ธปท. เผย 3 ปัจจัยกดดันเงินบาทอ่อนค่า เผยเป็นไปตามกลไกลตลาด

ธปท. เผย 3 ปัจจัยกดดันเงินบาทอ่อนค่า เผยเป็นไปตามกลไกลตลาด

ธปท. เผย 3 ปัจจัยกดดันเงินบาทอ่อนค่า เผยเป็นไปตามกลไกลตลาด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 66 ที่อ่อนค่าในระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ ยอมรับว่าค่าเงินบาทมีความผันผวนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า, ความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน และราคาทองคำที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากค่าเงินบาทของไทยมีความสัมพันธ์กับปัจจัยดังกล่าวอย่างมาก

“ธปท. ไม่ได้ต้องการให้ค่าเงินมีความผันผวนสูง เพราะจะกระทบกับภาคธุรกิจต้องปรับตัว แต่ว่าค่าเงินบาทที่อ่อนลงในภาพรวม ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ เพราะไทยยังมีภูมิคุ้มกันในระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 และ 2567 คาดว่าจะเกินดุลจากแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และหนี้ต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า ธปท. ยืนยันว่าไม่มีมาตรการหรือนโยบายที่จะเข้าไปฝืนกลไกตลาด โดยเฉพาะการเข้าไปกำหนดระดับของค่าเงิน เป็นเรื่องที่ไม่มีใครจะมากำหนดได้ ไม่มีและไม่ทำแน่นอน เพราะจะเป็นความเสี่ยงมาก ซึ่ง ธปท. จะพิจารณาความผันผวนที่มาจากปัจจัยพื้นฐาน และปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด จะไม่เข้าไปทำอะไรที่สวนกลไกตลาดอย่างแน่นอน ซึ่งล่าสุดเงินบาทที่อ่อนลงก็มาจากดอลลาร์ที่แข็งค่า ก็เป็นปัจจัยที่ต้องเข้าไปดูแล

ขณะที่ทองคำ ที่ผ่านมาไม่ได้เห็นมีการนำเข้ามาก อาจจะเป็นการเคลื่อนไหวในรูปของราคาทองมากกว่า หากทองเคลื่อนไหว เงินบาทก็เคลื่อนไหวตาม ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้าย ตั้งแต่ต้นปีพบว่าไหลออก 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น ก็เป็นไปตามสภาวะตลาดโลกที่ไม่ได้อยู่ในช่วงที่เอื้อให้เกิดการลงทุน โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่มีหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ไม่ได้มีมาก จึงไม่มีความน่าสนใจเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการทำนโยบายการเงิน โดยเฉพาะการตัดสินใจในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ผ่านมามีกรอบการดำเนินการที่ชัดเจน วิธีการทำงานก็มีทั้งกรรมการจากภายในและภายนอก จึงมีอิสระในการตัดสินใจ แม้ว่ากรอบอัตราเงินเฟ้อจะต้องหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง แต่วิธีการไปให้ถึงเป้าหมายเป็นเรื่องของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

ส่วนกระแสข่าวว่ารัฐบาลมีความขัดแย้งกับ ธปท. ในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ถ้าเป็นในเรื่องความเห็นที่ไม่ตรงกันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำงานด้วยกันไม่ได้ ทั้งนี้ยืนยันว่าการไปพบทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา ไม่ได้มีการพูดถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต โดยตนในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต คาดว่าจะมีการนัดประชุมในเร็ว ๆ นี้ ซึ่ง ธปท. จะใช้โอกาสนี้ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อห่วงใยในการดำเนินมาตรการนี้ในคณะกรรมการชุดดังกล่าว

โดยการหารือกับนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นการพูดคุยกันในหลายเรื่อง บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี ตรงไปตรงมา ธปท. ได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้านเศรษฐกิจ โดยนายเศรษฐาก็ได้สั่งการบ้านกลับมา ก็มีทั้งเรื่องที่เห็นตรงกันและไม่ตรงกัน เป็นเรื่องปกติ เพราะว่าเราต่างสวมหมวกกันคนละใบ ก็ต่างรับฟังกันทั้ง 2 ฝ่ายและต่างก็รับกันไปพิจารณา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook