ลูกจ้างต้องรู้! หากถูกเลิกจ้างกะทันหัน ต้องได้รับเงินชดเชยเท่าไหร่?

ลูกจ้างต้องรู้! หากถูกเลิกจ้างกะทันหัน ต้องได้รับเงินชดเชยเท่าไหร่?

ลูกจ้างต้องรู้! หากถูกเลิกจ้างกะทันหัน ต้องได้รับเงินชดเชยเท่าไหร่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากลูกจ้างถูกเลิกจ้างกะทันหัน จะต้องได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายอะไรบ้าง

กระทรวงแรงงาน เปิดเผยสิ่งที่ลูกจ้างควรรู้เมื่อถูกเลิกจ้างกะทันหัน หรือตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว ควรได้รับสิทธิหรือเรียกร้องสิทธิอะไรบ้าง และนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยอย่างไรเพื่อให้เป็นการเลิกจ้างอย่างเป็นธรรม

ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้

ค่าชดเชย คือ เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่น ซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5

การถูกเลิกจ้างกะทันหันตามกฎหมายจะได้รับเงินชดเชย 2 อย่างจากนายจ้าง คือ

  1. ค่าชดเชยถูกเลิกจ้าง
  2. ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

เงินชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง เชิญออก ตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว 

เมื่อถูกให้ออกจากงานโดยไม่สมัครใจ โดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิด เงินชดเชยที่จะได้รับขึ้นอยู่กับเงินเดือนและอายุงาน

  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน (1 เดือน)
  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน (3 เดือน)
  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน (6 เดือน)
  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน (8 เดือน)
  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน (10 เดือน)

เช่น นาย ก. ทำงานมาแล้ว 4 ปี ได้รับเงินเดือน 30,000 บาท และถูกเลิกจ้างโดยไม่สมัครใจ เท่ากับว่า นาย ก. จะได้รับเงินชดเชย 30,000 x 6 เดือน (180 วัน) เท่ากับ 180,000 บาท

ข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย : ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้

  1. ลูกจ้างลาออกเอง
  2. ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
  3. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
  4. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
  5. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน ซึ่งหนังสือเตือนนั้นให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
  6. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร
  7. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
  8. กรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และนายจ้างเลิกจ้าง ตามกำหนดระยะเวลานั้น ได้แก่งานดังนี้
    1. การจ้างงานในโครงการ เฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือ การค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน
    2. งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว ที่มีกำหนดงานสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน
    3. งานที่เป็นไปตามฤดูกาล และได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้นซึ่งจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยนายจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

  • ลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยไม่สมัครใจ และไม่ได้มีการบอกล่วงหน้าจะได้รับเงินค่าบอกล่วงหน้าที่เรียกว่า "ค่าตกใจ" เพิ่มเติม

กรณีเลิกจ้างทั่วไป

  • นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกล่วงหน้า 1 งวดของการจ่ายค่าข้าง คือ ถ้าได้ค่าจ้างเป็นเงินเดือนรอบละ 30 วัน นายจ้างต้องแจ้งเลิกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบอย่างน้อย 30 วัน ไม่เช่นนั้น จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน หรือถ้าได้รับค่าจ้างรายสัปดาห์ ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ไม่เช่นนั้น ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับ 7 วัน

กรณีเลิกจ้าง เพราะปรับปรุงหน่วยงาน

  • กระบวนการผลิตการจำหน่าย หรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่อง จักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง นายจ้างต้องปฏิบัติดังนี้
    • 2.1 แจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้าง ให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงาน ทราบล่วงหน้าไม่ น้อยกว่า 60 วันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง
    • 2.2 ถ้าไม่แจ้งแก่ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาหกสิบวัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างเท่ากับค่า จ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 60 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่า จ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านี้ ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายค่าสินจ้างแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายด้วยนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติดังต่อไปนี้

  1. ลูกจ้าง ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีขึ้นไป นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย พิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติซึ่งลูกจ้างนั้นมีสิทธิได้รับอยู่แล้ว ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทำงานครบ 1 ปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสิบห้าวันสุดท้ายต่อการทำงาน ครบหนึ่งปีสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
  2. ค่าชดเชยพิเศษนี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 360 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย แต่รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน
  3. เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าชดเชยพิเศษ เศษของระยะเวลาทำงานที่มากกว่า 180 วัน ให้นับเป็นการทำงานครบ 1 ปี

กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ

  1. นายจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อน ย้าย ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วย ลูกจ้างมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่า 50% ของอัตราค่าชดเชยปกติที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ์ได้รับ

  2. ถ้านายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบการย้ายสถานประกอบกิจการล่วงหน้า นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษ แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน

ทั้งนี้ เงินชดเชยถูกเลิกจ้างที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้กับลูกจ้างภายในวันสุดท้ายที่ทำงาน หากนายจ้างไม่ได้จ่ายเงินชดเชยดังกล่าว ลูกจ้างสามารถยื่นร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ที่สำนักงานสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงานในแต่ละจังหวัด ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถยื่นได้ที่กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าข่ายการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook