5 เรื่องเข้าใจง่าย บริจาคช่วยน้ำท่วม เพื่อขอลดหย่อนภาษี 1.5 เท่า

5 เรื่องเข้าใจง่าย บริจาคช่วยน้ำท่วม เพื่อขอลดหย่อนภาษี 1.5 เท่า

5 เรื่องเข้าใจง่าย บริจาคช่วยน้ำท่วม เพื่อขอลดหย่อนภาษี 1.5 เท่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รัฐบาลเตรียมจัดงาน “ประชารัฐร่วมใจ ใต้ร่มพระบารมี” เปิดรับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคเหนือและภาคอีสาน ในวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคมนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมบริจาคเงินสมทบเข้ากองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี บัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาทำเนียบรัฐบาล เลขที่บัญชี 067-0-06895-0 โดยผู้ที่ร่วมบริจาคครั้งนี้จะได้ลดหย่อนภาษี 1.5 เท่า ซึ่งมากกว่าครั้งก่อน ๆ ที่ได้เพียง 1 เท่า

วันนี้เราจะมาอธิบายง่าย ๆ เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ถึงการขอลดหย่อนภาษีจากการบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ว่าต้องบริจาคเมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร มาดูกัน

1.ลดหย่อนภาษีได้ในปีไหน

เงินบริจาคนี้จะสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2560 ซึ่งจะยื่นรายการภายในเดือนมกราคม-มีนาคม 2561

2.บริจาคเงินช่วยเหลือน้ำท่วม ช่วงไหนถึงจะนำมาลดหย่อนภาษีได้

-ผู้ประสบอุทกภัยในภาคใต้ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2560

-ผู้ประสบอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม - 31 ตุลาคม 2560

3.บริจาคหน่วยงานไหนถึงได้สิทธิลดหย่อน

-เป็นการบริจาคให้แก่ผู้รับบริจาคที่เป็น ส่วนราชการ มูลนิธิ องค์การหรือสถานสาธารณกุศลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

-ตัวแทนรับบริจาคที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ที่ได้ขึ้นทะเบียนแจ้งขอเป็นตัวแทนรับบริจาคกับกรมสรรพากร เช่น สถานีโทรทัศน์ หรือสถานีวิทยุ

4.ผู้บริจาคมีสิทธิหักลดหย่อนหรือหักรายจ่าย ได้เท่าไร

-บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงิน สามารถนำจำนวนเงินดังกล่าวไปหักลดหย่อนในการคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ 1.5 เท่า แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อน เช่น บริจาค 100 บาท สามารถหักค่าลดหย่อนได้ 1.5 เท่า คือ (100x1.5) เท่ากับ 150 บาท ถ้าเงินได้สุทธิของเราต้องเสียภาษีอยู่ในขั้น 5% เท่ากับว่าจะได้คืนภาษี 5% ของ 150 บาท คือ 7.5 บาท แต่หากฐานภาษีอยู่ที่ 30% เท่ากับว่าจะได้คืนภาษี 30% ของ 150 บาท คือ 45 บาท

-บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สิน สามารถนำจำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาคไปหักเป็นรายจ่ายได้ 1.5 เท่า แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์แล้วต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ

5.หลักฐานการขอลดหย่อนภาษี มีอะไรบ้าง

-หลักฐานการรับเงิน หรือทรัพย์สิน ที่มีข้อความระบุว่าเป็นโครงการหรือเป็นการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ โดยอาจระบุช่วงเวลาที่เกิดอุทกภัยไว้ด้วย

-หลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารในช่วงระยะเวลาที่เกิดอุทกภัย ซึ่งพิสูจน์ผู้โอนและผู้รับโอนได้

มาตรการภาษีดังกล่าวนอกจากจะเป็นการช่วยบรรเทาภาระภาษีแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้มีการบริจาคเพื่อระดมความช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย และทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมในเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศขณะนี้ สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรในพื้นที่และศูนย์สารนิเทศสรรพากร โทร.1161

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook