ลูกจ้างรู้ยัง ! ประกันสังคมจ่ายให้ ว่างงาน เลิกจ้าง ลาออก

ลูกจ้างรู้ยัง ! ตกงาน เลิกจ้าง ลาออก มีสิทธิได้เงินชดเชยจากประกันสังคมด้วย

ลูกจ้างรู้ยัง ! ตกงาน เลิกจ้าง ลาออก มีสิทธิได้เงินชดเชยจากประกันสังคมด้วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตรวจสอบสิทธิประกันสังคม ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน กรณีว่างงาน ตกงาน ลาออก ถูกเลิกจ้าง พร้อมขั้นตอนการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์

รู้หรือไม่ กรณีที่บริษัทเปิดโครงการให้ลูกจ้างลาออกโดยสมัครใจลาออก ซึ่งลูกจ้างที่สมัครใจลาออกนอกจากจะได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างแล้ว หากเป็นผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคม ยังมีสิทธิได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงาน และสิทธิประโยชน์อื่นๆ จากสำนักงานประกันสังคมอีกด้วย ส่วนรายละเอียดว่าใครจะได้เท่าไหร่นั้นไปดูพร้อมๆกันเลย

หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์จากว่างงาน ประกันสังคม

หลักเกณฑ์ที่จะทำให้ท่านมีสิทธิ คือ เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน (ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา) โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย

ทั้งนี้ลูกจ้างต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน เพื่อเป็นการแสดงสิทธิ์ในเบื้องต้น เพื่อปฏิบัติตามเงื่อนไขของสำนักงานประกันสังคมในบางอย่าง เช่น

มีความสามารถในการทำงานและพร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้
ต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน
ต้องรายงานต่อเจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่ไม่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานได้ เช่น

  • ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
  • จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
  • ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง
  • ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
  • ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
  • ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
  • ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 นับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย
  • ไม่เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39


สิทธิที่ท่านจะได้รับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม

  • กรณีถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินชดเชยเท่าไหร่ ?

ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท

  • กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา ได้รับเงินชดเชยเท่าไหร่ ?

ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท

เมื่อผู้ประกันตนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (ลาออก) สามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยมิต้องเสียค่าใช้จ่าย (กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพและกรณีเสียชีวิต)

ประโยชน์ทดแทนทุกกรณีเมื่อมีสิทธิต้องยื่นเรื่องรับเงินภายใน 1 ปี เว้นแต่ กรณีว่างงาน ผู้ประกันตนจะต้องยื่นขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ต้องยื่นสิทธิภายใน 30 วัน หลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน หากยื่นสิทธิเกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง และหากยื่นสิทธิเกินวันที่จะได้รับสิทธิไปแล้ว จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน

หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม กรณีว่างงาน

  1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)

  2. บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

  3. รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)

  4. หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส.6-09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้

  5. หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)

  6. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน ผ่าน 11 ธนาคาร ดังนี้

  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
  • ธนาคารออมสิน (ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโปรแกรม)
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโปรแกรม)

***ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม สามารถอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ http://www.sso.go.th***

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook