ดีเดย์ขายพันธบัตร 13-14ก.ค.เตรียมตัว

ดีเดย์ขายพันธบัตร 13-14ก.ค.เตรียมตัว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คอลัมน์ รายงานพิเศษ

หลังจากพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เป็นการเร่งด่วน 4 แสนล้านบาท ผ่านสภาผู้แทนราษฎรเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

กระทรวงการคลังเริ่มเดินหน้ากู้เงินตามแผนที่วางไว้

โดยการกู้เงินล็อตแรกเป็นการระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง อายุ 5 ปี วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท

นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ให้รายละเอียดว่า ขณะนี้ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์แล้ว ทั้งหมดเฉลี่ย 5 ปีอยู่ที่ 4% จากเดิมที่เฉลี่ย 3.8% เพื่อสร้างแรงจูงใจ โดย 2 ปีแรก จะจ่ายดอกเบี้ย 3% ปีที่ 3 จ่าย 4% และ 2 ปีสุดท้าย จ่าย 5%

ส่วนการขายพันธบัตรมี 3 ช่วงคือ ช่วงแรก ระหว่างวันที่ 13-14 ก.ค.นี้ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เปิดขายสำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สามารถซื้อได้ขั้นต่ำตั้งแต่ 1 หมื่นบาทถึง 1 ล้านบาท

ช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 15-16 ก.ค. สำหรับผู้สูงอายุและผู้มีสิทธิ์อื่นๆ เช่น องค์กรการกุศลหรือมูลนิธิและประชาชนทั่วไป วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท สามารถซื้อได้ขั้นต่ำตั้งแต่ 1 หมื่นบาทถึง 1 ล้านบาท

ช่วงที่ 3 เปิดขายวันที่ 17 ก.ค. และระหว่างวันที่ 20-21 ก.ค. วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ขายให้กับประชาชนทั่วไปที่สนใจกำหนดวงเงินขั้นต่ำที่ 1 หมื่นบาท แต่ไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง

คาดว่าพันธบัตรที่ออกมานี้ จะไม่มีผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดมากนัก เพราะขณะนี้ธนาคารต่างมีสภาพคล่องล้น ขณะที่กลุ่มผู้ซื้อเป็นกลุ่มประชาชนทั่วไป ไม่ใช่สถาบันการเงินแต่อย่างใด นายจักรกฤศฎิ์ กล่าว

และเพื่อให้ประชาชนซื้อได้อย่างทั่วถึง จึงได้กระจายให้ธนาคาร 7 แห่งเป็นตัวแทนจำหน่าย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

โดยในวันที่ 26 มิ.ย. นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง จะเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความตกลงว่าด้วยการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ในปีงบประมาณ 52 ร่วมกับธนาคารดังกล่าว

ขณะเดียวกัน นายกรณ์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ได้ข้อสรุปแผนการก่อหนี้ปีงบ ประมาณ 52 ใหม่ ปรับลดลงจากเดิม 1.396 ล้านล้านบาท เป็น 1.375 ล้านล้านบาท

เนื่องจากแม้ภาครัฐจะกู้เงินเพื่อใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น แต่การกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อลงทุนได้ปรับลดลง จึงจำเป็นใช้เงินกู้น้อยลง ซึ่งข้อสรุปนี้จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 30 มิ.ย.นี้

แผนก่อหนี้ดังกล่าวเป็นการกู้เงินใหม่กว่า 9.5 แสนล้านบาท ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์ จากเดิมที่กู้ 8 แสนล้านบาท โดยรวมแผนการกู้ยืมเงินในไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 52 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทไว้แล้ว

ส่วนในปีงบประมาณ 53 น่าจะมีเพดานการก่อหนี้ในระดับใกล้เคียงกัน เนื่องจากมีส่วนของการกู้ขาดดุล 3.5 แสนล้านบาท รวมกับการกู้เงินตามพ.ร.ก.กู้เงินอีก 2 แสนล้านบาท กู้เพื่อลงทุน 2 แสนล้านบาท และกู้อื่นๆ อีก

การบริหารหนี้ภาครัฐซึ่งมีทั้งการบริหารเงินคงคลัง การกู้เงินตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 การบริหารหนี้รัฐวิสาหกิจ และการออกพันธบัตรขายให้ประชาชน ต้องดูแลให้เหมาะสม

รวมทั้งให้สบน.เตรียมพร้อมรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการที่เงินขาดมือ จึงต้องมีพ.ร.ก. และพ.ร.บ.กู้เงิน 8 แสนล้าน บาทเป็นเครื่องมือเพื่อให้การบริหารหนี้มีความยืดหยุ่นได้มากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook