยังมีลูกค้าอีกกลุ่มที่รักษาวินัยต่อเนื่อง ในฐานะคนกลางจึงต้องมองทั้ง 2 ด้านเพื่อรักษาวินัยการเงินและเครดิต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook