ลูกจ้างต้องรู้กฎหมายแรงงาน ลากิจ ลาป่วย ลาพักร้อนได้กี่วัน ยังได้รับเงินอยู่มั้ย

ลูกจ้างต้องรู้กฎหมายแรงงาน ลากิจ ลาป่วย ลาพักร้อนได้กี่วัน ยังได้รับเงินอยู่มั้ย

ลูกจ้างต้องรู้กฎหมายแรงงาน ลากิจ ลาป่วย ลาพักร้อนได้กี่วัน ยังได้รับเงินอยู่มั้ย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เปิดกฎหมายแรงงานฉบับล่าสุดที่ลูกจ้างต้องรู้ ลาป่วย ลากิจ ลาพักพร้อนได้สูงสุดกี่วัน ยังจะได้รับค่าจ้างอยู่หรือไม่

การลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อน หรือการลาแบบอื่นๆ ถือเป็นหนึ่งสิทธิ์ที่ลูกจ้างทุกคนจะต้องรู้ ซึ่งในกฎหมายแรงงานก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าการลาแบบไหนยังจะได้รับเงินเดือน หรือไม่ได้รับเงินเดือน Sanook Money ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาฝากผู้อ่านทุกท่านกัน

ลาป่วยได้กี่วัน?

  • สิทธิในการลาป่วยของลูกจ้าง ลูกจ้างลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง ได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี ถ้าป่วยตั้งแต่วันที่ 31 เป็นต้นไป จะไม่ได้รับค่าจ้าง
  • ถ้าลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป (นับเฉพาะวันทำงาน) ลูกจ้างจะต้องแสดงใบรับรองแพทย์ให้กับนายจ้าง หากไม่มีต้องชี้แจงกับนายจ้าง
  • ถ้าลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงาน หรือลาคลอดไม่ถือว่าเป็นลาป่วย

ลากิจ คืออะไร?

ตามกฎหมายระบุว่า "ลากิจ" คือการลากิจธุระอันจำเป็น งานหรือภาระ หรือกิจธุระอันจำเป็นที่ตัวลูกจ้างจะต้องไปดำเนินการด้วยตนเอง บุคคลอื่นไม่สามารถกระทำแทนได้

  • ลาไปทำบัตรประชาชน ใบขับขี่ ติดต่อราชการ
  • ลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นของครอบครัว เช่น พาพ่อแม่ไปหาหมอ พาลูกไปหาหมอ
  • ลาไปเป็นพยานตามหมายเรียกของศาล
  • ลาปฏิบัติธรรมทางศาสนาตามธรรมเนียมปฏิบัติ
  • ลาเข้าพิธีสมรส จัดงานสมรสของบุตร
  • ลาไปจัดงานศพของบุคคลในครอบครัว (พ่อ แม่ พี่น้อง สามี ภรรยา ลูก)
  • ลาไปงานรับปริญญาของตัวเอง

การลากิจดังกล่าวลูกจ้างต้องทำตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทด้วย หากเป็นกิจธุระที่จำเป็น เช่น ลาไปจัดงานศพของสมาชิกในครอบครัว หรือพ่อ-แม่ป่วยหนักต้องไปดูใจ แม้นายจ้างจะไม่อนุมัติให้ลา แต่ลูกจ้างต้องไปถือเป็นเหตุผลอันสมควร ที่สำคัญ นายจ้างไม่สามารถเลิกจ้างพนักงานในกรณีนี้ได้ ถ้านายจ้างให้พนักงานลาออก นายจ้างเองจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง

ลากิจได้กี่วัน?

  • ลูกจ้างลากิจไปทำธุระที่จำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี
  • กรณีลูกจ้างจำเป็นต้องลากิจเพิ่มมากกว่า 3 วันทำงานต่อปี สามารถลากิจได้โดยไม่รับค่าจ้าง หรืออาจใช้ลาพักร้อนแทน แต่จะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบและข้อบังคับขององค์กร
  • ลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิลากิจได้
  • บริษัทกำหนดสิทธิลากิจลูกจ้างกี่วันก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี

ลาพักร้อนได้กี่วัน?

  • ลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี จะมีสิทธิลาพักร้อน ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงานต่อปี โดยได้รับค่าจ้างในวันลาพักร้อน
  • บริษัทสามารถกำหนดสิทธิลดพักร้อนให้ลูกจ้างได้มากกว่า 6 วัน

ในกรณีที่ไม่ใช้วันลาพักร้อนจะสามารถเก็บสิทธิไว้ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบข้อตกลงของบริษัทนั้นๆ

ลาคลอดลูกได้กี่วัน?

  • ลูกจ้างผู้หญิงที่ตั้งครรภ์สามารถลาเพื่อคลอดลูกได้ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้เป็นจำนวน 45 วัน
  • ใช้สิทธิ์ลาคลอดได้ทั้งกรณีไปตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร การคลอดบุตร และพักฟื้นหลังคลอดบุตร

ลาทำหมันได้กี่วัน?

  • ลูกจ้างลาหยุดเพื่อทำหมันได้ตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันกำหนด และออกใบรับรองให้โดยยังมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันลานั้น

ลารับราชการทหารได้กี่วัน?

  • ลูกจ้างลารับราชการทหารในการเรียกพล เพื่อตรวจสอบฝึกวิชาทหาร ทดลองความพร้อมตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารได้ โดยได้รับค่าจ้างตลอดเวลาที่ลาสูงสุดไม่เกิน 60 วันต่อปี

ลาเพื่อฝึกอบรมได้กี่วัน?

  • ลูกจ้างลาเพื่อการฝึกอบรม หรือพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อประโยชน์ต่อการแรงงานและสวัสดิการสังคม โดยต้องแจ้งเหตุในการลาให้นายจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันลา
  • กรณีที่ปีนั้นลูกจ้างเคยได้รับอนุญาตให้ลามาแล้วไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือ 3 ครั้ง หรือแสดงได้ว่าการลาของลูกจ้างอาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือกระทบต่อการประกอบธุรกิจของนายจ้าง นายจ้างอาจไม่อนุญาตให้ลาได้
  • ลูกจ้างจะไม่ได้รับค่าจ้างในวันที่ลาเพื่อฝึกอบรม

ลูกจ้างสามารถหยุดทำงานได้กี่วัน?

  • กฎหมายแรงงานระบุว่าลูกจ้างจะต้องมีวันหยุดประจำสัปดาห์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน
  • สำหรับงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง อาจตกลงกันสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำสัปดาห์ไปหยุดเมื่อใดก็ได้ ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน

วันหยุดตามประเพณีมีกี่วัน?

บริษัทจะต้องจัดให้มีวันหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่า 13 วันต่อปี โดยนับรวมวันแรงงานแห่งชาติของทุกปี เป็นวันหยุดตามประเพณีด้วย

วันหยุดตามประเพณีอาจพิจารณาจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น กรณีวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของพนักงานอยู่แล้ว ให้หยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป

อย่างไรก็ตาม วันหยุด และการลาประเภทต่างๆ ล้วนเป็นสิทธิที่พนักงานทุกคนจะต้องรู้ และทำความเข้าใจ แม้ว่าบางกรณีจะเป็นข้อกำหนดที่บริษัทกำหนดให้แตกต่างไปจากกฎหมายแรงงานก็ตาม แต่ก็อย่าลืมศึกษากฎระเบียบของบริษัทด้วย เพื่อรักษาสิทธิไม่ให้ถูกนายจ้างเอาเปรียบนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook