ค่าเงินบาทวันนี้ 25 พ.ค. 66 เปิดที่ระดับ 34.67 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง

ค่าเงินบาทวันนี้ 25 พ.ค. 66 เปิดที่ระดับ 34.67 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง

ค่าเงินบาทวันนี้ 25 พ.ค. 66 เปิดที่ระดับ 34.67 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ค่าเงินบาทวันนี้ 25 พ.ค. 66 เปิดที่ระดับ 34.67 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.55 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.75 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทวันนี้เปิดที่ระดับ 34.67 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.55 บาทต่อดอลลาร์ สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เข้าใกล้โซนแนวต้าน 34.70-34.75 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว

โดยมองว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงต่อได้ในวันนี้ แต่การอ่อนค่าของเงินบาทอาจไม่ได้รุนแรงมากจนทะลุโซนแนวต้านสำคัญ หรืออาจไม่ได้อ่อนค่าจนทะลุระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาตินั้นเริ่มลดลง ดังจะเห็นได้จากการที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นสุทธิราว -540 ล้านบาท และขายบอนด์สุทธิเกือบ -1 พันล้านบาท ในวันก่อนหน้า นอกจากนี้ ประเมินว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านในการขายทำกำไรสถานะ Short THB และผู้เล่นบางส่วนก็อาจเริ่มกลับมา Long THB บ้าง (แต่ยังคงไม่เยอะมาก)

นอกจากนี้ เนื่องจากเงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่า โดยเฉพาะหากนักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยชัดเจน ประเมินว่า แนวรับของเงินบาทก็อาจยังคงอยู่ในช่วง 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเห็นผู้เล่นบางส่วน อาทิ ผู้นำเข้าทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน

ทั้งนี้คงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.75 บาทต่อดอลลาร์

การเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่ยังไม่มีสัญญาณความคืบหน้าที่ชัดเจน ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าลดความเสี่ยงพอร์ตอย่างต่อเนื่อง (Risk-Off) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ต่างมองว่า การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออาจมีความจำเป็นน้อยลง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นได้บ้าง แต่โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.73%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ดิ่งลงแรงกว่า -1.81% โดยมีลักษณะเป็นการเทขายหุ้นทุกกลุ่ม ท่ามกลางแรงกดดันจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) ที่ออกมาแย่กว่าคาด รวมถึง รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อ (ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า BOE อาจขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.00% ในปีนี้) นอกจากนี้ การเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่ยังไม่มีความชัดเจนก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันบรรยากาศในตลาดหุ้นยุโรป

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.9 จุด โดยมีปัจจัยหนุนมาจากทั้งการอ่อนค่าลงของสกุลเงินฝั่งยุโรป (EUR, GBP) ตามแรงขายหุ้นยุโรป นอกจากนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดยังคงทำให้ผู้เล่นบางส่วนเลือกที่จะถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อนึ่ง คงมองว่า การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ยังคงถูกจำกัดอยู่ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มการเจรจาขยายเพดานหนี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจเน้นขายทำกำไร ในจังหวะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าตลาดการเงินโดยรวมจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และราคาทองคำก็เป็นปัจจัยที่กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) พลิกกลับมาย่อตัวลงสู่ระดับ 1,960ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับของราคาทองคำในระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ทำให้โฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านประมาณการครั้งที่ 2 ของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรก (GDP Q1/2023) และรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims)

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ความคืบหน้าของการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด รวมถึงรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อประเมินโอกาสที่เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือยุติการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook