Wizard Auto Care โอกาสและรายได้สำหรับคนทุ่มเท

Wizard Auto Care โอกาสและรายได้สำหรับคนทุ่มเท

Wizard Auto Care โอกาสและรายได้สำหรับคนทุ่มเท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ผมอาจไม่เก่งเรื่องการขยายแฟรนไชส์ แต่ผมเก่งเรื่องขยายสาขาของผมเอง" คุณไชยะ สุริยาพรพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.อาร์.โปรดักส์ & มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เจ้าของแบรนด์ "Wizard Auto Care" และ Magic by Wizard กล่าว

หลายปีก่อนแม้จะมีข่าวว่าบริษัทพร้อมขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ แต่ดูเหมือนว่าแนวทางนี้กลับไม่ใช่เส้นทางที่เหมาะกับธุรกิจของบริษัทและแนวคิดของคุณไชยะ


เห็นได้จากการเติบโตของแบรนด์ "Wizard Auto Care" มีมากกว่า 30 สาขา ไปได้เร็วกว่าสาขาแฟรนไชส์ที่ใช้แบรนด์ Magic by Wizard ซึ่งมีเพียง 5 สาขา ในกรุงเทพฯ เท่านั้น


เนื่องจากที่ผ่านมา พบปัญหาด้านการควบคุมแฟรนไชซีให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงความใส่ใจในการร่วมแคมเปญส่งเสริมการขาย จนเกิดผลกระทบกับลูกค้าที่ใช้บริการ
ในกรุงเทพฯ นั้น บริษัทไม่ได้มุ่งเน้นขยายสาขาในเชิงแฟรนไชส์มากนัก ยกเว้นสาขาต่างจังหวัด คุณไชยะให้เหตุผลว่า ช่วงเวลาหนึ่งที่ตัดสินใจทำแฟรนไชส์ เป็นจังหวะวิกฤตที่ขอกู้เงินจากธนาคารยาก จึงเปิดโอกาสให้คนมีเงินทุนร่วมทำธุรกิจ


"เรามีโนว์ฮาวก็เปิดโอกาสให้คนอื่นได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ ปัญหาที่ทุกบริษัทเจอและเกิดขึ้นเหมือนกัน คือ การจัดโปรโมชั่น ต้องมานั่งคิดว่าแฟรนไชซีเห็นด้วยกับเราหรือไม่ การนั่งประชุมไม่ได้แปลว่าทุบโต๊ะจบ ต้องขอความร่วมมือ เรื่องผลประโยชน์ที่ได้จากแฟรนไชส์ก็ต้องไปดู ผลิตภัณฑ์ที่อยากให้ใช้ของเรา เลี้ยวซ้ายขวาบ้างล่ะ เราอยากได้คนที่ตรงไปตรงมา ไม่ใช่เอาแบรนด์เราไปทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ"


ส่วนการตัดสินใจเปิดสาขาที่ประเทศลาว ใช้นโยบายบริษัทแม่ดำเนินการเองในลักษณะร่วมทุน แทนการแต่งตั้งมาสเตอร์แฟรนไชส์ รับผิดชอบเป็นเขตพื้นที่และกระจายสาขาแฟรนไชส์เอง

"รูปแบบนี้เราคิดหนัก เราไม่ได้ต้องการเงินก้อนแล้วเขาทำอะไรก็ได้ เราอยากไปตั้งหลักก่อน และขยายสาขาของเราเอง เพื่อพิสูจน์ว่าธุรกิจเดินไปได้จริง เพราะบริษัทแม่ทำเอง"



ยิ่งไปกว่านั้นคุณไชยะมีวิธีคิดน่าสนใจ แม้จะมีอุปสรรคในช่วงเริ่มต้นบ้าง แต่มีคำตอบชัดเจนว่าทำได้จริง เรียกว่านโยบายเดียวได้ประโยชน์หลายต่อ "Wizard Auto Care ขยายสาขาได้มากขึ้น พนักงานก้าวหน้าขึ้น และบริษัทมีกำไรมากขึ้น"


เขาใช้คำว่า "สาขาของผมเหมือนสาขาของแฟรนไชส์ น้อง ๆ ในสาขา เปรียบเหมือนเจ้าของคาร์แคร์" เป็นแนวคิดที่เขายึดหลักที่ว่า "คนทุกคนอยู่ร่วมกันถือเป็นหุ้นส่วนและเป็นแฟรนไชส์รูปแบบหนึ่ง"

"เป็นโอกาสของคนที่มีความสามารถ เขาอาจขาดเงินลงทุน โนว์ฮาว แต่มีความตั้งใจ ถ้าเปิดคาร์แคร์เอง จะมีรายได้น้อยกว่าอยู่ที่ผม แล้วมีความจำเป็นไหมที่คุณจะไปเปิดเอง สู้มาอยู่กับเรา เป็นทีมเดียวกัน ใช้ชื่อเดียวกัน โดยไม่ต้องใช้เงินเป็นก้อน ถ้าทำคาร์แคร์เอง ไม่มีแบรนด์ ลูกค้าเชื่อถือยาก คุณภาพสินค้าที่ซื้อจากภายนอกอาจไม่ดี การบริการลูกค้าสู้เราไม่ได้"

เริ่มต้นทดสอบความตั้งใจด้วยการฝึกงานในตำแหน่งผู้ช่วยศูนย์บริการ เมื่อแสดงความสามารถชัดเจนจะได้ปรับตำแหน่งเป็นผู้จัดการหรือหัวหน้าศูนย์บริการ (ตำแหน่งเดียวกันแต่เรียกตามขนาดของศูนย์บริการ) อาจใช้เวลาเพียงสองสัปดาห์หรือหนึ่งเดือน หรือมากกว่านั้นหากไม่มีพื้นฐานงานบริการ

รายได้ที่ได้รับเรียกว่า profit sharing เสมือนหุ้นส่วนธุรกิจที่ไม่ต้องมีเงินลงทุน ใช้เพียงความสามารถและความทุ่มเท
"คิดแบบนี้ทำให้ธุรกิจเดินเร็วกว่า ผู้จัดการสาขาจบป.4 หรือป.6 ผมไม่ว่าอะไร ถ้ามีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ เช่น ใช้คอมพิวเตอร์เป็น บริการลูกค้าได้ ติดต่อสื่อสารกับสำนักงานได้"


เรื่องรายได้รู้แล้วต้องปาดเหงื่อด้วยความตกใจ เมื่อผู้จัดการสาขา หรือหุ้นส่วนธุรกิจ มีเงินโอนเข้าบัญชีไม่น้อยกว่า 30,000 บาทต่อเดือน หรือสูงสุดใกล้ตัวเลข 70,000 บาท

 

สวยมาก! รีสอร์ทลงทุน 60 ล้านของ "ภูริ หิรัญพฤกษ์"
ศรีพันวา รีสอร์ท 6,000 ล้านของตระกูล "อิสสระ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook