ดีเดย์ 1 ม.ค.56 ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300บาท แน่นอน

ดีเดย์ 1 ม.ค.56 ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300บาท แน่นอน

ดีเดย์ 1 ม.ค.56 ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300บาท แน่นอน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คณะกรรมการค่าจ้างกลางเคาะ 300 บาท อีก 70 จังหวัด เริ่ม 1 ม.ค.56 ยันไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ อ้างจีดีพีโตร้อยละ 4.2 เร่งรวบรวมข้อเสนอลดผลกระทบเอสเอ็มอีชงรัฐบาลขยายมาตรการช่วยเหลือเฟสสอง


เมื่อวันที่ 5 กันยายน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ค่าจ้างกลาง แถลงผลการประชุมบอร์ดค่าจ้างกลางว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบยืนยันตามมติเดิมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554

ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม 2556 และให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่วันละ 300 บาท เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2558

"สาเหตุที่บอร์ดค่าจ้างกลางยืนยันมติเดิม เนื่องจากได้ติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และแรงงาน ภายหลังปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในทุกจังหวัดเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5

และมี 7 จังหวัดที่อัตราค่าจ้างปรับเป็นวันละ 300 บาท ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และภูเก็ต พบว่าไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะว่า

 

1.ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 2 ถึงร้อยละ 4.2 สูงกว่าไตรมาสแรกของปีนี้

2.ในรอบ 7 เดือน พบว่ามีนักลงทุนต่างชาติเสนอโครงการขอรับเงินส่งเสริมการลงทุน 829 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เงินลงทุนรวม 3.3 แสนล้านบาท

3.อัตราเงินเฟ้อในรอบ 7 เดือน ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.92 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

4.อัตราการว่างงานไม่สูงขึ้น โดยช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน อัตราร้อยละ 0.8" นพ.สมเกียรติ กล่าว และว่า

5.การเลิกจ้างไม่เพิ่มขึ้น โดยช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน มีสถานประกอบการเลิกจ้างเพียง 2 แห่ง ลูกจ้าง 144 คน

6.ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ได้รับผลกระทบร้อยละ 80 แต่ในจำนวนนี้ร้อยละ 99 ปรับตัวได้

7.ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ผลิตภาพแรงงานมีการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 สูงกว่าช่วง 10 ปีก่อน

8.การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำช่วยลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และกระจายรายได้ที่เป็นธรรม

9.ทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ภายใน 2 สัปดาห์จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

นพ.สมเกียรติยังกล่าวถึงมาตรการรองรับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างใน 70 จังหวัด ว่า จะรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่างๆ

โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้มีการจัดสัมมนารับฟังข้อเสนอแนะอย่างต่อเนื่อง และมีข้อเสนอต่างๆ เช่น การขยายเวลาลดเงินสมทบประกันสังคมออกไปอีก 1 ปี

การจัดตั้งกองทุนเงินกู้ จำนวน 1-2 หมื่นล้านบาท ให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอี โดยข้อเสนอแต่ละเรื่องจะเสนอต่อไปยังกระทรวงเจ้าของเรื่องเพื่อพิจารณาต่อไป

รวมทั้งจะรวบรวมมาตรการต่างๆ เสนอเป็นแพคเกจเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้มาตรการรองรับออกมาทันในวันที่ 1 มกราคม 2556 ต่อไป

 

 

ส่อแววเลื่อน! ค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ

ว่างงานเพิ่มหมื่นราย หลังขึ้นค่าแรง 300

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook