ผู้เชี่ยวชาญเตือน “ปัญหาสุขภาพจิต” อาจเป็น “คลื่นลูกต่อไป” ของ COVID-19

ผู้เชี่ยวชาญเตือน “ปัญหาสุขภาพจิต” อาจเป็น “คลื่นลูกต่อไป” ของ COVID-19

ผู้เชี่ยวชาญเตือน “ปัญหาสุขภาพจิต” อาจเป็น “คลื่นลูกต่อไป” ของ COVID-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักระบาดวิทยาเปิดเผยว่า การแยกตัวออกจากสังคมอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพจิต จากการที่ประชาชนต้องเผชิญกับชีวิตภายใต้มาตรการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 เป็นเวลานานหลายเดือน

ซานโดร กาเลีย คณบดีวิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยบอสตัน ระบุว่า การแยกตัวออกจากสังคม รวมทั้งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับระยะเวลาของมาตรการ และปลายทางของโรคระบาดใหญ่ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลที่เพิ่มมากขึ้น

“มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมอย่างที่สุด เราจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์ทั้งทางร่างกายและทางสังคมกับผู้อื่น” กาเลียกล่าว

กาเลีย ผู้ซึ่งเคยศึกษาเกี่ยวกับการกักตัวในช่วงการระบาดของโรคซาร์สในโตรอนโต ระบุว่า การแยกตัวออจากสังคมสามารถก่อให้เกิดปัญหาทางจิต เช่น ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า และยังกระตุ้นให้มีการเสพยาเสพติดและบริโภคแอลกอฮอล์มากขึ้น รวมทั้งโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD)

นอกจากนี้ ผู้ที่เคยมีประวัติเกี่ยวกับอาการทางจิตยังเป็นกลุ่มเสี่ยงในกรณีนี้ ซึ่งไรอัน ฟิลลิปส์ อดีตนักกีฬาฮ็อกกี ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ (bipolar disorder) ระบุว่า เขาสังเกตว่าสถานการณ์โรคระบาดนี้ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเขา

“กิจวัตรประจำวันของผมทั้งหมดถูกโยนทิ้งไปหมด จากการที่ต้องแยกตัวในสถานการณ์นี้ มันเหมือนกับว่า COVID-19 กำลังเล่นกับจิตใจของคนนับล้านทั่วโลก”

ฟิลลิปส์กล่าวว่า ในสถานการณ์นี้ ทุกคนไม่รู้อะไรเลย ความไม่แน่นอนนี้ก่อให้เกิดความวิตกกังวล และทุกคนก็ต้องเตรียมตัวรับการแยกตัวออกจากสังคมหรือเว้นระยะห่างทางสังคม

กาเลียกล่าวว่า ผู้ที่มีประวัติมีอาการทางจิตและคนชายขอบกลุ่มอื่นๆ จะมีความเสี่ยงที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียด ที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด อย่างการตกงาน การดูแลเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และการดูแลพ่อแม่ ก็สามารถทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความเสี่ยงเช่นกัน

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันคนเหล่านี้ไม่ให้มีความเสี่ยง คือการให้ความรู้

“ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่เราจะตระหนักได้ว่า ปัญหาด้านสุขภาพจิตอาจจะเป็นคลื่นลูกที่สองของโรคระบาด และเราจำเป็นต้องหยุดตีตราผู้ที่มีอาการทางจิต”

ขณะเดียวกัน กาเลียก็แนะนำว่า ไม่ควรเว้นระยะห่างทางสังคม แม้ว่ามาตรการจะระบุให้เว้นระยะห่างทางร่างกายก็ตาม ส่วนฟิลลิปส์นั้นระบุว่า ให้ทุกคนโฟกัสที่ช่วงเวลา ณ ปัจจุบัน และการติดต่อกับคนอื่นๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่เป็นประโยชน์

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook