“COVID-19” เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของเหล่านักวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร

“COVID-19” เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของเหล่านักวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร

“COVID-19” เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของเหล่านักวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในขณะที่ผู้นำประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนต่างมองว่าการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาเป็นวาระแห่งชาติ และนักวิทยาศาสตร์จะต้องแข่งขันกันเพื่อให้เป็นที่หนึ่งในการยุติการระบาด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไวรัสโคโรนากลับจุดประกายความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก จนอาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์โลก ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกวางงานส่วนตัวลง แล้วหันมาสนใจในสิ่งเดียวกันและในเวลาเดียวกัน นั่นคือการศึกษาวิจัยเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนา

ในขณะที่เหล่าผู้นำปิดพรมแดน นักวิทยาศาสตร์กลับทำลายพรมแดนระหว่างกัน และสร้างความร่วมมือในระดับสากลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตั้งแต่การแบ่งปันลำดับพันธุกรรมไวรัสซึ่งกันและกัน นำไปสู่การทดสอบทางคลินิกกว่า 200 ครั้ง จากความร่วมมือของโรงพยาบาลและห้องทดลองทั่วโลก

“ผมไม่เคยได้ยินว่านักวิทยาศาสตร์ ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงและมีคุณภาพ พูดในมุมของเชื้อชาติ” ดร.ฟรานเชสโก เพอร์โรน ผู้นำการทดสอบทางคลินิกในอิตาลี “ชาติของผม ชาติของคุณ ภาษาของผม ภาษาของคุณ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของผม ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของคุณ พวกนี้เป็นเรื่องที่ห่างไกลจากเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงทั้งสิ้น”

เมื่อไม่นานนี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์กค้นพบว่าตัวเฟอร์เร็ตที่ติดเชื้อ COVID-19 มีไข้สูง ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญในการทดสอบวัคซีนในสัตว์ ซึ่งภายใต้สถานการณ์ปกติ นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้จะเริ่มตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการมากกว่า

“มีเวลาอีกมากมายในการตีพิมพ์งานวิจัย” พอล ดูเพร็กซ์ นักวิทยาไวรัส หัวหน้าทีมวิจัยวัคซีนของมหาวิทยาลัยกล่าว ภายใน 2 ชม. เขาได้แชร์การค้นพบนี้กับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ทั่วโลก ผ่านการแถลงข่าวขององค์การอนามัยโลก

ห้องทดลองของ ดร.ดูเพร็กซ์ ที่พิตส์เบิร์ก ร่วมมือกับสถาบันปาสเตอร์ในปารีส และ Themis Bioscience บริษัทยาของออสเตรีย กลุ่มหุ้นส่วนนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรพันธมิตรเพื่อนวัตกรรมในการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovation) ซึ่งเป็นองค์กรในประเทศนอร์เวย์ ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิ Bill and Melinda Gates และรัฐบาลต่างๆ รวมทั้งยังอยู่ในระหว่างพูดคุยกับสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย หนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดของโลก

นอกจากนี้ Inserm ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านสาธารณสุขของฝรั่งเศสก็เป็นสปอนเซอร์ให้กับการทดสอบทางคลินิกของตัวยา 4 ชนิด ที่อาจจะช่วยรักษาโรค COVID-19 ได้ ซึ่งการทดสอบนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ และมีแผนจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในเร็ววัน

การตอบสนองต่อไวรัสโคโรนาในหมู่แพทย์ก็เริ่มแพร่หลายไปในระดับนานาชาติเช่นกัน อย่างในโรงพยาบาลกลางในแมสซาชูเซ็ตส์ ทีมแพทย์ของฮาร์วาร์ดกำลังทดสอบประสิทธิภาพของการพ่นไนตริกออกไซด์ในผู้ป่วยโรค COVID-19 งานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือของโรงพยาบาลสีจิ้ง ในประเทศจีน และโรงพยาบาลอีก 2 แห่งในอิตาลี ซึ่งแพทย์จากสถาบันนี้ก็เคยร่วมงานกันมาแล้วเป็นเวลาหลายปี

การที่ไวรัสโคโรนาจุดประกายครั้งใหญ่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับโรคระบาด หรือปริศนาทางการแพทย์ใดๆ นั้น ก็สะท้อนให้เห็นถึงการระบาดใหญ่ในวงกว้าง และทำให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า พื้นที่การระบาดนั้นไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านอันแร้นแค้นในประเทศกำลังพัฒนา แต่มันเกิดขึ้นในบ้านเกิดของพวกเขาเอง

นักวิทยาศาสตร์หลายคนกล่าวว่า การเปรียบเทียบที่ใกล้เคียงที่สุดในขณะนี้อาจจะเป็นอัตราการระบาดของโรคเอดส์ในช่วงทศวรรษ 1990s เมื่อนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ต่างผนึกกำลังกันเพื่อสู้กับโรค แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันและความเร็วในการแบ่งปันข้อมูลได้ล้ำหน้ากว่าเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน

ดร.ไรอัน แครอล ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์จากฮาร์วาร์ด ที่เป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา กล่าวว่า โรคระบาดใหญ่ยังกัดกร่อนความลับที่ปกคลุมอยู่ในโลกของการวิจัยเชิงวิชาการด้านการแพทย์ การวิจัยครั้งใหญ่ที่เป็นส่วนตัวสามารถนำไปสู่การสนับสนุนด้านการเงิน การเลื่อนตำแหน่ง และความมั่นคงในหน้าที่การงาน ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงมักจะทำงานอย่างลับๆ เช่น เก็บข้อมูลจากคู่แข่งที่มีศักยภาพ เป็นต้น

“ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยวางเรื่องความก้าวหน้าทางวิชาการส่วนตัว เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากความต้องการที่จะมีชีวิตรอด” เขากล่าว

การเปิดใจเล็กๆ เห็นได้จากการที่เซิร์ฟเวอร์ของ medRxiv และ bioRxiv หอจดหมายเหตุออนไลน์ที่แบ่งปันข้อมูลทางวิชาการก่อนที่จะทบทวนและตีพิมพ์ลงในวารสาร ข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาทั่วโลกต่างก็หลั่งไหลเข้ามาในหอจดหมายเหตุออนไลน์ทั้งสองนี้ และแม้ว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะสร้างแนวคิดเกี่ยวกับชาตินิยมเอาไว้ แต่นักวิจัยชาวจีนต่างก็แบ่งปันข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาในหอจดหมายเหตุออนไลน์เหล่านี้เช่นกัน

ในขณะที่มีกระแสข่าวว่าทางการจีนปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับการระบาด แต่นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนกลับพยายามเปิดเผยเรื่องการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสู่โลกภายนอก เช่น การเปิดเผยพันธุกรรมไวรัสเมื่อเดือนมกราคม ซึ่งนำไปสู่การทดสอบพื้นฐานทั่วโลก

แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้อยู่ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อยังเข้าร่วมกระบวนการนี้ด้วย ดร.เพอร์โรน ที่ดูแลการทดสอบทางคลินิกของยากดภูมิคุ้มกันโทซิลิซูแมบ ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง แต่เขาได้เข้าร่วมในประเด็นนี้เนื่องจากเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการทดสอบทางคลินิกที่สถาบันโรคมะเร็งแห่งชาติ ในเมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี

ดร.เพอร์โรนระบุว่า การระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาจะทำให้วิทยาศาสตร์การแพทย์มีความว่องไวมากขึ้นหลังจากที่สถานการณ์ฉุกเฉินได้ผ่านไปแล้ว เขากล่าวว่า “นี่จะเป็นบทเรียนสำหรับอนาคต”

“แน่นอนว่าคนเราย่อมมีการแข่งขัน นี่เป็นเงื่อนไขของมนุษย์” ดร.ยาซดาน ยาซดานพานาห์ ผู้อำนวยการของ Inserm ในฝรั่งเศสกล่าว “สิ่งสำคัญก็คือ วิธีการเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายในการหาทางออกให้กับทุกคนก็คือการร่วมมือกัน”

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook