ดัชนีดาวโจนส์ปิดเพิ่มขึ้น42.21จุด

ดัชนีดาวโจนส์ปิดเพิ่มขึ้น42.21จุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดเมื่อคืนนี้ (11 ต.ค.)ที่ 22,872.89 จุด เพิ่มขึ้น 42.21 จุด หรือ +0.18% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,555.24 จุด เพิ่มขึ้น 4.60 จุด หรือ +0.18% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,603.55 จุด เพิ่มขึ้น 16.30 จุด หรือ +0.25%  โดยดัชนีดาวโจนส์, S&P500 และ Nasdaq ต่างก็ปิดทำนิวไฮ หลังจากรายงานการประชุมประจำเดือนก.ย.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดมีความเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นเงินเฟ้อ โดยเจ้าหน้าที่หลายคนมองว่าเฟดควรประเมินสถานการณ์เงินเฟ้อก่อนที่จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ ซึ่งรายงานดังกล่าวได้ช่วยลดกระแสคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค. ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตารายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึง เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค และซิตี้กรุ๊ป
ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทำนิวไฮอีกครั้งเมื่อคืนนี้ หลังจากเฟดได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 19-20 ก.ย.เมื่อวานนี้ โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดมีความเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นเงินเฟ้อ โดยเจ้าหน้าที่เฟดจำนวนหนึ่งยังคงมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ถือเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล หากแนวโน้มเศรษฐกิจระยะกลางยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดบางคนได้แสดงความเชื่อมั่นว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐจะปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เฟดอีกจำนวนหนึ่งกล่าวว่า การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น ควรพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นหลัก โดยเจ้าหน้าที่บางคนมองว่า เฟดยังไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะส่งสัญญาณว่ามีแนวโน้มที่จะดีดตัวขึ้นสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ในระยะกลาง
นอกจากนี้ รายงานการประชุมยังระบุว่า เจ้าหน้าที่หลายคนได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายของเฟด และแนะนำให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ประเมินสถานการณ์เงินเฟ้อก่อนที่จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ย., ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ย., ยอดค้าปลีกเดือนก.ย. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนต.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook