เปิดแนวเวนคืน "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" จาก "แยกแคราย" ยันปลายทาง "มีนบุรี"

เปิดแนวเวนคืน "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" จาก "แยกแคราย" ยันปลายทาง "มีนบุรี"

เปิดแนวเวนคืน "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" จาก "แยกแคราย" ยันปลายทาง "มีนบุรี"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชัดเจนแล้ว โมเดลรถไฟฟ้าสายสีชมพู จาก "แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี"

หลัง "รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย" ทุ่มเม็ดเงินกว่า 30 ล้านบาท จ้าง "บจ.ทีม คอนซัลติ้งฯ" ทบทวนใหม่อีกรอบก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคาะในเดือนตุลาคมนี้

"ดร.สุรศักดิ์ ทวีศิลป์" ผู้เชี่ยวชาญระบบรถไฟฟ้า บริษัท ทีม คอนซัลติ้งฯ ระบุว่า รูปแบบก่อสร้างเป็นโมโนเรล หรือรถไฟฟ้ารางเดี่ยว

ออกแบบเป็นโครงสร้างยกระดับสูงจากพื้น 15 เมตรตลอดเส้นทาง วิ่งไปตามเกาะกลาง 3 ถนนหลัก "ติวานนท์-แจ้งวัฒนะ-รามอินทรา"




แนวเส้นทาง+ระยะทางยังคงเท่าเดิม 34.5 กิโลเมตร มีต้นทางอยู่หน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่)

วิ่งเข้าถนนติวานนท์แล้วเลี้ยวขวาบริเวณห้าแยกปากเกร็ด ผ่านถนนแจ้งวัฒนะ ตรงไปยังถนนรามอินทรา และมาปลายทางที่มีนบุรี


เปิดโผ 30 สถานีใหม่

ทั้งนี้ทั้งนั้น มีการปรับขยับตำแหน่งสถานีใหม่เพิ่มอีก 6 สถานี จาก 24 เป็น 30 สถานี รองรับการเติบโตของเมือง ได้แก่

1.สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ตั้งอยู่บน ถ.รัตนาธิเบศร์ จะมีสกายวอล์กเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง

2.สถานีแคราย ถ.ติวานนท์ ใกล้โรงพยาบาลโรคทรวงอก ระหว่างซอยติวานนท์ 13 กับซอย 15

3.สถานีสนามบินน้ำ ถ.ติวานนท์ ใกล้แยกสนามบินน้ำ ระหว่างแยก ถ.สนามบินน้ำกับซอยติวานนท์ 35

4.สถานีสามัคคี ถ.ติวานนท์ ใกล้แยกเข้า ถ.สามัคคี ระหว่างคลองบางตลาด กับ ถ.สามัคคี

5.สถานีกรมชลประทาน ถ.ติวานนท์ ใกล้โรงเรียนชลประทานวิทยา ระหว่างซอยติวานนท์ 4 กับซอย 6

6.สถานีปากเกร็ด อยู่บริเวณหัวมุมห้าแยกปากเกร็ด

7.สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ถ.แจ้งวัฒนะ ใกล้แยกถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ตัดกับ ถ.แจ้งวัฒนะ

8.สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 ตั้งอยู่บน ถ.แจ้งวัฒนะ ใกล้ห้างเซ็นทรัล พลาซา

9.สถานีเมืองทองธานี ใกล้กับถนนเข้าเมืองทองธานีและสะพานข้ามแยกเมืองทองธานี

10.สถานีศรีรัช บริเวณปากทางเข้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี

11.สถานีเมืองทอง 1 บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ 14 (ซอยหมู่บ้านเมืองทอง 1)

12.สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ หน้ากรมการกงสุลและการสื่อสาร 13.สถานีทีโอที อยู่ระหว่างซอยแจ้งวัฒนะ 5 กับซอย 7


จุดตัดสายสีแดง-สีเขียว

14.สถานีหลักสี่ ใกล้ศูนย์การค้าไอทีสแควร์ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต)

15.สถานีราชภัฏพระนคร หน้าห้างแม็กซ์แวลูและ ม.ราชภัฏพระนคร

16.สถานีวงเวียนหลักสี่ ตั้งอยู่บน ถ.รามอินทรา ใกล้วงเวียนอนุสาวรีย์หลักสี่ เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่)

17.สถานีรามอินทรา 3 อยู่ระหว่างซอยรามอินทรา 3 กับซอย 5 ใกล้ห้างเซ็นทรัลรามอินทรา และคอนโดมิเนียมลุมพินีเพลส

18.สถานีลาดปลาเค้า ใกล้ทางเข้า ถ.ลาดปลาเค้า

19.สถานีรามอินทรา 31 ใกล้ฟู้ดแลนด์ ระหว่างรามอินทราซอย 29 และ 31

20.สถานีมัยลาภ อยู่ระหว่างรามอินทราซอย 12 กับซอย 14

21.สถานีวัชรพล ใกล้ซอยวัชรพล ช่วงรามอินทราซอย 59 กับซอย 61 อนาคตจะเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทา

22.สถานีรามอินทรา 40 อยู่ระหว่างรามอินทราซอย 40 กับซอย 42


สถานีปลายทาง "มีนบุรี"

23.สถานีคู้บอน อยู่บริเวณทางแยกนวมินทร์ หรือรามอินทรา กม.8 ระหว่างรามอินทราซอย 46 กับซอย 48 ใกล้แยกคู้บอน

24.สถานีรามอินทรา 83 ใกล้โรงพยาบาลสินแพทย์

25.สถานีวงแหวนตะวันออก หน้าศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์

26.สถานีนพรัตนราชธานี ใกล้แยกเข้าสวนสยาม

27.สถานีบางชัน ใกล้ซอยรามอินทรา 109 และซอย 115

28.สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ใกล้กับโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ

29.สถานีตลาดมีนบุรี ตั้งอยู่บน ถ.สีหบุรานุกิจ ใกล้ตลาดมีนบุรี 

30.สถานีมีนบุรี ตั้งอยู่บน ถ.รามคำแหงซอย 192 ใกล้แยกร่มเกล้า เป็นสถานีปลายทาง เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงบางกะปิ-มีนบุรี) ซึ่งจะมีจุดจอดแล้ว (Park and Ride) จอดรถได้ 2,000 คัน และศูนย์ซ่อมบำรุงบนพื้นที่ 280 ไร่


เวนคืน 5 จุดใหญ่

ขณะที่การเวนคืนที่ดิน "ดร.สุรศักดิ์" บอกว่า ตลอดเส้นทาง มี 5 จุดใหญ่ คือ

1.บริเวณห้าแยกปากเกร็ด ก่อนเลี้ยวขวาเข้า ถ.แจ้งวัฒนะ ปัจจุบันเป็นสนามฟุตบอลเก่า เพื่อสร้างสถานีปากเกร็ด มีพื้นที่เวนคืน 7,155 ตารางเมตร

2.บริเวณสะพานข้ามแยกเมืองทองธานี เพื่อหลีกเลี่ยงสะพานข้ามแยกของกรมทางหลวง (ทล.) มีพื้นที่เวนคืน 7,800 ตารางเมตร

3.บริเวณ ถ.วิภาวดีฯ ข้ามแยกหลักสี่ เพื่อลดระดับโครงสร้างลอดใต้โทลล์เวย์ มีพื้นที่เวนคืนรวม 7,300 ตารางเมตร

4.บริเวณวงเวียนหลักสี่ มีพื้นที่เวนคืนรวม 7,500 ตารางเมตร กว้างด้านละ 4 เมตร ตั้งแต่หน้า ม.ราชภัฏพระนคร ไปถึง ป.กุ้งเผา

5.บริเวณมีนบุรี เวนคืนพื้นที่กว่า 280 ไร่ เพื่อสร้างที่จอดรถ และศูนย์ซ่อมบำรุง ส่วนบริเวณอื่น ๆ


นอกเหนือจากนี้จะมีเวนคืนเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อสร้างจุดขึ้น-ลงของสถานีทั้ง 30 สถานีที่ดินแพง-ค่าเวนคืนพุ่ง 1 เท่า

ไม่ใช่แค่จำนวนสถานีที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของต้นทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน "ดร.สุรศักดิ์" เฉลยว่า เงินลงทุนโครงการเพิ่มขึ้นจากเดิมที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้วอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท

ล่าสุดค่าก่อสร้างแตะ 5.4 หมื่นล้านบาทโดยมีหลายปัจจัยที่ผลักให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถานีใหม่ 6 สถานี ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ค่าแรง 300 บาท และราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ที่ประกาศใช้เมื่อ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีผลทำให้ค่าชดเชยที่ดินเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากเดิมประเมินไว้ 2 พันล้านเป็น 4 พันล้านบาท


ชงเข้า ครม.ปู 2 เดือน ต.ค.นี้

ส่วนรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมนั้น ทางบริษัทที่ปรึกษาเสนอแนะให้ รฟม.เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด และว่าจ้างเอกชนออกแบบ ก่อสร้างงานโยธา จัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าในรูปแบบ Design&Build (ออกแบบไปพร้อมก่อสร้าง)

รวมบำรุงรักษาในช่วงแรก กับทั้งจ้างเอกชนเป็นผู้ให้บริการเป็นระยะเวลา 5-10 ปี ชำระค่าจ้างตามปริมาณการเดินรถเป็นรายปี

จากผลสรุปทั้งหมดนี้ "ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล" ผู้ว่าการ รฟม. เตรียมเสนอให้ "ครม.ปู 2" อนุมัติในเดือนตุลาคมนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook