เริ่มลงทุนกับหุ้น ควรทำยังไง?

เริ่มลงทุนกับหุ้น ควรทำยังไง?

เริ่มลงทุนกับหุ้น ควรทำยังไง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกสิ่งที่อยู่ในโลกมีหลายมิติให้มอง ถ้ามองคนละมุมก็จะได้ภาพที่แตกต่าง ผมคิดถึงภาพวาดในสมัยเด็ก ๆ ที่เราวาดครั้งแรกมักจะเป็นภาพแบน ๆ มีแต่ลายเส้นยุ่ง ๆ จนเมื่อโตขึ้นเราสามารถระบายแสงเงาให้ภาพมีมิติมากขึ้น หลังจากนั้น ก็เรียนรู้การวาดให้เห็นมิติตื้นลึก จนสามารถถ่ายทอดภาพวาดให้สะท้อน "สิ่งที่เป็นจริง" ได้ดียิ่งกว่าเดิม

การลงทุนก็เช่นกัน ผมคิดว่าการมองมิติไม่ครบมีอันตรายเป็นอย่างยิ่ง บางครั้งเรามองแค่มุมเดียว แล้วก็ใช้เพียงจินตนาการไปต่าง ๆ นานา

นักลงทุนรุ่นพี่เปรียบเทียบเหมือนนิทานเรื่องตาบอดคลำช้าง คนคลำงวง ก็คิดว่าช้างเหมือนงวง คนคลำงาก็คิดว่าช้างเหมือนงา เพื่อที่เราจะสามารถลงทุนได้ดียิ่งขึ้น เราควรมองเห็นภาพหุ้นให้ครบทุกมิติ และผมคิดว่าเราควรจะมองหุ้นให้ครบ 3 มิติดังนี้ครับ

มิติแรก

คือ มิติของคุณภาพกิจการในฐานะนักลงทุน สิ่งแรกที่เราควรประเมินกิจการคือดูว่าความแข็งแรงแค่ไหน เป็นบริษัทที่คุณภาพสูงอย่าง super company หรือเป็นบริษัทที่กำลังกระท่อนกระแท่นจากการแข่งขัน ถ้าเรามองหาคุณภาพกิจการที่คุณภาพสูง มักจะพบว่ากิจการนั้นจะมีสินค้าหรือบริการที่ดีกว่าคนอื่น หรือลูกค้าเห็นว่าสินค้ามีความคุ้มค่า มีตราสินค้าแข็งแรง มีลูกค้าที่จงรักภักดี มีต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่ง มีการบริหารงานที่ยอดเยี่ยม มีการเติบโตสูงกว่าการเติบโตของตลาดโดยรวม มีแฟรนไชส์แข็งแรง มีผู้บริหารที่มีความสามารถและมีความซื่อสัตย์ กิจการในตลาดหุ้นถ้าให้เรียงคะแนนกิจการที่มีคุณภาพเยี่ยม ผมคิดว่านักลงทุนที่มีประสบการณ์คงตอบคำถามนี้ได้ไม่ต่างกันเท่าไรนัก ถ้าเป็นกิจการอันดับกลาง ๆ ล่าง ๆ ลงไป ก็คงมีความเห็นต่างกันบ้าง ขึ้นอยู่กับความเข้าใจสภาวะของอุตสาหกรรมนั้น ๆ สรุปหน้าที่เบื้องต้นของนักลงทุน คือ เราต้องสามารถเรียงลำดับคุณภาพของกิจการ ตามสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้ มีความสามารถในการ "มอง" ความแข็งแรงของกิจการได้อย่างถูกต้อง

มิติที่ 2

คือ มิติของการประเมินคุณค่าของกิจการ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า และเป็นสิ่งที่ยากยิ่งขึ้นกว่ามิติแรก เพราะเราต้องนำสิ่งที่เราเห็นมาประเมินในมุมของตัวเลข ประเมินในมุมของมูลค่าการแปรตัวแปรต่าง ๆ มาเป็นมูลค่า ถือเป็นศิลปะขั้นที่สูงขึ้น เราควรจะสามารถเข้าใจวิธีการประเมินมูลค่าของกิจการออกมาเป็นตัวเลขได้ ไม่ว่าจะเป็นการประเมินแบบไหนก็ตาม การประเมินอย่างง่าย ๆ เช่น ใช้ P/E ratio หรือประเมินด้วยวิธีส่วนลดกระแสเงินสด ก็เป็นตัวเลือกให้เราได้เลือกใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ การประเมินมูลค่าที่ชัดเจนยิ่งขึ้นจะส่งผลให้เราสามารถเปรียบเทียบการลงทุน ในกิจการที่แตกต่างกันได้ดียิ่งขึ้น และถ้าเป็นการลงทุนอุดมคติแล้ว เราต้องเรียงลำดับหุ้นที่มีคุณค่าสูง คือหุ้นที่มีส่วนลดเมื่อเทียบกับราคาได้ทั้งหมด


มิติที่ 3

คือ มิติของเวลา เป็นมิติที่ดูยากที่สุด เพราะ 2 มิติแรกเป็นการมองภาพสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าคือสิ่งที่ทุก ๆ คนมองเห็นเหมือนกัน แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามเป็นว่ากิจการในอนาคต 5 ปี 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร มูลค่าจะเป็นเท่าไร ก็ย่อมส่งผลให้คำตอบหรือมุมมอง

ที่ได้แตกต่างกัน ยิ่งขึ้น นอกไปจากนั้น การลงทุนที่ดีคือการมองอนาคตให้ได้ไกลกว่าคนอื่น การมีวิสัยทัศน์ถึงสิ่งที่จะเป็นไปในอนาคตจึงส่งผลต่อผลลัพธ์ในการลง ทุนอย่างมาก ถ้าเราสามารถมองเห็นหุ้นที่มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ ได้ยาวนานแค่ไหน ก็ยิ่งดีเท่านั้น เราจะสามารถพัฒนาการมองมิติของเวลาได้จากการมองภาพรวม จากการต่อภาพหลาย ๆ อย่างเข้าหากันได้ หรือเรากลับไปย้อนอ่านประวัติศาสตร์ในอดีตก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่ว่า ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเสมอ

หน้าที่ของนักลงทุน คือ การจัดหาส่วนผสมทั้ง 3 อย่างให้เหมาะสมที่สุด หุ้นบางตัวมีมิติแรกที่แข็งแรง มีคุณภาพกิจการสูงมาก แต่สำหรับมิติที่ 2 คือ คุณค่าของกิจการกลับไม่คุ้มค่ากับการลงทุน คือราคาหุ้นแพงมาก ลักษณะแบบนี้ก็อาจจะไม่ใช่การลงทุนที่ดี หรือบางกิจการมีมิติด้านคุณค่าและคุณภาพของกิจการที่ดี แต่ถ้ามองด้านลึกคือมิติของเวลาแล้ว หุ้นอาจจะไม่แข็งแรงในระยะยาว การลงทุนแบบนั้นอาจจะทำให้เราเหนื่อย

หุ้นที่ผมชอบ คือ หุ้นที่เล่นกับมิติที่ 3 หรือมิติแห่งเวลาให้มากที่สุด กิจการต้องมีมิติเวลาที่แข็งแรง คือ ยิ่งยาว ยิ่งนาน ยิ่งดี เพราะมันจะช่วยให้กิจกรรมการลงทุนเราไม่ต้องใช้เวลามากนัก

และการ มองยาวกว่า มองเห็นไกลกว่า ย่อมทำให้เราค้นพบกิจการที่กำลังจะเป็นกิจการที่มีมิติของคุณภาพกิจการที่ แข็งแรงมากขึ้นในอนาคต สำหรับคุณค่าของกิจการนั้น เราไม่จำเป็นต้องไปต่อราคาหุ้นกับคนอื่น ถ้าเรามีมิติของเวลาต่างกัน เหมือนเล่นคนละเกม และยิ่งหุ้นตัวนั้นมีมิติทั้ง 3 สมบูรณ์แบบแล้ว

การลงทุนครั้งนั้นจะพาเราเข้าสู่มิติใหม่ของชีวิตครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook