แบงก์ชาติโต้ข่าวลือในโซเชียล ระบุ 9 แสนล้านแค่ "ขาดทุนทางบัญชี"

แบงก์ชาติโต้ข่าวลือในโซเชียล ระบุ 9 แสนล้านแค่ "ขาดทุนทางบัญชี"

แบงก์ชาติโต้ข่าวลือในโซเชียล ระบุ 9 แสนล้านแค่ "ขาดทุนทางบัญชี"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบงก์ชาติโต้เพจเฟซบุ๊ก "ไพศาล พืชมงคล" ติง "ผลขาดทุน ธปท. ปี 60 เกือบ 9 แสนล้าน" ยันเป็น "ผลขาดทุนจากการตีราคา" เมื่อเงินบาทแข็งค่า ธปท.จะขาดทุน ในทางกลับกัน เมื่อเงินบาทอ่อนค่า ธปท.จะมีกำไร วอนประชาชนคลายกังวล ประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศมั่นคง ไม่ซ้ำรอยปี 2540 แน่นอน

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับผลขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่แชร์กันตาม Social Media อาจสร้างความตกใจให้กับผู้อ่าน เพราะมีข้อเท็จจริงและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหลายประการ

ธปท. ขอเรียนข้อเท็จจริง ดังนี้ 

1. ธปท. ไม่ได้เก็งกำไรค่าเงิน 

ธปท. เข้าไปซื้อเงินตราต่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินควร จนอาจจะเป็นผลเสียต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง เมื่อ ธปท. ซื้อเงินตราต่างประเทศแล้ว ก็บริหารเงินสำรองระหว่างประเทศด้วยความรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาว และเปิดเผยตัวเลขฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศทุกสัปดาห์

2. เงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยมาก ทั้งจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงต่อเนื่องมาหลายปี และการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ

3. เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น จึงเกิดการขาดทุนจากการตีราคา (Valuation Loss) หรือการขาดทุนทางบัญชี และในทางตรงข้าม ถ้าเงินบาทอ่อนค่าลง เงินสำรองฯ ที่ตีมูลค่าเป็นเงินบาทก็จะเพิ่มขึ้น (Valuation Gain) หรือมีกำไรทางบัญชี

โดยปกติเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ค่าเงินมีแนวโน้มแข็งขึ้น ธนาคารกลางก็มักจะขาดทุนจากการตีราคา แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ค่าเงินอ่อนค่าลง ส่งผลให้ธนาคารกลางมักจะมีกำไรจากการตีราคา

ณ สิ้นปี 2560 ธปท. มีเงินสำรองระหว่างประเทศรวมฐานะการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าประมาณ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นหนึ่งบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ ธปท. จะขาดทุนจากการตีราคาทันที 2.4 แสนล้านบาท ในทางตรงกันข้าม ถ้าเงินบาทอ่อนค่าลงหนึ่งบาท ธปท. ก็จะมีกำไรจากการตีราคาทันที 2.4 แสนล้านบาท โดยไม่ต้องทำอะไรเลย

4. เงินสำรองระหว่างประเทศต้องเก็บอยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยมีเงินตราต่างประเทศเพียงพอสำหรับรองรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การไปลงทุนในต่างประเทศของคนไทยและเป็นกันชนรองรับการไหลออกของเงินทุน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากทั้งนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ และปัจจุบันเงินสำรองฯ ของไทยอยู่ในระดับมั่นคงเพียงพอ ซึ่งต่างจากสถานการณ์ในช่วงปี 2540

5. เงินสำรองฯ ที่ ธปท. ซื้อเข้ามายังอยู่ในรูปของเงินตราต่างประเทศ ไม่ได้เสื่อมคุณภาพลงเมื่อเวลาผ่านไปเหมือนกับสินค้าเกษตรหรือสินค้าโภคภัณฑ์ที่บทความนำไปเปรียบเทียบ 

มูลค่าของเงินสำรองระหว่างประเทศในรูปของเงินบาทจะเปลี่ยนแปลงได้ทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงตามอัตราแลกเปลี่ยน การขาดทุนจากการตีราคาทางบัญชี ไม่ได้แปลว่าเงินสำรองฯ ที่ ธปท. ถืออยู่จะด้อยค่าลงเรื่อยๆ จนสร้างปัญหาให้แก่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ คำชี้แจงจาก ธปท. ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีการเผยแพร่บทความของ "สิริอัญญา" ผ่านเพจเฟซบุ๊กของ "Paisal Puechmongkol" โดยระบุถึง ผลขาดทุนในการแสดงผลดำเนินงานของ ธปท. ในปี 2560 ว่า ขาดทุนมากถึง 9 แสนล้านบาท พร้อมเปรียบเทียบว่ามากกว่าผลขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สำหรับ "สิริอัญญา" เป็นนามปากกาของนายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย ผู้มีอาชีพเป็นทนายความ และนักบริหารเจ้าของบริษัท ธรรมนิติ จำกัด (มหาชน) อดีตนักเขียนประจำคอลัมน์ "ข้างประชาราษฎร์" ของหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน ปัจจุบันนายไพศาล เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ประจำรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook