เปิดประตู "ความคิดสร้างสรรค์" สู่ "งานดีไซน์" ระดับโลก

เปิดประตู "ความคิดสร้างสรรค์" สู่ "งานดีไซน์" ระดับโลก

เปิดประตู "ความคิดสร้างสรรค์" สู่ "งานดีไซน์" ระดับโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ธีรนพ หวังศิลปคุณ กราฟิกดีไซเนอร์ไทย ผู้ก่อตั้งบริษัทออกแบบกราฟิกนาม TNOP มีผลงานกับหลายแบรนด์ดัง เช่น Corbis Nike Coca-Cola และยังคว้ารางวัลมากมาย อาทิ RED DOT AWARD จากเยอรมนี

กับล่าสุดผลงานสร้างสรรค์ นิทรรศการ Collaboration ที่สยามเซ็นเตอร์ พร้อมมาเผยวิธีคิด แนวทางการสร้างสรรค์ ด้วยงานศิลป์ที่ใช่ สู่อาชีพที่รัก และทำอย่างไรให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล รายได้ ไม่เปิดเผย แต่อาจไม่น้อยกว่าหกหลัก ในแต่ละครั้ง

 

เริ่มต้นอย่างไร

ช่วงแรกผมเริ่มด้วยงานโฆษณา ที่ต้องคิดงานเป็นระบบ ซึ่งช่วยให้เราสามารถคิดอะไรที่เป็นคอนเซ็ปต์ แล้วสามารถไปแตกใช้ ทุกอย่างที่ออกมาจะต้องวิ่งเข้าหาคอนเซ็ปต์ ซึ่งเป็นจุดเด่นของงานโฆษณาที่ผมหยิบมาใช้กับงานกราฟิกดีไซน์

เราต้องถ่ายทอดสาร (Message) หรือมุมมองจากความคิดเราตลอดเวลา ซึ่งเป็นความท้าทายที่เราจะเอาแต่ศิลปะเข้ามาประยุกต์ในงานที่เป็นพาณิชย์ ไม่ใช่ศิลปะเพียงอย่างเดียว ทดลองไปเรื่อย ๆ ทั้งงานเล็ก งานใหญ่ ทุกงานไม่เหมือนกัน เราสามารถใส่ความเป็นเราเข้าไปได้ โดยใช้ภาษาที่ลูกค้าเข้าใจ คือ มีความรู้ด้านการตลาดด้วย เพื่อให้คลิกกัน โต้ตอบกลับไปได้ แล้วลูกค้าจะไว้ใจเรา

ขณะเดียวกันกราฟิกดีไซเนอร์ ก็ต้องพัฒนางานให้มีความใหม่อยู่เสมอ พยายามหาโอกาสใหม่ ๆ ให้ตัวเองตลอดเวลา อย่างวันนี้ กรณีสยามเซ็นเตอร์ เราเข้ามาทำในฐานะศิลปิน เราสามารถเอาการตลาดออกไปได้เลย แล้วสื่อสารจุดยืน และความเป็นตัวเราได้เต็มที่ เป็นงานที่กึ่งอาร์ต เป็นโปรเจ็กต์ที่ท้าทายเราตลอดเวลา

ความลับของเราคือ กลับไปค้นหางานเก่า ๆ ของศิลปินที่เป็นอาร์ติสต์จริง ๆ แล้วเกิดแรงบันดาลใจ ซึ่งบางทีมากกว่าการดูงานของดีไซเนอร์ด้วยกันเอง


ทำอย่างไรให้ลูกค้าซื้องานเรา

เพราะกราฟิกดีไซน์เป็นส่วนหนึ่งในเชิงพาณิชย์ เพราะถ้าเราอาร์ตเพียงอย่างเดียวมันจะขายแค่ความสวยงาม ลูกค้าซื้อเพื่อสะสม แต่เราต้องคำนึงถึงเงินทุน หรือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ

ในเรื่องความเป็นตัวเรา คิดว่าต้องค่อย ๆ ใส่ไป ทำทุกอย่างให้เกิดเป็นสัดส่วนที่ลงตัว และเหมาะสม เราจะทำงานอะไรก็ตามเราต้องไม่ลืมที่จะเอาความเป็นตัวเราใส่เข้าไปให้ปรากฏสู่สาธารณชน ไม่ว่าลูกค้าจะบีบอย่างไรก็ตามเราก็ต้องพยายามนำมันออกมา

ถ้าเราตาม ๆ เขาไปวันนึงเราอาจจะพบว่าเรายังไม่ได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำเลย ที่ทำมาเสียเวลาได้แค่เงิน แล้วเราจะหลุดวงโคจร จบมาตั้งเป้าหมายไว้ทุกสองปีว่าเราจะเป็นอย่างไร แล้วทำไป


มีเงินด้วย มีตัวตนด้วย

เงินอาจจะไม่ใช่คำตอบ หากเราวางแผนชีวิตเราได้ถูกต้อง เช่น เมื่อมีงานมาเราต้องคำนวณว่าอีกกี่เดือนข้างหน้าบัญชีเราจะเป็นอย่างไร ซึ่งผมจะมีเงินสำรองล่วงหน้าเอาไว้ 8 เดือน ถ้าเรามีเงินสำรองล่วงหน้า เพื่อเวลาที่ลูกค้าเข้ามาแล้วไม่ตรง เรายังสามารถอยู่ได้

และช่วง 8 เดือนเราก็มองหาลูกค้า ว่าลูกค้าที่เราอยากทำอยู่ที่ไหน เราจะไปหาเขาได้อย่างไร นี่คือการสร้างโอกาส บางคนไม่รู้ รอคนมาฟีด (Feed) ให้ มันไม่ใช่ เราอยากทำเราทำ อยากไปตรงไหน เราไปเลย เดินไปที่แกลเลอรี่ เสนองานเราเลย อยากโชว์

แต่ยอมรับว่าในไทยอาจจะต้องใช้เวลา เพราะรสนิยมยังเป็นเรื่องของศิลปินมีชื่อเสียง แต่ดีไซเนอร์จับกลุ่ม สร้างเพจขึ้นมา ผมคิดว่าโอกาสมีมากกว่า


พัฒนางานของตัวเองอย่างไร

เมื่อก่อนใช้เวลามาก เทคโนโลยีมีน้อย ตัวช่วยมีน้อย เราจึงอยู่กับมันนาน "Good Design อยู่ที่ Good Detail" ซึ่งมันจะสวยไปหมดทุกรายละเอียด ดังนั้นดีไซเนอร์ที่ดีจึงถูกแยกออกมา ซึ่งรุ่นใหม่เขาไม่ถูกฝึกมาด้วยวิธียาก เพราะมีเครื่องมือลัดที่เร็ว ผมยังนำเทคนิคเก่ามาใช้ หรือมีการผสมผสานวิธีเก่าและใหม่ ทำให้งานเราแตกต่าง มีมิติ เพราะปัจจุบันใคร ๆ ก็ใช้เครื่องมืดลัด (Tool) ได้ แต่คนที่มีฝีมือ จะสามารถสร้างงานที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจน ดีไซเนอร์เหมือน ผู้ที่เข้าไปจัดการกับข้อมูล หรือความยุ่งยากต่าง ๆ และสร้างให้เป็นโอกาส โดยใช้ศิลปะมาถ่ายทอด ให้คนเข้าใจง่าย และเร็วมากขึ้น


ปัญหา-อุปสรรค...ของอาชีพดีไซเนอร์

เรื่องลูกค้า ลูกค้าที่ทำงานยาก คือ เขาจะรู้ทุกอย่าง แต่อาจจะไม่ตรงกับแนวทางเรา ซึ่งจุดหมายหนึ่งมีเป็นร้อยวิธีไปให้ถึง ซึ่งเขามีอยู่จุดหนึ่ง แล้วเขาพยายามบังคับเรา ซึ่งดีไซเนอร์อาจจะมีวิธีใหม่ เส้นทางใหม่ อาจจะสร้างสิ่งใหม่ให้เขาขึ้นมาก็ได้ นี่คือวิถีของการยอมรับความแตกต่าง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook