เทคนิคการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอย่างง่ายๆ

เทคนิคการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอย่างง่ายๆ

เทคนิคการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอย่างง่ายๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ก่อนที่เราจะไปเรียนรู้ว่าเทคนิคในการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนมีอะไรบ้างนั้น เรามารู้กันก่อนดีค่ะว่า ความเสี่ยงในการลงทุนคืออะไร และทำไมเราต้องกระจายความเสี่ยง

ความเสี่ยงในการลงทุน คือ โอกาสที่เราจะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่เราคาดหวังไว้จากการลงทุนนั้นๆ ซึ่งเราสามารถแบ่งความเสี่ยงได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. ความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการทำกำไรของบริษัท อันเป็นเหตุให้ผู้ลงทุนต้องสูญเสียรายได้ หรือเงินลงทุน ประกอบด้วย ความเสี่ยงทางการเงิน ความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการ และความเสี่ยงในระดับอุตสาหกรรม

2. ความเสี่ยงทางตลาด (Market Risk) คือ การสูญเสียเงินลงทุนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ลงทุน ซึ่งเป็นไปตามอุปสงค์ และอุปทานของตลาด

3. ความเสี่ยงในอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในอัตราดอกเบี้ยในตลาด

4. ความเสี่ยงจากอำนาจซื้อ (Purchasing Power Risk) คือ ความเสี่ยงทีเกิดจากอำนาจซื้อของเงินที่ลดลง ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่ออำนาจซื้อ คือ ภาวะเงินเฟ้อ

เหตุผลที่เราต้องกระจายความเสี่ยงก็เพราะว่า การลงทุนแต่ละประเภทมีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน บางประเภทมีความเสี่ยงต่ำ ก็ทำให้อาจได้ผลตอบแทนที่ต่ำ ซึ่งอาจจะไม่ชนะเงินเฟ้อ เราก็เลยอยากได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ดังที่เราอาจจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “High Risk, High Expected Return” หรือ เมื่อเราลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้น เราย่อมคาดหวังอัตราผลตอบแทนคาดหวังที่สูงขึ้น

600x600px_02102017

แต่อย่างที่เคยกล่าวไว้เมื่อตอนที่แล้วว่า “ไม่มีสินทรัพย์ใดที่จะชนะตลาดตลอดไป และไม่สินทรัพย์ใดที่จะแพ้ตลาดตลอดไป” การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ก็คือ “การไม่ใส่ไข่ไว้ในตะกร้าเดียวกัน” และเพื่อลดความผันผวนระหว่างทางของการลงทุน แต่ในระยะยาวแล้ว ผลตอบแทนที่ได้รับนั้น ต้องเพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายในการลงทุนด้วย เราจะกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนได้อย่างไรบ้าง

1. กระจายภายในสินทรัพย์ลงทุนประเภทเดียวกัน เช่น ถ้าลงทุนในหุ้นก็ควรจะกระจายไปในหุ้นหลายๆ ตัว หลายๆ อุตสาหกรรม อย่าถือหุ้นแค่ตัวเดียว หรืออุตสาหกรรมเดียว เพราะหากความสามารถในการทำกำไรของหุ้นที่เราลงทุนเปลี่ยนไป เราอาจมีโอกาสขาดทุนได้

2. กระจายข้ามประเภทสินทรัพย์ เป็นการกระจายการลงทุนที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ด้วยเหตุผล “ไม่มีสินทรัพย์ใดที่จะชนะตลาดตลอดไป และไม่สินทรัพย์ใดที่จะแพ้ตลาดตลอดไป” ซึ่งนิได้ยกตัวอย่างการกระจายลงทุนแบบนี้ไปบ้างเมื่อตอนที่แล้ว

3. กระจายข้ามประเทศ ในบางครั้งการลงทุนในต่างประเทศ ก็อาจทำให้เรามีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีขึ้นกว่าการลงทุนในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามอย่าลืมพิจารณาถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย


อย่างไรก็ดี ขอทิ้งท้ายไว้ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” ด้วยนะคะ

สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวางแผนการเงิน สามารถส่ง email มาได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ

ผู้เขียน โค้ชนิ นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® เจ้าของผลงาน pocket book ‘เปลี่ยนชีวิตสู่ความมั่งคั่งด้วยการวางแผนการเงิน’ ‘มีเงินล้านด้วยการวางแผนการเงิน’ ‘อยากรวยต้องรู้จักวางแผนการเงิน’ ‘รวยทะลุเป้า’ ‘12 ขั้นตอนสู่...นักวางแผนการเงิน’ และ ‘ขายทะลุเป้า เมื่อขายแบบที่ปรึกษา’

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook