จากเบื้องหลังสู่เบื้องหน้า Carry Melons วงดนตรีของเหล่าเด็กหลังเวทีที่มีความฝัน
คนที่รักดนตรีทุกคน ย่อมอยากมีวงดนตรีเป็นของตัวเอง...
เราว่าความคิดนี้น่าจะเป็นเรื่องจริงที่อยู่ในใจของคนที่รักในเสียงดนตรีหลายๆ คน ไม่ว่าจะอยากเป็นนักร้องนำ นักดนตรี นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ ดีเจ แดนเซอร์ นักข่าวสายดนตรี (เหมือนเรา) หรือแม้กระทั่งเป็นเด็กจูนกีตาร์ ดูแล ทดสอบ และเตรียมเครื่องดนตรีบนเวทีให้กับศิลปินชื่อดัง และเป็นไอดอลของแฟนเพลงทั้งประเทศ เรียกว่าทำอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับดนตรี แม้จะมีส่วนเกี่ยวข้องแค่เล็กน้อยก็ยังดี
3 หนุ่ม โจ้-รพีพัตน์ เทียมวัน (ร้องนำ), ป้อม-ปภังกร อัมรักษ์ (เบส) และ แบงค์-วิสุทธิ์ อัครปราการ (กลอง) ก็เป็นหนุ่มๆ ที่ได้มองได้เห็นการแสดงคอนเสิร์ตของนักดนตรีระดับประเทศอย่าง Bodyslam มานับครั้งไม่ถ้วน จากการเป็นช่างเทคนิค หรือเทคนิเชียนดูแล และเตรียมเครื่องดนตรีต่างๆ ให้กับวง Bodyslam กันมาสักพัก ได้เห็นได้เรียนรู้กระบวนการทำงานของรุ่นพี่ในระยะใกล้ชิด บวกกับความฝันที่อยากจะมีวงดนตรีเป็นของตัวเอง และประจวบเหมาะกับที่ได้เจอกับ ปิ๊ก-เมธี ฟังมังคล (กีตาร์) เทคนิเชียนที่ดูแลเครื่องดนตรีให้กับวง S.D.F. ระหว่างทัวร์คอนเสิร์ต จึงทำให้ทั้ง 4 รวมตัวกันเป็นวงดนตรีที่มีชื่อว่า Carry Melons ชื่อวงที่อยู่ดีๆ ก็โพล่งขึ้นมากลางวง แล้วทุกคนก็ชอบใจกันทันที และเริ่มเดินสายโปรโมตเพลงของตัวเองเหมือนกับวงดนตรีจริงๆ กับเขาบ้าง
____________________
ซิงเกิลแรกในชีวิตของ Carry Melons เพลง “อยู่ไม่ไหว” เพลงป็อปอกหักที่เข้าถึงง่าย แต่ไม่เหมือนใคร
ป้อม : จุดเริ่มต้นมาจากที่พวกเรารวมตัวกันเป็นวงดนตรีจากการเป็นทีมงานเบื้องหลังให้วงดนตรีอื่นมาก่อน พอได้สมาชิกครบวงก็เลยอยากมีเพลงเป็นของตัวเอง โดยมีโจ้ที่อยากจะเป็นนักแต่งเพลง เพลงนี้เลยเริ่มที่โจ้แต่งเพลงนี้ออกมาก่อน เป็นแนวป็อปอกหักที่เล่าเรื่องราวของความรักที่ไม่สมหวังได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุดเท่าที่เพลงเพลงหนึ่งจะเล่าได้ สามารถจับจุดในใจของคนฟัง ส่งความรู้สึกออกมาตรงๆ ไม่อ้อมค้อม และกระแทกอารมณ์นั้นได้อย่างจัง ทั้งจากตัวเพลง และมิวสิควิดีโอ เลยทำให้เพลงนี้แตกต่างจากเพลงรักอกหักเพลงอื่นๆ เพราะเราบอกตรงๆ เลยว่าเสียใจแล้วยังไงต่อ เราคิดยังไงกับตัวเองอยู่ ณ ตอนนั้น แล้วถ้าอยู่ไม่ไหวแล้วเราต้องทำยังไง
โจ้ : จริงๆ แล้วผมไม่เคยแต่งเพลงเลยครับ แต่ผมอยากแต่งเพลงเป็น เลยไปปรึกษาพี่กบ (Big Ass) พี่เขาสอนว่า “แต่งยังไงก็ได้ให้เรารู้สึก” เพราะถ้าเราไม่รู้สึกกับเพลงที่เราแต่ง คนอื่นก็จะไม่รู้สึกกับเราไปด้วย แต่งยังไงก็ได้ให้มันดูจริงที่สุด วันที่ผมแต่งเพลงนี้ ผมไม่แน่ใจว่าเอามาจากชีวิตตัวเอง หรือไปเปิดดูอะไรมา (หัวเราะ) จำไม่ได้เท่าไรเพราะเพลงนี้ผมแต่งเอาไว้นานมากแล้ว แต่จำได้ว่าผมนั่งแต่งอยู่หน้าห้องน้ำที่คอนโด (หัวเราะ) มันเป็นที่ที่เงียบที่สุดในตอนนั้นแล้วน่ะครับ ผมเริ่มแต่งจากท่อนฮุกก่อน เพราะอยากได้ท่อนฮุกที่คนฟังแล้วรู้สึกอิน และมีส่วนร่วมกับเนื้อเพลงให้มากที่สุด เลยได้มาท่อนหนึ่งว่า “ต้องอยู่คนเดียวให้ไหว ต้องอยู่กับความเจ็บช้ำที่เธอได้ทำไว้” มันเป็นความรู้สึกที่คนอกหักทุกคนต้องเจอ จากนั้นค่อยๆ แตกท่อนออกไปเรื่อยๆ ใส่คำ ใส่ประโยคที่ชอบลงไป เช่น “ภาพเก่าๆ ที่มีความหมาย แต่วันนี้กลับมีบางคนหล่นหาย” มันทั้งเล่นคำด้วย และก็เป็นเรื่องจริงที่หลายๆ คนอาจจะเคยเจอด้วย เพลงนี้แก้กลับไปกลับมาหลายรอบอยู่เหมือนกัน ทั้งส่งการบ้านให้พี่กบ พี่กบก็คอมเมนต์กลับมา ทั้งโละเนื้อเพลงท่อนแรกออกไปแล้วแทนด้วยท่อนภาพเก่าๆ เมื่อกี้ รวมไปถึงชื่อเพลงที่ตอนแรกชื่อว่า “อยู่ให้ไหว” เพราะจริงๆ แล้วในเพลงไม่มีคำว่า “อยู่ไม่ไหว” เลย แต่สำหรับคนอกหักจริงๆ ในช่วงแรกเขาจะรู้สึกว่าอยู่ไม่ไหวหรอก มันอยู่ไม่ได้ เลยเปลี่ยนชื่อเพลงให้เข้ากับอารมณ์แรกของคนที่อกหักดีกว่า
ป้อม : ทั้งเนื้อเพลง ทำนอง และคอร์ดของเพลงนี้จะมาจากโจ้ทั้งหมด พอได้มาปิ๊กกับป้อมก็มาช่วยกันเสริมคอร์ด ปรับแต่งเพิ่มเติม โดยมีแบงค์คอยวางริทึ่มกลองในเพลงเพิ่มให้อีกที
ปิ๊ก : คือ 95% ของเพลงมาจากโจ้หมดแล้ว แต่เราเอามาตัดต่อแต่งเติม เปลี่ยนคำ เพิ่มลูกเล่นอีกนิดๆ หน่อยๆ และใส่ดนตรีลงไปให้เพลงมีสีสัน ไม่จืดชืด
ป้อม : ปรับโทนของดนตรีให้มันเศร้าจริงๆ
ทำไมกว่าจะได้ “อยู่ไม่ไหว” เวอร์ชั่นนี้ ถึงได้แก้กลับไปกลับมาอยู่หลายรอบ?
โจ้ : พอเราฟังเพลงของตัวเองบ่อย เหมือนเราจะเริ่มจับจุดได้ว่า “แบบนี้ไม่น่าจะใช่” รู้สึกแปลกๆ เหมือนมันยังไม่ดีพอ
ปิ๊ก : ฟังครั้งแรกเหมือนเราจะอวยตัวเองกันว่าเพลงมันดีแล้ว (หัวเราะ) แต่พอเราฟังกันจนชิน เราก็จะเริ่มรู้ตัวว่ามันยังดีกว่านี้ได้อีก
โจ้ : อย่างตอนหลังมีไลน์เครื่องสายมาเสริม ทำให้อารมณ์ของเพลงมันลึกซึ้งยิ่งขึ้น ก็รู้สึกว่ามันดีกว่าเดิม สุดท้ายก็แก้เพลงนี้ไปมาอยู่ปีหนึ่งได้
ป้อม : บวกกับพวกเราที่มีประสบการณ์ในการเข้าอัดเพลงในสตูดิโอน้อยด้วย ตอนเราทำเราก็อวยตัวเองไปว่ามันดี แต่พอส่งการบ้านไปแล้วโดนตีกลับมา เราก็ต้องกลับมาแก้ใหม่เรื่อยๆ ทั้งเสียงร้อง ดนตรี ความเพี้ยน มิติของเพลง ยิ่งฟังก็ยิ่งเจอข้อผิดพลาดอย่างละนิดอย่างละหน่อย เราก็เลยปรับแก้ไปเรื่อยๆ จะปล่อยผ่านไปคงเสียดาย เลยตัดสินใจรื้อดีกว่า
โจ้ : ทำเพลงทั้งที ก็อยากจะทำมันให้ออกมาดีที่สุด เพราะที่เราแก้เพลงบ่อยในตอนแรก เพราะเรามีประสบการณ์ในห้องอัดน้อยมาก ปกติก็ทำแค่ตั้งเครื่องดนตรี ซาวด์เช็กให้พี่ๆ นักดนตรีคนอื่นๆ เลยไม่คุ้นชินกับการทำอะไรแบบนี้เท่าไร
แต่การเป็นเทคนิเชียนให้ศิลปินชื่อดัง ก็เป็นประสบการณ์ที่ช่วยต่อยอดงานเพลงของตัวเองด้วย?
โจ้ : ใช่ครับ เราได้เห็นอะไรใหม่ๆ เวลาพี่เขาคิด เคยเห็นตอนเขานั่งทำเพลง เห็นว่าเขามีกระบวนการคิดยังไง ทำอะไรยังไงบ้าง จริงๆ ได้เห็นพี่ๆ เข้าห้องอัดด้วย แต่ถ้าเราไม่ได้อยู่ในนั้น เราไม่รู้หรอกว่ามันยากแค่ไหน เคยแม้กระทั่งคิดว่า “อะไรว้า แค่นี้อัดไม่ได้เหรอ พี่ยอดอ่อนว่ะ” (หัวเราะ) (พี่ยอด มือกีตาร์ Bodyslam) พอมาถึงคราวของตัวเองแล้วไปไม่เป็นเลย มันก็เลยทำให้รู้ว่า อย่าเพิ่งไปว่าคนอื่น (หัวเราะ)
เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากการเปลี่ยนบทบาทจากงานเบื้องหลัง มาเป็นงานเบื้องหน้าบ้าง?
ปิ๊ก : ส่วนผมทำให้ได้รู้ถึงระบบจัดการทางดนตรี ว่าทั้งหมดกว่าจะออกมาเป็นเพลงเพลงหนึ่ง มันมีกระบวนการยังไงบ้าง จะลงคอร์ดกีตาร์ต้องผ่านอะไร แล้วเข้าไปสู่ขั้นตอนการมิกซ์ยังไง
ป้อม : สำหรับผมก็ทำให้เรารู้เรื่องเกี่ยวกับระบบต่างๆ แต่สิ่งสำคัญเลยคือเรื่องของ recording ที่มันต้องอาศัยความชำนาญในการทำซ้ำๆ บ่อยๆ ในส่วนนี้เราไม่ได้ทำ พอมาลองทำเองแล้วรู้เลยว่ามันยากกว่าที่คิด ยากมากๆ โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้ที่อุปกรณ์ทำเพลงมันเริ่มเป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น แม้ว่ามันจะดูเหมือนช่วยให้ทำเพลงง่ายขึ้น แต่มันก็ทำให้ผลงานมันออกมาลวกๆ ได้ สุดท้ายเลยอยู่ที่ตัวเรามากกว่าว่าเราจะละเอียดกับการทำเพลงมากแค่ไหน แม้ว่ามันจะทำให้เราสะดวกขึ้น แต่เราก็ต้องละเอียดกับมันมากขึ้นเช่นกัน อย่างตอนที่ผมอัดเสียงเบส ผมก็ได้ยินว่ามันมีเสียงเพี้ยนจากที่ผมเล่นเองอยู่ (โจ้ : อันนี้เบสไม่น่าจะเพี้ยนนะ น่าจะคนเพี้ยน) (หัวเราะ) ผมอาจจะเล่นเพี้ยน ถ้ามันเพี้ยนมาตั้งแต่คนเล่น มันก็แก้ที่ซอฟต์แวร์ยากแล้ว เรื่องพวกนี้ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ของเทคนิเชียน
ความท้าทายของการเบนเข็มจากการทำงานเบื้องหลัง มาเป็นเบื้องหน้า มีอะไรบ้าง?
โจ้ : เราเป็นเหมือนวงเด็กเกิดใหม่ ที่ลืมตามาก็ไม่รู้จักใคร ไม่รู้อะไรเลย แล้วต้องมาเจออะไรใหม่ๆ ตลอดเวลาที่เราต้องพยายามเรียนรู้ไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งตอนทำเพลงมันก็ท้าทายตรงที่ว่า เพลงของเราจะถูกใจคนฟังไหม จะมีใครด่าเราหรือเปล่า แม้ว่ามันจะใหม่มาก แต่พอได้ลองในสิ่งที่เราอยากทำมานานแล้ว มันก็สนุกดีครับ
ป้อม : ผมว่าทุกนาทีมันท้าทายหมด ไม่ว่าจะเป็นการนั่งให้สัมภาษณ์อยู่ ณ ตอนนี้ก็ตาม ก็เป็นสิ่งใหม่ที่เราไม่ค่อยได้ทำ รวมไปถึงการจัดตารางชีวิตใหม่ ทำงานเป็นเทคนิเชียนเมื่อไร สมาชิกในวงจะเจอกันเมื่อไร ซ้อมดนตรีด้วยกันเมื่อไร ครั้งหน้าเราจะคิดดนตรีในพาร์ทไหน เราจะขึ้นเพลงใหม่ตอนไหน เหมือนเราต้องจัดการชีวิตใหม่หมดเลย เราทำควบคู่กันทั้งสองอย่าง ผมว่ามันท้าทายมาก
โจ้ : พอมีเพลงแรกออกมาแล้ว มันก็ท้าทายตรงที่เราอยากจะทำเพลงที่สองให้ออกมาดีกว่าเพลงแรก แล้วเราจะทำยังไง (หัวเราะ)
ป้อม : คนภายนอกมองว่าเราเป็นเทคนิเชียนให้พี่ๆ Bodyslam ผมเชื่อว่าเขามีความคาดหวังกับวง Carry Melons อยู่ ไม่ว่าจะเป็นคนฟังกลุ่มใหม่ หรือแฟนคลับของ Bodyslam เองก็ตาม แต่ผมอยากให้ทุกคนเปิดใจฟังเพลงของพวกเราในฐานะศิลปินวงใหม่ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับพี่ๆ Bodyslam นะครับ ลืม Bodyslam ไปก่อน (หัวเราะ) เพราะพี่ๆ เขาเป็นศิลปินระดับโปรแล้ว เราก็ขอนำเสนอในตัวตนที่เป็นเราจริงๆ ให้ได้ฟังกันมากกว่า
Carry Melons แตกต่างจากวงดนตรีที่มีอยู่ในประเทศไทยตอนนี้อย่างไร?
โจ้ : เพลงของเราอาจจะไม่ได้ทิ้งไปจากเพลงที่มีอยู่ในท้องตลาดทั่วไปมากนัก ไม่ได้ออกดาวหรือหลุดออกไปนอกจักรวาลอะไรขนาดนั้น ยังอยู่ในโซนที่เรียกว่า “แมส” ได้อยู่ แต่สำหรับพวกเรา ผมมองว่าจุดที่แตกต่างของ Carry Melons คือการนำเสนอเนื้อหาของเพลงอย่างตรงไปตรงมา ทำให้คนฟังเข้าใจได้ง่าย ส่วนใหญ่ผมชอบเขียนเพลงช้ามากกว่าเพลงเร็ว ชอบเพลงดาร์คๆ มากกว่า เพราะผมรู้สึกว่าเพลงช้ามันสื่ออารมณ์ได้ดีกว่าเพลงเร็ว เลยคิดว่าจุดเด่นของพวกเราอาจจะเป็นเพลงช้าที่อาจจะเศร้าจนเรียกน้ำตาได้เลย อะไรทำนองนั้น
ป้อม : ผมมองว่าวงของเราจะทะเล้นๆ ขี้เล่นๆ หน่อย เพราะฉะนั้นเรื่องราวของความรักในเพลงมันก็จะมีเรื่องของ Nightlife เข้ามาข้องเกี่ยวเยอะหน่อย เช่น ความรักที่เกิดขึ้นผิดที่ผิดทาง อยู่ในมุมอับๆ ที่มองไม่ค่อยจะเห็น (หัวเราะกันครืนทั้งวง) ผมว่าเรื่องพวกนี้พวกเราจะถนัดหน่อย เพราะเราจะเห็นกันบ่อยๆ ในช่วงที่เราทำงานกัน ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์ของหนุ่มสาวที่เจอกันในสถานที่ท่องเที่ยวในยามกลางคืน แล้วอาจจะหยิบกิมมิคอะไรบางอย่างในสถานที่นั้นมาเขียนเป็นเพลง เราเลยคิดว่านี่จะเป็นจุดแตกต่าง จุดเด่นของพวกเราที่เรามองเห็นว่าเพลงไทยไม่ค่อยเล่าเท่าไร จะเล่าถึงความรักทั่วไปมากกว่า บางทีอาจจะเป็นซีนหน้าแตก หรือเมาปลิ้นในผับก็ได้
ปิ๊ก : ถ้าเพลงมันออกมาในแนวนี้ ดนตรีมันก็จะมีกลิ่นของเพลงแบบนี้ไปด้วย เช่น เครื่องดนตรีสังเคราะห์ ให้มันเหมาะกับยุคสมัย
ป้อม : ถ้าสมัยนี้เป็น EDM วง Carry Melons ก็อาจจะเอาดนตรี EDM มาผสมผสานใส่ในเพลงเร็วที่เราทำด้วย
ปิ๊ก : หรือเนื้อเพลงต่างๆ ก็ต้องล้อไปตามนั้นด้วย แต่ยังไงก็ต้องให้ตรงกับจริตของคนฟังชาวไทยอยู่
โจ้ : ก็น่าจะยืนพื้นที่เรื่องราวอกหัก เรื่องดาร์คๆ จะเสพติดง่ายกว่า เพราะกว่าเราจะเจอรักที่ลงตัว เราคงต้องผ่านเรื่องราวแบบนี้กันมาแล้วทั้งนั้น พี่ก็เคยอกหักมาก่อนใช่ไหมครับ
Sanook : ก็เคย เคยทั้งอกหัก และหักอก (หัวเราะ)
ป้อม : อ้าว เทเขานี่นา (หัวเราะ)
ปิ๊ก : แต่ก็ไม่แน่นะ อาจจะมีบางเพลงที่เราสะใจที่เห็นคนที่หักอกเราเป็นฝ่ายถูกกระทำให้ช้ำใจบ้างก็ได้ (หัวเราะ)
โจ้ : เหมือนพี่ปาน ธนพร ยังไงไม่รู้นะ (หัวเราะ) ถ้าได้ทำเพลงแบบนี้ ตอนร้องอาจจะเกร็งๆ หน่อย กลัวเจอโจทก์เก่าเขวี้ยงขวดขึ้นมา (หัวเราะ)
Sanook : แล้วถ้าแฟนเก่ามาทักว่า “เพลงนี้แต่งถึงเราหรือเปล่า?” จะตอบว่าไง
โจ้ : (นิ่งคิด) ผมอาจจะบอกว่า พูดถึงหลายคน (หัวเราะ) แต่คงไม่หรอก เพราะทุกวันนี้เขาบล็อกผมไปแล้ว (หัวเราะ)
ป้อม : เนี่ย เอาเรื่องจริงมาพูดเล่น
คำถามสุดท้าย คาดหวังอะไรกับวงการเพลงไทยในตอนนี้บ้าง? เพราะศิลปินไทยในช่วงนี้ การจะออกซิงเกิลหรืออัลบั้ม ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
โจ้ : ผมมองว่าในวงการเพลงไทยตอนนี้มันก็มีเพลงให้เสพอยู่หลายแนว กลุ่มคนฟังเพลงเขาก็เหมือนเดินสำรวจตลาดไปเรื่อยว่าวันนี้เราอยากกินอะไร วันนี้เขาอาจจะอยากกินไข่เจียว อีกวันอาจจะอยากกินก๋วยเตี๋ยว พวกผมอาจจะเป็นพ่อค้าก๋วยเตี๋ยวก็ได้ ถ้าผมเริ่มต้นทำก๋วยเตี๋ยวขาย ผมก็คงจะทำก๋วยเตี๋ยวขายต่อไป เพราะเรารู้ว่าเราทำก๋วยเตี๋ยวอร่อย พวกเราจะทำผลงานออกมาให้ดีที่สุด แม้ว่าจะไม่รู้ว่าคนฟังจะชอบหรือเปล่า แต่ถ้าพวกผมชอบ ก็หวังว่าคนฟังน่าจะชอบด้วย
ป้อม : ยุคนี้โซเชียลมันมีอิทธิพลต่อทุกๆ คน อาจจะมองว่ายุคนี้การมีซิงเกิลเป็นของตัวเองมันเป็นเรื่องยาก แต่ถ้ามองกลับกัน โซเชียลมันก็ทำให้เพลงมันไปถึงคนฟังได้เร็วขึ้น คิดว่าหากจะเป็นศิลปิน ก็ต้องทำงานศิลปะอยู่ต่อไปอยู่แล้ว คนฟังได้ประโยชน์อยู่แล้ว ถ้าเขาชอบ เขาก็กดฟัง ถ้าไม่ชอบ เขาก็เลือกไปกดฟังเพลงอื่น ยังไงก็มีคนฟังเพลงอยู่ หน้าที่ของศิลปินอย่างพวกเราก็คือทำเพลงต่อไปเรื่อยๆ ให้พวกเขาเลือกฟังกันต่อไป ผมว่านักดนตรีก็ยังไม่ท้อนะ ผมเชื่ออย่างนั้น ผมว่ามันยังไปต่อได้
โจ้ : แค่เราได้ทำในสิ่งที่เราทำอยู่ แค่นี้มันก็ดีที่สุดแล้ว อย่างน้อยในอนาคตเราแก่ไป แต่เพลงเรายังมีเหลือไว้ให้ได้ฟังอยู่ แค่นี้พวกเราก็ภูมิใจแล้ว ดีกว่าพวกเราตายไปโดยที่ไม่มีอะไรหลงเหลือเอาไว้ในวงการนี้เลย
แบงค์ : ปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ไปเรื่อยๆ ครับ วง Carry Melons แตงโมน้อยนี้ก็จะกลิ้งไปเรื่อยๆ ขัดเกลาไปเรื่อยๆ จนกลม สักวันอาจจะมีอะไรดีๆ ขึ้นมาให้พี่ๆ น้องๆ ได้ฟังอีกก็ได้
ถ้าในตลาดที่เราขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ มีแต่คนมาต่อคิวซื้อข้าวมันไก่ แทบจะไม่มีคนมาซื้อก๋วยเตี๋ยวเลย มันจะมีวันหนึ่งที่เราอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนมาขายข้าวมันไก่กับเขาบ้างไหม?
โจ้ : ผมคิดว่าทุกคนที่มองพวกเรา อาจจะคิดว่าพวกเราเป็นเทคนิเชียนของ Bodyslam ต้องทำเพลงร็อคหนักแน่ๆ ชุดดำมาเต็ม แต่พอได้ลองเปิดฟังเพลงของพวกเราจริงๆ โอ้โห เลี้ยวโค้งแทบไม่ทัน (หัวเราะ) ถ้าเกิดเขาอยากกินข้าวมันไก่กัน แล้วผมขายก๋วยเตี๋ยว แต่ผมยังมีเมนูเกาเหลาให้เลือกอีกนะ หรืออาจจะมีเมนูฟิวชั่นอื่นๆ ให้คนได้ลอง อาจจะเป็นก๋วยเตี๋ยวมันไก่ ก๋วยเตี๋ยวไก่มะระ อะไรประมาณนี้ (หัวเราะ)
____________________
Story & Photos : Jurairat N.