Foster the People : เพลงเปลี่ยนโลก อิทธิพลของอินเทอร์เน็ต และเงินบริจาคให้เฮติที่หายไป | Sanook Music

Foster the People : เพลงเปลี่ยนโลก อิทธิพลของอินเทอร์เน็ต และเงินบริจาคให้เฮติที่หายไป

Foster the People : เพลงเปลี่ยนโลก อิทธิพลของอินเทอร์เน็ต และเงินบริจาคให้เฮติที่หายไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพราะเป็นวงที่มักมากับเพลงเท่ๆ ที่แอบเสียดสีสังคม หรือพูดถึงเรื่องจริงจังอย่างการเมือง อย่างที่เราเคยได้ฟังกันในเพลงฮิตอย่าง Pumped Up Kicks” กันมาแล้ว จึงทำให้วันที่ Sony Music Thailand ที่ร่วมกับโปรโมเตอร์อย่าง The Very Company นัดสื่อมวลชนชาวไทยมารวมตัวกันสัมภาษณ์วงอินดี้ป็อป-ร็อคอย่าง Foster the People ถูกปกคลุมไปด้วยบรรยากาศแลดูจริงจัง เพราะทุกคนล้วนแต่ยิงคำถามที่คัดมาเน้นๆ กันอย่างเข้มข้น และคำตอบที่ได้ก็เข้มข้นตามไปด้วย แต่ถึงแม้ว่าประเด็นที่พวกเราถามทั้ง 4 หนุ่ม Mark Foster (ร้องนำ, กีตาร์, เปียโน, คีย์บอร์ด, ซินธิไซเซอร์), Sean Cimino (กีตาร์, เปียโน, คีย์บอร์ด, ซินธิไซเซอร์), Isom Innis (เบส, เปียโน, คีย์บอร์ด, เพอร์คัสชั่น) และ Mark Pontius (กลอง, เพอร์คัสชั่น) จะเป็นประเด็นสาระล้วนๆ แต่สุดท้ายบทสัมภาษณ์นี้ก็มีครบทุกรสชาติ ทั้งสบายๆ หัวเราะครืน แซวกันไปมา ไปจนถึงซีเรียสถึงขนาด Mark Foster นักร้องนำตอบร่ายยาวคนเดียวนานเกือบ 3 นาที

วันนั้นเราคุยเรื่องอะไรกันบ้าง ทำไมต้องตอบยาวขนาดนั้น รับรองว่าถ้าได้อ่านแล้วจะยิ่งประทับใจในตัวพวกเขามากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

 

____________________

Sacred Hearts Club อัลบั้มล่าสุดนี้ มีขั้นตอนในการทำงานอย่างไรบ้าง?

Mark Foster : ผมตื่นเต้นทุกครั้งที่จะเริ่มต้นทำอัลบั้มใหม่หลังจากทัวร์คอนเสิร์ตเสร็จ เพราะหลังจากที่ออกทัวร์มานาน ทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ อยู่นาน (หัวเราะ) ดังนั้นมันเลยเป็นเรื่องที่สนุกมากๆ เมื่อได้ฤกษ์เข้าบริษัทแล้วลงมือทำอะไรใหม่ๆ กันอีกครั้ง แต่ก็สนุกมากในช่วงเดือนแรกๆ นะ (หัวเราะ) หลังจากผ่านไปครึ่งปี พวกเราถึงได้เริ่มรู้ตัวว่า “พระเจ้า ทำไมมันยากขนาดนี้” ทำอัลบั้มใหม่มันยากมากจริงๆ นะ คือไม่รู้เลยว่าต้องทำอย่างไรถึงจะจบเพลงนี้ได้ หลังจากที่ใช้เวลาไปกับตรงนั้น จะบ้าตายอยู่ตรงนั้นไปสักพักหนึ่ง สุดท้ายก็เจอแสงสว่างจนได้ จริงๆ แล้วปัญหาทุกอย่างมันมีทางออกของมันอยู่เสมอ แค่เรานั่งลง นึกให้ดีว่าเราอยากทำอะไรต่อ มีแรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้เราทำสิ่งนี้ออกมา อะไรทำนองนั้น

 

ปกติเริ่มต้นแต่งเพลงกันอย่างไร?

Mark Foster : เริ่มจากปะติดปะต่อไอเดียเล็กๆ น้อยๆ มารวมกันก่อน แต่ส่วนใหญ่เวลาผมแต่งเพลง ผมมักเริ่มจากกลอง เริ่มใช้วิธีนี้มาในช่วงปีหลังๆ มานี้แหละ เมื่อได้โครงเพลงจากจังหวะกลองแล้ว ก็ค่อยๆ เริ่มใส่เปียโน เบส กีตาร์ และเครื่องดนตรีอื่นๆ ลงไป ค่อยๆ ซึมซับจังหวะของเพลง แล้วให้เพลงพาเราไปเองเรื่อยๆ ประมาณนั้น

 

ถ้าให้เลือกระหว่าง ทำเพลงในห้องอัด กับออกทัวร์คอนเสิร์ตล่ะ?

Isom Innis : รอให้ทัวร์จบก่อน แล้วค่อยมาถามใหม่นะ (หัวเราะ)

Mark Pontius : คงรู้สึกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา

Mark Foster : ใช่ คงรู้สึกกลับไปกลับมา

Isom Innis : คงต้องเลือกทำทั้งสองอย่างแหละ ถ้าอยากประสบความสำเร็จน่ะนะ

Sean Cimino : เราคงออกอัลบั้มมากกว่านี้ถ้าเราไม่ได้ทัวร์หนักขนาดนี้ แต่การได้ออกไปเจอโลกกว้าง อย่างการได้มาที่นี่ ได้เดินทางมาที่อีกด้านหนึ่งของโลกอยู่หลายเดือนแบบนี้ เราก็ชอบนะ เหมือนได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง สุดท้ายแล้วมันก็เลือกยากแหละ

 

 

 

พวกคุณมักจะมีเรื่องราวบางอย่างที่ต้องการจะสื่อออกมาผ่านบทเพลงที่พวกคุณแต่ง ไม่ว่าจะเรื่องของความรุนแรง การใช้กำลังในเพลง “Pumped Up Kicks” หรือเรื่องของการเมือง เพลงในอัลบั้ม Sacred Hearts Club นี้มีเรื่องราวอะไรที่พวกคุณต้องการจะสื่อถึงบ้างไหม?

Mark Foster : เป็นคำถามที่ดีนะครับ ผมคิดว่าในหลายๆ เพลงของพวกเราในอัลบั้ม Sacred Hearts Club จะพูดถึงความรักมากขึ้น อย่างในเพลง Sit Next to Me” และ Static Space Lover” ส่วนเพลง SHC” และ “III” จะเป็นเหมือนบทสนทนากับพระเจ้า แต่คิดว่าเพลง "Loyal Like Sid & Nancy" น่าจะเป็นเพลงที่พูดถึงเรื่องการเมืองมากที่สุดในอัลบั้มนี้ โดยจะพูดถึงสถานการณ์บ้านเมืองในประเทศของเรา ประเทศอเมริกา การแบ่งแยก และเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

Sean Cimino : ถ้าคุณเปิดฟังเพลงนี้แบบย้อนหลัง คุณจะได้ยินคำว่า “Isom is dead” (หัวเราะ)

 

 fos_0371
จากซ้าย: Isom Innis, Mark Foster, Sean Cimino และ Mark Pontius

 

ถ้าอัลบั้ม Sacred Hearts Club มีบางส่วนที่พูดถึงวิกฤติของโลก และชักชวนให้ผู้คนออกมาสนุกกับชีวิตให้มากขึ้นแล้ว คิดว่าการที่ได้เป็น Foster the People ซึ่งเป็นศิลปิน เป็นวงดนตรี มีหน้าที่ที่จะให้ผู้คนทั่วไปในวงกว้างรับรู้ถึงปัญหาอะไรพวกนี้มากขึ้นหรือไม่?

Mark Foster : เป็นคำถามที่ดีนะ มีหลายปัญหาที่เราอยากให้ผู้คนมากมายได้รับรู้ และอีกหลายปัญหาที่เราอยากต่อสู้ให้ด้วย แต่ก็คิดว่าถึงแม้เราจะพยายามกระพือไฟให้โหมกระหน่ำ จุดกระแสให้ดังเปรี้ยงในครั้งเดียว มันก็ยากที่จะปลุกกระแสเหล่านั้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้ ดังนั้นส่วนตัวผม และสมาชิกในวงคิดว่าในฐานะที่พวกเราเป็นวงดนตรี เราอยากจะมองหาปัญหาที่เราควรจะก้าวข้ามผ่านมันไป และมุ่งหน้าต่อไปกับอีกปัญหาหนึ่งให้เต็มที่ เหมือนอย่างที่ Bono (นักร้องนำวง U2) เคยทำร่วมกับ RED (องค์กรการกุศลที่รณรงค์การต่อสู้เพื่อยับยั้งโรคเอดส์) ในช่วงปี 1980 ที่เขาได้เดินทางไปประเทศแอฟริกา เขาได้เห็นวิกฤติ และปัญหาต่างๆ ในประเทศนั้น เขาเลยก่อตั้งองค์กรที่รณรงค์ในเรื่องของการหยุดปัญหาความยากจน และโรคเอดส์ และเขาก็รณรงค์เรื่องนี้มาตลอด 30 ปี รณรงค์ชัดๆ แค่ 2 เรื่องนี้เท่านั้น แต่นั่นก็ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในวงกว้างอย่างแท้จริง แต่เมื่อใดก็ตามที่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น พวกเราก็พยายามที่จะช่วยเสมอ แต่ถ้าถามถึงตอนนี้สิ่งที่พวกเราอยากจะพูดถึงน่าจะเป็นเรื่องของความสามัคคี และสิทธิมนุษยชน ทุกคนไม่ควรได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะมีศาสนา สีผิว หรือเพศสภาพ ชาย หญิง รวย จน ชนชั้นในสังคม ระบบการศึกษา แบบใด ทุกคนบนโลกควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน

 

คิดว่าดนตรีสามารถเปลี่ยนโลก หรือช่วยแก้ปัญหาให้กับมนุษยชาติได้หรือไม่?

Mark Foster : ผมว่าดนตรีทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้นะ ช่วยได้แน่นอน ถ้าคุณได้ฟังเพลง และรู้สึกได้ถึงพลังผ่านเพลงอย่างThe Rite of Spring” ของ Stravinsky ครั้งแรกที่เขาเล่นเพลงนี้ในปารีส ก่อให้เกิดการจลาจลขึ้น เพราะเพลงนั้นทำให้คนฟังอินมากๆ หรืออย่างเพลงของ Nina Simone, Billie Holiday, Bob Dylan หรือ John Lennon กับเพลง Imagine” ที่กลายเป็นเพลงในหน้าประวัติศาสตร์ที่เป็นกระบอกเสียงให้กับมวลชนในยุคนั้น ดังนั้นผมเลยคิดว่าดนตรีมีพลังอย่างแน่นอน

 

แต่สุดท้ายโลกก็ไม่ได้เปลี่ยน?

Sean Cimino : ผมคิดว่ามันก็มีเพลงที่เปลี่ยนโลกได้นะ อย่างเพลง Imagine” ของ John Lennon ที่ก่อให้เกิดการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสันติภาพหลังสงครามเวียดนาม และหลังจากนั้นเขาก็กลายเป็นผู้ริเริ่ม และผู้นำในเรื่องนี้อย่างแท้จริง ทำให้คนอื่นๆ มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นว่า เราสามารถออกมาแสดงพลัง ว่าเราสามารถเปลี่ยนกันได้ เราไม่ควรคิดแบบนั้น ไม่ควรปล่อยให้รัฐบาลทำแต่สิ่งที่พวกเขาต้องการ โดยไม่ต้องมีการสร้างกำแพง หรือกระทำการต่อต้านขัดขืนอะไร หรืออย่างเพลง Strange Fruit” (Billie Holiday) เป็นเพลงที่ทรงพลังมาก หรือบางครั้งอาจเป็นเพียงแค่บทกวี ก็สามารถสื่อสารส่งพลังไปถึงทุกคนได้มากกว่าคำพูดเพียงอย่างเดียว เพลงแค่ 3 นาที บางทีก็สามารถสื่อสารทุกสิ่งที่ต้องการออกมาได้ครบหมดทุกอย่าง

Isom Innis : ผมว่าดนตรีเปรียบเสมือนเลนส์กล้องที่ส่องให้เห็นวัฒนธรรมที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ผู้คนเหล่านั้นได้ไปประสบพบเจอมาจริงๆ แค่เพลงเพลงหนึ่ง อาจไม่สามารถแก้ทุกปัญหาบนโลกใบนี้ได้ แต่มันคือมนุษย์อย่างเราๆ ทุกคนนี่แหละที่เป็นคนเปลี่ยนโลกใบนี้ได้ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมือง พวกเราทุกคนร่วมกันช่วยเหลือโลกของเราได้ โดยมีดนตรีเป็นเหมือนซาวด์แทร็คให้กับพวกเราอีกที และเป็นเสมือนเลนส์กล้องที่ส่องให้เห็นว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับอะไรอยู่

 

fos_0380

 

ในเพลง “Sit Next to Me” มีเรื่องของ feeds ใน Instagram เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับการเติบโตของโลกอินเทอร์เน็ตสมัยนี้?

Mark Foster : โลกของอินเทอร์เน็ตเหรอ? ผมรักโลกของอินเทอร์เน็ตนะ (หัวเราะ) ผมติดมันมากเลยล่ะ คิดว่ามันเสียสุขภาพสุดๆ แต่ก็หยุดเล่นไม่ได้เสียที (หัวเราะ)

Isom Innis : มันดีกว่าในโลกของความเป็นจริงซะอีก (หัวเราะ) ในโปรไฟล์ของผมในหน้า MySpace เงี้ย ใช้รูปที่โชว์ซิกแพคด้วยนะ Photoshop เอาน่ะ เพราะของจริงไม่มีหรอก

 

ติดโลกอินเทอร์เน็ตกันมากขนาดนั้น แล้วกับโลกของโซเชียลมีเดียล่ะ?

Mark Foster : กับโซเชียลมีเดีย ผมก็เล่นๆ เลิกๆ นะ ผมออกมาจากโลกโซเชียลมีเดียราวๆ ปีหนึ่ง เพื่อที่จะพักตัวเองให้เต็มที่ และได้เห็นมุมมองจากโซเชียลมีเดียว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่ ตอนนี้ผมเล่นแค่ Instagram มีเล่น Twitter นิดหน่อย สำหรับ Twitter ก็จะโพสต์แต่เรื่องของวง ผมมองว่ามันก็มีพลัง และชวนให้ติดงอมแงมอยู่นะ ก็เป็นเรื่องธรรมดาของเทคโนโลยีทั้งหมดทั้งมวลนั่นแหละ ที่ย่อมมีทั้งข้อดี และข้อเสียเสมอ

 

คุณอยากแนะนำให้คนอื่นพักตัวเองจากโลกโซเชียลมีเดียชั่วคราวบ้างไหม?

Sean Cimino : แน่นอน Mark (Pontius) ก็กำลังทำแบบนั้นอยู่นะตอนนี้

Mark Pontius : โซเชียลมีข้อดีหลายอย่างนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เป็นศิลปิน ที่ได้มีพื้นที่ในการพูดถึงผลงานของตัวเอง แต่มันก็อาจจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองหากคุณใช้อย่างไม่ระมัดระวัง เพราะมันอาจทำให้คุณไขว้เขวจากสิ่งที่คุณอยากทำในตอนแรกไปได้

Mark Foster : สำหรับผม เท่าที่ผมสังเกตได้ คือ ทั้งโซเชียลมีเดีย และอินเทอร์เน็ต กำลังฝึกให้สมองของพวกเรารู้จักการประมวลผลจากข้อมูลต่างๆ ที่พรั่งพรูเข้ามาด้วยวิธีที่แตกต่างกันไป จนทำให้พวกเราเสพติดสิ่งเหล่านี้ไปโดยปริยาย ราวกับมีสารโดพามีนหลั่งออกมา เห็นข่าวนู้นข่าวนี้ ทั้งข่าวแมวกระโดดลงมาจากหลังคา ดูวิธีทำพิซซ่าให้อร่อย ข้อมูลเหล่านี้ไหลเข้ามารวดเดียวโดยไม่ได้มีการแบ่งหมวดหมู่หรือจัดระเบียบข้อมูลให้กับสมองของเราเลย ไม่เหมือนกับการอ่านหนังสือที่เราหยิบมานั่งอ่าน แล้วเราทราบว่ามันมีธีมของเรื่อง เนื้อเรื่องเรียงกันไป เราก็ค่อยๆ ย่อยข้อมูลอย่างช้าๆ แต่สำหรับโซเชียลมีเดีย และอินเทอร์เน็ต มันเหมือนสมองของเราถูกย่างให้ร้อนด้วยไมโครเวฟอย่างรวดเร็ว สมองของเราไม่ได้ถูกสร้างให้ย่อยข้อมูลมากมายมหาศาลเหล่านั้นในครั้งเดียวได้ขนาดนั้น ดังนั้นหากลองถอยหลังออกมาจากสิ่งเหล่านั้นได้สักอาทิตย์หนึ่ง ผมว่าคุณจะพบจุดที่ใช้สิ่งเหล่านี้ในชีวิตได้อย่างสมดุลมากขึ้น

Sean Cimino : ฟังแล้วอยากเลิกเล่นโซเชียลมีเดียเลย (หัวเราะ)

 

การมาของอินเทอร์เน็ต ก็ทำให้เราได้ฟังเพลงผ่านบริการสตรีมมิ่งด้วย บริการเหล่านี้ส่งผลกระทบดีหรือไม่ดีอย่างไรกับพวกคุณ?

Mark Foster : ผมว่าก็ทั้งสองอย่างนะ มองมุมหนึ่งก็เป็นวิธีที่ทำให้เราได้ค้นพบศิลปินมากมาย ที่เราอาจไม่เคยได้ฟังมาก่อน จนสุดท้ายจากการฟังเพลงในครั้งนั้นอาจทำให้วันหนึ่งมีคนซื้อตั๋วไปดูคอนเสิร์ต หรือซื้อเสื้อวงของพวกเขาก็ได้ ผมมองว่ามันก็คล้ายๆ กับเป็นยุคที่ค่อยๆ ออกมาจากยุคมืดในอดีตที่เคยมีบริการอย่าง Napster หรือยุคเทปผีซีดีเถื่อน ยุคนั้นเป็นยุคที่วงการเพลงกลับตาลปัตรไปหมด แต่มันก็น่าสนใจสำหรับพวกเราตรงนี้ พวกเราเห็นคนที่ทำเพลงมาตั้งแต่ยุค ‘90s วงดนตรีที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จใกล้เคียงกับพวกเรา แต่ก็ขายอัลบั้มได้เป็นล้านๆ ชุด พวกเขาทำมาหาเลี้ยงชีพได้ด้วยการทำดนตรีอย่างแท้จริง จนกระทั่งมาถึงยุคสตรีมมิ่ง อะไรๆ ก็สตรีมมิ่ง ทุกคนใช้สตรีมมิ่ง เลยกลายเป็นวิธีเดียวที่ทำให้คนหันมาจ่ายเงินเพื่อฟังเพลง ทำให้คนรู้สึกว่าไม่ต้องจ่ายก็ได้มาฟรีๆ กลายเป็นของฟรีไป... หรือบางทีมันควรจะเป็นของฟรี? ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ)

 

เห็นใน Twitter ลงว่าพวกคุณได้ไปประเทศเฮติกันมา ประสบการณ์ในครั้งนั้นส่งผลกระทบอะไรต่อชีวิตของพวกคุณบ้าง?

Mark Foster : โห นั่นเป็นประสบการณ์ที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมาเลย สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือ ประเทศแบบนั้นอยู่ใกล้กับประเทศอเมริกาที่ร่ำรวยมากๆ แต่เพราะอเมริกาไม่ได้ต้องการอะไรในทางเศรษฐกิจจากเฮติเลย ดังนั้นอเมริกาเลยเพิกเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้นในเฮติ ก็เลยเป็นที่มาของหลากหลายองค์กรดีๆ และสถาบันต่างๆ มากมายที่เข้าไปช่วยเหลือ อย่างองค์กรหนึ่งที่ชื่อว่า Artists for Peace and Justice ได้เข้าไปช่วยสร้างโรงเรียนหลังจากที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงในครั้งนั้น จริงๆ แล้วการบริจาคเพื่อช่วยเหลือชาวเฮติในครั้งนั้นเป็นการบริจาคครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกเลยนะ แต่เงินทั้งหมดกว่า 400 ล้านดอลลาร์ยังถูกเก็บเอาไว้ในธนาคาร เพราะสภากาชาด และองค์กรใหญ่ๆ ของอเมริกาถลุงเงินไปจ่ายค่าเครื่องบินส่วนตัว ให้ CEO สัมผัสประสบการณ์เที่ยวพักร้อนอันแสนวิเศษ ทำเหมือนไม่อยากนำเงินกลับมาช่วยเหลือประเทศเฮติเลย ไหนจะมีคอร์รัปชันเกิดขึ้นอีกมากมาย มันทำให้ผมคิดว่า เหล่าคนผิวขาวที่เหยียดผิว มาจากครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย คนที่ให้รัฐบาลกู้ยืมเงิน คนอย่างพี่น้องตระกูล Koch หรือคนในตระกูล Rothschild (ตระกูลมหาเศรษฐีในอเมริกาที่ติดอันดับร่ำรวยที่สุดในโลก) พวกเขาทำอะไรเพื่อช่วยเหลือประเทศนั้นได้มากกว่านี้ คือมันชัดเจนมากว่าพวกเขาไม่สนใจเลย ดังนั้นมันคงจะใช้เวลาอีกนานกว่าคนเหล่านั้นจะทำตัวดีขึ้น เพราะจริงๆ แล้วชาวเฮติน่าทึ่งมากๆ พวกเขามีชีวิตชีวามาก ทั้งคาแรกเตอร์ของพวกเขา ศิลปะ บทกวี และอะไรหลายๆ อย่างที่น่าพูดถึง ดังนั้น... เอ่อ ขอโทษที่ตอบยาวนะ แต่คำถามนี้สะกิดใจผมมากเลย

____________________

 

ได้ฟังคำตอบของ Foster the People แล้ว เราเชื่อสนิทใจว่า ดนตรีมีพลังมหาศาล และมากพอที่จะเปลี่ยนโลกได้จริงๆ และทัศนคติที่ดีของพวกเขา ก็นำมาซึ่งเพลงเจ๋งๆ ที่ไม่ได้มีดีแค่ดนตรีล้ำๆ ชวนโยก แต่เบื้องหลังของแต่ละเพลงยังสอดแทรกสาระบางอย่างที่พวกเขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนที่ฟังจะได้รับสารนั้นไป และเป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะช่วยพวกเขาเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ไปด้วยกัน แม้จะฟังดูยิ่งใหญ่ และยากที่จะเป็นไปได้ แต่เราเชื่อว่าเราทุกคนทำได้ ไม่ว่าจะเพศอะไร อาชีพอะไร อยู่ตรงส่วนไหนของโลก หรือแม้กระทั่งจะเป็นแฟนเพลงของ Foster the People หรือไม่ก็ตาม

... หรือถ้าเพลงของ Foster the People จะเปลี่ยนชีวิตของคนที่ฟังให้ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย เราว่าพวกเขาก็คงจะยินดีมากเช่นกัน งานนี้ต้องลองถามแฟนเพลงที่ได้ชมการแสดงสดสุดมันของพวกเขาใน Foster the People Live in Bangkok กันดูแล้วล่ะ

 

อ่านต่อ >> ออกสเต็ปเต้นรำ ดื่มด่ำซาวด์อินดี้ป็อปแบบฉบับ “Foster the People Live in Bangkok”

 

 

____________________

Story : Chanon B., Jurairat N.

Photos : Sony Music Thailand

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook