เลือกตั้ง 2562: ขยับหนีทางตันการเมือง โอกาสเกิดตำนานงูเห่า-รัฐบาลแห่งชาติ ยิ่งสูงขึ้น!

เลือกตั้ง 2562: ขยับหนีทางตันการเมือง โอกาสเกิดตำนานงูเห่า-รัฐบาลแห่งชาติ ยิ่งสูงขึ้น!

เลือกตั้ง 2562: ขยับหนีทางตันการเมือง โอกาสเกิดตำนานงูเห่า-รัฐบาลแห่งชาติ ยิ่งสูงขึ้น!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา จนถึงวินาทีนี้ดูเหมือนว่าการจัดตั้งรัฐบาลจากแกนนำ 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และฝ่ายที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ มีโอกาสที่จะเดินหน้าไปสู่ความไม่ราบรื่นนัก

เมื่อวานนี้ (28 มี.ค.) ตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาแถลงตัวเลขภาพรวมของการเลือกตั้งทั้งหมดหลังเจอกระแสกดดันจากสังคมอย่างหนัก โดยสรุปได้ว่า พรรคเพื่อไทยมีจำนวนว่าที่ ส.ส.เขตที่มีคะแนนนำอยู่สูงที่สุด คือ 137 เขต ขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งรวมสูงที่สุด คือ 8,433,137 คะแนน

>> เลือกตั้ง 2562: คาดการณ์จำนวน ส.ส. 500 คน 27 พรรคเข้าสภา! พรรคเล็กเพียบ

>> เลือกตั้ง 2562: กกต.เผยคะแนนทุกพรรค! พลังประชารัฐพุ่ง 8.4 ล้าน

ซึ่งเมื่อนำคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับมาลองคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แล้วนำไปรวมกับ ส.ส.เขตของทุกพรรค ก็พบว่าหากลองไล่เรียงการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลของทั้งสองฟากฝั่งข้างต้นแล้ว จำนวนคะแนนเสียงรวมของทั้งสองฝ่ายออกมาไม่หนีห่างกันซักเท่าไหร่

แน่นอนอย่างหนึ่งว่าใครต่อใครต่างพากันชี้ว่าตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมูญฉบับปี 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาล น่าจะทำให้ฝั่งพรรคพลังประชารัฐที่ตั้งใจสนับสนุน "ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" กลับสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งนั้น มีความได้เปรียบมากกว่าอีกฝั่ง เพราะหลังจาก กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้ไม่น้อยกว่า 95% จากนั้นก็จะมีการเปิดประชุมรัฐสภา แล้วโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา แล้วจึงมาถึงขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ซึ่งบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 60 ระบุไว้ว่า ในช่วง 5 ปีแรกนับตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คน หรือต้องใช้เสียงสมาชิกจากทั้งสองสภาตั้งแต่ 376 เสียงขึ้นไปในการโหวตสนับสนุนบุคคลใดก็ตามเป็นนายกรัฐมนตรี

และเมื่อเป็นเช่นนี้ เสียงของ ส.ว.ทั้ง 250 คน จึงเป็นหนึ่งตัวแปรที่ทำให้ฝั่งพลังประชารัฐดูจะได้เปรียบ เพราะที่มาในการคัดเลือก ส.ว. สุดท้ายแล้วไม่พ้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการพิจารณารายชื่อ

>> นักวิชาการดังหวั่น การเมืองหลังเลือกตั้งอาจเจอทางตัน ชี้ตัวแปรคือจำนวนเสียง พปชร.-ปชป.

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แม้พรรคพลังประชารัฐจะสามารถรวบรวมเสียงข้างมากจากพรรคต่างๆ ในสภาผู้แทนราษฎร แล้วมีเสียงจาก 250 ส.ว. มาโหวตสนับสนุนนายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่หลังจากนั้นเมื่อต้องบริหารราชการแผ่นดิน ประชุมพิจารณากฎหมายฉบับต่างๆ ในสภาผู้แทนฯ น่าจะต้องประสบกับอุปสรรคและความไม่ราบรื่นอย่างแน่นอน อันเนื่องมาจากสภาวะที่มีเสียงสนับสนุนแบบปริ่มน้ำอยู่ในเวลานี้

>> เลือกตั้ง 2562: สูตรตั้งรัฐบาล ลุุงตู่ VS เพื่อไทย ฝั่งหนึ่งสบาย อีกฝ่ายหืดจับ!

ขณะที่อีกฟากฝั่งหนึ่งที่นำโดยเพื่อไทย ก็รู้ดีว่าแม้จะรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองต่างๆ จนมีโอกาสได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็น่าจะไปเจอกำแพงหนาเตอะหรือก้างชิ้นโตอยู่ที่ ส.ว. 250 เสียง จนบรรดาแกนนำฝ่ายนี้ไม่ว่าจะทั้งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ต่างออกมาเรียกร้องหลายครั้งหลายหนว่าขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนมาร่วมกันหยุดการสืบทอดอำนาจ หรือแปลไทยเป็นไทยก็คือ ให้ทุกพรรคมาจับมือกันรวมเสียงให้ได้ 376 เสียงขึ้นไป เพื่อเป็นการบล็อกเสียงของ ส.ว.ทั้ง 250 คนไม่ให้มีความหมาย

แน่นอนว่าเมื่อสถานการณ์เดินมาอยู่ในจุดนี้ ทางออกหรือวิธีแก้ปัญหาจากสภาพการณ์ที่อาจจะส่อเค้าให้เกิดปัญหาในอนาคตแบบที่ว่ามาก็คือ แกนนำทั้งเพื่อไทยและพลังประชารัฐ ต้องเดินสายเจรจาต่อรองพูดคุยกับพรรคที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกฝั่ง (หรือใช้คำให้เข้าใจง่ายๆ ก็คงคำว่า "กั๊ก") รวมทั้งว่าที่ ส.ส.ต่างขั้ว เพื่อให้หันมาสนับสนุนฝั่งตนเอง

ซึ่งการชักชวนหว่านล้อมบรรดา (ว่าที่) ผู้แทนราษฎรจากต่างขั้วต่างค่ายนี่แหละ ที่หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นตำนานงูเห่าการเมืองอีกครั้งของการเมืองไทย หลังจากเคยเกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง โดยตำนานงูเห่าครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2540 หลังจากที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลางสภาฯ หลังจากนั้นก็มีการเดินเกมชิงไหวชิงพริบกันจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี ชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค โดยเวลานั้นมี 196 เสียง กับพรรคชาติพัฒนาที่มี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าพรรค โดยพรรคเสรีธรรมและพรรคกิจสังคมที่ร่วมรัฐบาลอยู่นั้น ได้โยกมาอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส. 12 คน จากพรรคประชากรไทยมาร่วมด้วย ทำให้พรรคประชาธิปัตย์มี 208 เสียง ได้เป็นรัฐบาลสมใจ

ตำนานงูเห่าการเมืองไทยอีกครั้งเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2551 กับพรรคของ ทักษิณ ชินวัตร หลังจากที่พรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค และกลายพันธุ์มาเป็นพรรคเพื่อไทย เนวิน ชิดชอบ อดีตมือขวาของทักษิณ ได้ดึงกลุ่ม ส.ส.พรรคพลังประชาชน จำนวน 23 คน ไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย และเทเสียงโหวตสนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกฯ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมาพร้อมวลีอันลือลั่นทั่วปฐพีว่า "จบแล้วครับนาย" 

แต่ใช่ว่า "งูเห่าการเมือง" จะเป็นเพียงทางออกเดียวของการหลีกเลี่ยงเดดล็อกหรือทางตันการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เพราะในแวดวงนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ รวมทั้งผู้สันทัดกรณีหลายต่อหลายคนต่างมีความเชื่ออีกหนึ่งอย่างว่า การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น

สืบเนื่องจากปัญหาเสียงสนับสนุนปริ่มน้ำของทั้งสองฝั่งและการโหวตเลือกนายกฯ ที่ 250 ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วม ทำให้เกิดแนวความคิดหนึ่งว่าถึงที่สุดหากเวลาเดินไปเรื่อยๆ แล้วนักการเมืองยังไม่สามารถหาข้อยุติหรือตกลงกันได้ลงตัว อาจจะถึงเวลาที่ต้องมีรัฐบาลแห่งชาติไปจนถึงนายกฯ "คนนอก" หรือ "คนกลาง" เพื่อเข้ามาประคับประคองบ้านเมืองให้เดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ยังไม่ง่ายดายนักในทางปฏิบัติจริง เพราะต่างก็รู้กันดีว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคในเวทีการเมืองปัจจุบันต่างมีวาระของตัวเอง จนทำให้การพูดคุยเจรจาอาจเป็นไปได้ยาก แบบที่เราก็เห็นกันในข่าวมาโดยตลอดว่า พรรคนั้นจะไม่ร่วมกับพรรคนี้ พรรคนี้ไม่ยอมรับชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคนั้น นี่ยังไม่นับว่าคงมีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยที่ต่อต้านแนวคิดนี้ โดยให้เหตุผลว่าผิดกับหลักการประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่ต้องมีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน

ก็ไม่รู้ว่าถ้ายอมเอาวาระของแต่ละพรรควางลง แล้วแสวงหาฉันทามติร่วมกันในเรื่องที่จำเป็นต้องหาทางออก เช่น การแก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จะทำให้ทุกพรรคหันหน้าเข้าหากันแล้วหาทางออกที่นำพาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ 

เพราะต้องอย่าลืมว่าการเป็นผู้แทนราษฎรนั้น ประชาชนที่เลือกพวกท่านเข้ามาต่างหวังพึ่งพาให้แก้ไขปัญหาของท้องถิ่น ของชุมชน ของจังหวัด ของภาค และของประเทศชาติ มากกว่าจะให้มาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือวิกฤติแบบที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook