"สรรพสามิต" แจงประเด็นร้อน โครงสร้างภาษีรถยนต์-ฐานภาษีใหม่

"สรรพสามิต" แจงประเด็นร้อน โครงสร้างภาษีรถยนต์-ฐานภาษีใหม่

"สรรพสามิต" แจงประเด็นร้อน โครงสร้างภาษีรถยนต์-ฐานภาษีใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สัมภาษณ์

ปี 2559 จะเป็นปีแห่งความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของกรมสรรพสามิต เพราะมีทั้งการบังคับใช้โครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ ที่จะมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2559 เป็นต้นไป และร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต ที่เปลี่ยนไปใช้ฐานราคาขายปลีกแนะนำ จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่งจะมีผลต่อฐานภาษีรถยนต์และสินค้าต่าง ๆ อีกระลอก

ที่ผ่านมาผู้ผลิตรถยนต์บางค่ายจึงเสนอให้รัฐบาลชะลอการนำ "ราคาขายปลีกแนะนำ" มาใช้คำนวณภาษี เพราะกังวลผลกระทบจะเกิดขึ้น 2 เด้ง สุดท้ายภาครัฐจะมีแนวปฏิบัติอย่างไร "สมชาย พูลสวัสดิ์" อธิบดีกรมสรรพสามิตให้คำตอบทุกประเด็นข้อสงสัย

- แนวโน้มการเก็บภาษีสรรพสามิตปีงบประมาณ 2559

เราได้รับเป้าหมายจัดเก็บรายได้ตามเอกสารงบประมาณที่ 496,000 ล้านบาท เพิ่มจากที่เก็บได้จริงในปีงบฯ 2558 ประมาณ 12% โดยอยู่บนสมมุติฐานว่า ภาษีน้ำมันดีเซลต้องปรับขึ้นอีก 1 บาท/ลิตร จาก 4.20 บาท/ลิตรในขณะนี้ อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เป็นนโยบาย และขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีสัญญาณว่าจะปรับขึ้นหรือไม่ อาจด้วยภาวะเศรษฐกิจจึงยังไม่อยากเพิ่มภาระให้ประชาชน ในฐานะกรมจัดเก็บภาษีก็พร้อมปฏิบัติตามนโยบาย

ปรับหรือไม่ เราไม่กังวล เพราะถ้าดูจากที่มีการพยากรณ์เศรษฐกิจแต่ละสำนัก ความเชื่อมั่นต่าง ๆ เริ่มดีขึ้น ภาวะเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น จะทำให้เก็บภาษีสรรพสามิตได้ดีขึ้น เพราะเก็บจากฐานการบริโภค โดยช่วงไฮซีซั่นท่องเที่ยวนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะมีผลต่อภาษีเครื่องดื่มทั้งมีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ ภาษีน้ำมันจากการเดินทางท่องเที่ยว

ผลจัดเก็บในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เดือนแรกของปีงบฯ 2559 จะต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อยประมาณ 2,000 ล้านบาท เนื่องจากภาษีน้ำมันยังปรับไม่ได้ แต่เทียบกับปีที่แล้วดีขึ้นนิดหน่อย

- สถานการณ์ภาษีรถยนต์เริ่มดีขึ้นหรือยัง

ต้องรอดูข้อมูลหลังเดือน ธ.ค. เพราะยังไม่ชัดเจน แต่คาดว่าคนจะเริ่มซื้อรถช่วงนี้ เพราะเกรงว่าปีหน้าที่มีการปรับโครงสร้างภาษี ค่ายรถยนต์จะขึ้นราคา และแม้ซื้อรถยนต์ตอนนี้แต่หากไปจดทะเบียนหลังปีใหม่ก็ต้องเสียอัตราภาษีใหม่ด้วย ประกอบกับค่ายรถยนต์ส่งเสริมการขายกัน เท่าที่คุยทุกค่ายคาดหวังว่าปี 2559 จะดีขึ้นจากปีนี้

- การจัดเก็บตามโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่พร้อม

มติ ครม. เมื่อ ธ.ค. 2555 บอกว่าโครงสร้างใหม่จะมีผล 1 ม.ค. 2559 ให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว 3 ปี ขณะนั้นวงการผู้ผลิตรถยนต์ก็เห็นพ้องตามนโยบายรัฐที่ต้องการปรับปรุงไลน์การผลิตรถยนต์ให้มีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้น้ำมัน และดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถึงขณะนี้ถ้ายี่ห้อใด รุ่นไหนสามารถปรับปรุงได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) จะเสียภาษีอัตราเดิม (ดูตาราง) เช่นเคยเสีย 30% ก็จะเสียเหมือนเดิม แต่ถ้าปรับปรุงไม่ได้ ก็จะเสียเพิ่มขึ้น 5% เดิมเสีย 30% ก็จะเป็น 35% แล้วมีบางรุ่นบางยี่ห้อถ้าเดิมเคยเสีย 40% แต่ถ้าสามารถปรับปรุงเครื่องยนต์ให้ค่า Co2 ออกมาต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดได้ก็จะเสียอัตราลดลงเหลือ 35% ได้ อย่างไรก็ดี พวกรถอีโคคาร์ ที่ค่า Co2 ต่ำอยู่แล้ว จะไม่ได้รับผลกระทบ เสียเท่าเดิม คือ 17% ส่วนรถหรู หรือ ซูเปอร์คาร์ ปกติไม่คำนึงถึง Co2 อยู่แล้ว แต่ดูที่ความแรงเครื่องยนต์ เดิมเสีย 50% ต่อไปก็เสีย 50% เหมือนเดิม

- ความพร้อมของค่ายรถ

มีผู้ประกอบการส่งรถยนต์แต่ละรุ่นให้สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ตรวจ แล้วส่งผลมาที่เรา ส่วนใหญ่พวกรถยนต์นั่งจะตกอยู่ช่วง 160-170 กรัม/กิโลเมตร ถ้าเป็นอย่างนี้ ที่เคยเสีย 30% ก็ต้องเสีย 35% แต่พวกที่เคยเสีย 40% ก็จะเสียลดลงเหลือ 35% ซึ่งค่ายใหญ่ ๆ ก็พอใจเพราะรถ 1,800-2,300 ซีซี สามารถพัฒนาให้เสียแค่ 30% ได้

- ก่อนถึง 1 ม.ค. 2559 ต้องทำอะไรอีก

กรมสรรพสามิตต้องออกประกาศ ซึ่งที่ผ่านมาก็ออกไป 10-11 ฉบับแล้ว ตอนนี้เหลือแค่ฉบับที่เป็นวิธีปฏิบัติเท่านั้น คือต้องกำหนดว่ารถยนต์ที่ผลิตออกมาต้องส่งไปให้ สมอ.ตรวจวัดค่า Co2 แล้วนำส่งมาให้สรรพสามิตกำหนดค่าภาษี จะออกภายในเดือน พ.ย.นี้

ผู้ประกอบการจะมี 2 ส่วน คือ นำเข้า กับผลิตในประเทศ กรณีนำเข้าเป็นเรื่องของศุลกากรจัดเก็บแทน ซึ่งต้องรอให้รถเข้ามาก่อนจึงจะส่ง สมอ. และจากนั้นสรรพสามิตถึงจะจำแนกได้ว่ารถคันดังกล่าว เข้าพิกัดไหน แต่กรณีผลิตในประเทศ ตอนนี้ส่งมาเกือบ 100% แล้ว

- โครงสร้างภาษีใหม่นี้จะส่งผลต่อรายได้อย่างไร

ถ้าดูบนพื้นฐานการบริโภคปกติ ก็น่าจะเพิ่มขึ้น 5,000-10,000 ล้านบาทได้ แต่ถ้าดูแล้วยอดขายต่ำลงไปในช่วงนี้ อาจจะไม่ถึง เพราะตลาดรถยนต์ดรอปลง 20-30%

- กรณีค่ายรถยนต์กังวลผลกระทบ 2 เด้ง

สำหรับเรื่องประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตที่จะเปลี่ยนไปใช้ฐานราคาขายปลีกแนะนำ ผมอยากทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า กรณีแรกโครงสร้างอัตราภาษีเราเปลี่ยนจากเดิมเก็บภาษีตามความจุกระบอกสูบ โดย 1 ม.ค. 2559 เปลี่ยนมาคิดตามค่า Co2 แต่สำหรับร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะออกมาเมื่อไหร่ ตอนนี้อยู่ในขั้นตรวจร่างที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากนั้นต้องเสนอเข้า สนช. เมื่อผ่าน สนช.แล้วต้องรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา นอกจากนี้ ในกฎหมายมีบทเฉพาะกาล ให้มีผลหลังประกาศในราชกิจจาฯ 180 วัน หากดูตามไทม์ไลน์ รวม ๆ แล้วน่าจะอีกประมาณ 1 ปี หรือปี 2560 จึงจะมีผล

ถ้ากฎหมายฉบับนี้ออกมา แน่นอนว่าฐานราคาจะเปลี่ยนจากสินค้าที่ผลิตในประเทศใช้ราคา ณ โรงงาน และสินค้านำเข้าใช้ราคา C.I.F. มาใช้ฐานเดียวกัน คือ ฐานราคาขายปลีกแนะนำ แต่อย่าเพิ่งตกใจเพราะในมติ ครม. ที่เห็นชอบร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต บอกไว้ว่า "ทั้งนี้ ต้องไม่สร้างภาระด้านค่าภาษีให้ผู้ประกอบการหรือผู้บริโภค" หมายความว่าช่วง 180 วัน กรมสรรพสามิตต้องมาดูว่า สินค้าแต่ละตัว เมื่อฐานโตขึ้น อัตราไหนจะเหมาะสม ไม่สร้างภาระให้ผู้ประกอบการ ซึ่งตอนนั้นจะออกเป็นประกาศกระทรวงโดยความเห็นชอบของ ครม. สรุปคือ ไม่ใช่เร็ว ๆ นี้

- กลุ่มรถยนต์นำเข้าค่อนข้างมีปัญหา

กลุ่มรถนำเข้าก็เคยมาคุยกัน ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าเขาจะเอารถรุ่นใด ยี่ห้อใดเข้ามาต้องให้เห็นตัวรถก่อน เมื่อนำรถเข้ามากรมศุลกากรก็ต้องส่ง สมอ. เพื่อพิสูจน์ว่า ค่า Co2 เป็นเท่าใด ถ้ากรณีซูเปอร์คาร์ก็เสียอัตราเดิม 50% เหมือนเดิม เพราะพวกนี้ค่า Co2 ไม่ลดลงอยู่แล้ว แต่เมื่อปรับเป็นราคาขายปลีกแนะนำ ในช่วงของศุลกากรยังต้องรับราคา C.I.F. อยู่ ตามระบบราคาแกตต์ แต่ในส่วนภาษีสรรพสามิตต้องใช้ฐานราคาขายปลีก ซึ่งเราต้องส่งฐานราคาให้ศุลกากรเก็บแทนเรา คือวิธีปฏิบัติเหมือนเดิมทุกอย่าง เพียงแต่วิธีคำนวณเปลี่ยนไป

- แบบนี้รถนำเข้าน่าจะแพงขึ้น

จะพูดอย่างนั้นก็ได้ แต่จะเป็นธรรม สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น เพราะปัจจุบันรถผลิตในประเทศกับรถนำเข้า ราคาเขย่งกันอยู่มาก เพราะราคา C.I.F. ไม่สะท้อนราคาที่แท้จริง

- กฎหมายใหม่จะมีปัญหาอุปสรรคอะไรอีกไหม

ร่างประมวลกฎหมายฉบับนี้กว่าจะออกมา เราให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยกร่าง แล้วให้ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์แต่ละค่าย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มาร่วมกันดู ทำอยู่ 2-3 ปี ผมเชื่อว่าเข้า สนช.ไม่น่ามีปัญหา เพราะผ่านการประชาพิจารณ์ของ 7 กลุ่มสินค้ามาแล้ว ขณะที่พวกอนุบัญญัติเราทำกันอยู่ ให้สอดรับกับการปฏิบัติ ซึ่งเราเทกโน้ตไว้จากการคุยกับผู้ประกอบการแล้ว ต้องทำให้เสร็จภายใน 180 วันก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook