เศรษฐีโอนหุ้นหนีภาษีมรดก "หมอเสริฐ-RS-คีรี-โสภณพนิช" รื้อพอร์ตใหม่

เศรษฐีโอนหุ้นหนีภาษีมรดก "หมอเสริฐ-RS-คีรี-โสภณพนิช" รื้อพอร์ตใหม่

เศรษฐีโอนหุ้นหนีภาษีมรดก "หมอเสริฐ-RS-คีรี-โสภณพนิช" รื้อพอร์ตใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แกะรอยเศรษฐีตระกูลดังแห่โอนหุ้นให้ทายาทก่อนกฎหมายภาษีมรดกบังคับใช้ "หมอเสริฐ" ประเดิมโอนหุ้นกลุ่ม ร.พ.กรุงเทพให้ลูกสาวเกือบ 2 พันล้านบาท "เฮียฮ้อ" อาร์เอส-"ฑิฆัมพร" จาก LPN แบ่งหุ้นให้ลูกชาย "ชัย โสภณพนิช" โอนหุ้นกรุงเทพประกันภัยและประกันชีวิตเข้ามูลนิธิครอบครัว และลูก ๆ ฟากโบรกเกอร์ตื่นตัวตั้งทีมให้ข้อมูลลูกค้าเตรียมรับมือ

นับถอยหลัง "ภาษีมรดก"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยกฎหมายจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 180 วัน

สาระสำคัญของกฎหมายกำหนดให้ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย มูลค่ารวมกันเกิน 100 ล้านบาท ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวกันหรือหลายคราว ต้องเสียภาษีส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่ามรดก แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 5

สำหรับทรัพย์สินที่นับเป็นมรดกซึ่งต้องเสียภาษี ได้แก่ 1.อสังหาริมทรัพย์ 2.หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3.เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืน 4.ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน และ 5.ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา

ทั้งนี้ ผู้รับมรดกต้องยื่นแบบชำระภาษี และประเมินภาษีตามเงื่อนไข ภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ได้รับมรดก หากฝ่าฝืนต้องจ่ายเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม สำหรับผู้ที่ไม่ยื่นแบบรายการภาษี ต้องระวางโทษจำคุกและปรับ ผู้ใดทำลาย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัด ต้องระวางโทษทั้งจำคุกและปรับ เป็นต้น

เศรษฐีตระกูลดังแห่โอนหุ้นให้ลูก

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่าหลังจากที่รัฐบาลมีการประกาศนโยบายชัดเจนในการผลักดันกฎหมายภาษีรับมรดกฯพบว่าตั้งแต่ช่วงต้นปีเป็นต้นมา เจ้าของธุรกิจตระกูลดังได้เริ่มทยอยโอนทรัพย์สินที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีมรดกให้กับลูกหลาน และเครือญาติก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ นอกจากการโอนที่ดินแล้ว ทรัพย์สินที่มีการถ่ายโอนให้กับลูกหลานกันอย่างคึกคักก็คือหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

จากการตรวจสอบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่ามีผู้บริหารเจ้าของกิจการที่ได้ดำเนินการโอนหุ้นให้กับลูกหลานในช่วง2-3เดือนที่ผ่านมาจำนวนมาก อาทิ นายฑิฆัมพร เปล่งศรีสุข ประธานกรรมการบริหาร บมจ.แอลพีเอ็น ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) โอนหุ้นให้ลูกชาย 2 คน นายธนิต และนายธนัตถ์ เปล่งศรีสุข คนละ 2 ล้านหุ้น เมื่อ 24 ก.พ. 2558

เช่นเดียวกับ นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ โอนหุ้น บมจ.อาร์เอส (RS) ให้ลูกชาย 2 คน คือ นายโชติ เชษฐโชติศักดิ์ จำนวน 2 ล้านหุ้น และนายเชษฐ เชษฐโชติศักดิ์ จำนวน 15 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2558

ขณะที่นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ช.การช่าง (CK) โอนหุ้นให้นายพีรพันธ์ ตันติสุวณิชย์ (หลาน) 2 ล้านหุ้น เมื่อ 14 พ.ค. 2558

"หมอเสริฐ" โอน BDMS ให้ลูก

สำหรับนายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้ถือหุ้นใหญ่บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ได้โอนหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ให้กับ น.ส.อาริญา ปราสาททองโอสถ (บุตรสาว)จำนวน 100 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2558 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเกือบ 2,000 ล้านบาท

ด้านนายชัย โสภณพนิช โอนหุ้น บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) 11.88 ล้านหุ้นและ บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI) 3 ล้านหุ้น ให้กับมูลนิธิชัย-นุชนารถ โสภณพนิช รวมถึงคู่สมรสและลูกชาย-หญิงอีก 5 คน เมื่อ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ารวมเกือบ 1,000 ล้านบาท

นอกจากนี้นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) โอนหุ้นให้ น.ส.สุภาภรณ์ อาหุนัย (พี่น้อง) 5 แสนหุ้น เมื่อ 17 ก.พ. 2558

"โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป" แบ่งมรดก

นอกจากนี้ทาง บมจ.โมเดอร์นกรุ๊ป(MODERN) นายเจริญ อุษณาจิตต์ ประธานกรรมการ บมจ.โมเดอร์นกรุ๊ป (MODERN) โอนหุ้นให้ น.ส.มณฑิรา อุษณาจิตต์ (ลูกสาว) จำนวน 4 ล้านหุ้น เมื่อ 2 เม.ย. 2558 รวมทั้งนายทักษะ บุษยโภคะ ประธานกรรมการบริหาร โอนหุ้นMODERN ให้ลูกสาว 3 คน คือ นางธนิดา ชัยยศบูรณะ, น.ส.สุธีรา บุษยโภคะ และนางนันทณัช บุษยโภคะ คนละ 5 ล้านหุ้น รวมทั้งนายอนวัช สุริยวนากุล ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) โดยหุ้นให้ลูกชาย นายก้องภพ สุทธิวนากุล 1 ล้านหุ้น เมื่อ 19 ก.พ. 2558

ขณะที่นายประวิทย์ ตันติวศินชัย กรรมการ บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป (M) ได้โอนหุ้นให้ลูกสาวและลูกชายคนละ 2 แสนหุ้น เมื่อ 1 เม.ย. 2558

นางรัตนา พรมสวัสดิ์ กรรมการ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท (PS) โอนหุ้นให้คู่สมรสและลูกสาว-ลูกชายอีกคนละ 3 ล้านหุ้น รวม 9 ล้านหุ้น เมื่อช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และนายสุรเดช นฤหล้า กรรมการ บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์แอนด์พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) โอนหุ้นให้ลูกชาย 2 คน รวม 11.55 ล้านหุ้น เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

"เตชะไกรศรี" โอนหุ้นให้พ่อแม่

ขณะที่นายสรพจน์ เตชะไกรศรี ซีอีโอ บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) ได้โอนหุ้นจำนวน 146 ล้านหุ้น ให้กับนายสุเมธ-นางยุพา เตชะไกรศรี (บิดามารดา) เมื่อ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับนายคีรี กาญจนพาสน์ ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ได้ทำธุรกรรมขายหุ้น BTS จำนวน 600 ล้านหุ้น ให้กับนายกวิน กาญจนพาสน์ (บุตรชาย) เมื่อ 9 ก.พ. 2558 ในกรณีนี้อาจแตกต่างจากกรณีอื่นที่เป็นการขายไม่ใช่การโอนให้ในลักษณะของมรดก

โบรกเกอร์ตั้งทีมให้ข้อมูลลูกค้า

นายธาดา จันทร์ประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริหาร บล.เออีซี กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลให้ทีมผู้แนะนำการลงทุน (มาร์เก็ตติ้ง) ไปแนะนำแก่ลูกค้าให้เข้าใจถึงกฎหมายภาษีมรดกที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าก่อนที่จะมีการประกาศบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว น่าจะทำให้เกิดการเตรียมตัวทยอยโอนหุ้นให้กันเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มเห็นลูกค้ารายใหญ่หลายรายมีการเตรียมความพร้อมเมื่อกฎหมายภาษีมรดกมีผลบังคับใช้ โดยพบว่ามีเจ้าของกิจการมีความเคลื่อนไหวโอนหุ้นให้กับทายาทกันค่อนข้างคึกคัก เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ต้องเสียภาษี

เช่นเดียวกับ นายสมชาย กาญจนเพชรรัตน์กรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายธุรกิจหลักทรัพย์บุลคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ซึ่งรวมถึงหลักทรัพย์ประเภทหุ้นด้วยนั้น ทำให้ธุรกิจ บล.มีความตื่นตัวพอสมควร โดยในส่วนของ บล.เคจีไอปัจจุบันมีการจัดทีมประชาสัมพันธ์เพื่อให้ข้อมูลแก่ลูกค้าที่ต้องการเตรียมความพร้อมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการรับภาษีมรดก เพราะหลังกฎหมายบังคับใช้ การโอนหุ้นให้ลูกหลานที่มีมูลเกิน 100 ล้านบาท ในส่วนเกินจากมูลค่า 100 ล้านบาท ผู้รับมรดกจะเข้าข่ายต้องเสียภาษีรับมรดก

ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าที่ถือหุ้นมูลค่าเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไปราว 5-10% ของลูกค้าทั้งหมดที่มีราว 30,000 บัญชี

"ตอนนี้เราจัดให้มีทีมงานประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ลูกค้ารับรู้และเข้าใจถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น กรณีนักลงทุนทยอยโอนหุ้นเป็นลอต ลอตละไม่เกิน 100 ล้านบาท เพื่อเลี่ยงภาษีมรดก แต่หากกรมสรรพากรตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการโอนให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งหลายครั้งจนมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ก็เข้าข่ายต้องเสียภาษีมรดก เป็นต้น" นายสมชายกล่าว

แนะคลังออกกฎหมายทรัสต์

นายธีระ ภู่ตระกูล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่ากระทรวงการคลังควรออกกฎหมายทรัสต์แทนการจัดเก็บภาษีมรดก เพราะประโยชน์ที่ได้รับจากการเก็บภาษีอาจจะไม่คุ้มค่ากับโอกาสที่ต้องเสียไป

เนื่องจากปัจจุบันพบว่ากลุ่มผู้มีสินทรัพย์สูงจำนวนมากได้เริ่มมีโอนทรัพย์สินทั้งที่ดิน บ้าน คอนโดมิเนียม และหุ้น ให้กับบุตรหลานเพื่อไม่ต้องเสียภาษีมรดก และมีอีกจำนวนมากที่นำเงินออกไปลงทุนหรือทำธุรกรรมต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งไม่มีการจัดเก็บภาษีมรดก ด้วยการนำเงินไปบริหารจัดการในรูปแบบทรัสต์ ซึ่งเป็นการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคลที่มีผู้ดูแล ดังนั้นประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสที่เม็ดเงินจากกลุ่มคนดังกล่าวนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศแทน

นายธีระกล่าวว่า สำหรับรูปแบบของการบริหารความมั่งคั่งของทรัพย์สินของเศรษฐีส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จะเป็นการออกไปจัดตั้ง"กองทรัสต์" ในต่างประเทศที่มีกฎหมายรองรับ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายทรัสต์รองรับ ส่วนการจัดตั้งกองทรัสต์นั้น เจ้าของทรัพย์สินจะต้องมีการตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ (ทรัสตี) อาทิ บริษัทที่ปรึกษาการเงินหรือธนาคาร โดยจะมีการโอนทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น หุ้น, พันธบัตร, อสังหาริมทรัพย์ ไปอยู่ในกองทรัสต์ภายใต้นิติบุคคลนั้น ๆ

ข้อดีของการโอนทรัพย์สินเข้ากองทรัสต์นั้นจะช่วยให้การตรวจสอบเจ้าของทรัพย์สินทำได้ยากขึ้น เนื่องจากการจัดการในรูปแบบทรัสต์จะไม่เปิดเผยชื่อเจ้าของทรัพย์สิน แต่จะระบุชื่อของทรัสตีที่ดูแลผลประโยชน์เท่านั้น ซึ่งทำให้กรมสรรพากรจะไม่สามารถทราบได้ว่าใครเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และยากต่อการจัดเก็บภาษี

ขณะที่ทรัสตีจะอนุญาตให้เจ้าของบริหารสินทรัพย์ได้ตราบใดที่เจ้าของยังมีชีวิตอยู่ และหากเจ้าของทรัพย์สินได้เสียชีวิตไปแล้ว หน้าที่ของทรัสตีก็จะเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินในกองทรัสต์หรือมรดกให้ โดยสามารถแบ่งทรัพย์สินตามที่เจ้าของทรัพย์สินได้ให้ไว้ตามจดหมายแจงเจตนารมณ์ ซึ่งคล้ายกับพินัยกรรม

สรรพากรยันตั้งกองทรัสต์ไม่คุ้มค่า

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรกล่าวว่า การเก็บภาษีการรับมรดกจากทรัพย์สินที่เป็นหลักทรัพย์หรือหุ้นนั้น ก็จะเหมือนกับการเก็บภาษีจากทรัพย์สินประเภทอื่น กล่าวคือจะเก็บเมื่อ "ตกทอด" สู่ผู้รับมรดก คือมีการโอนเมื่อใดก็ต้องเก็บภาษี ซึ่งจะคำนวณตามราคาที่ซื้อขายกันทั่วไป ณ วันที่ได้รับมรดกดังกล่าว โดยถ้าเป็นหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะดูราคาตลาด ณ วันที่ได้รับมรดก แต่ถ้าเป็นหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ทางกรมสรรพากรจะต้องเสนอให้มีการออกกฎกระทรวงการคลังกำหนดรายละเอียดเรื่องการอ้างอิงราคาอีกที เพราะต้องยอมรับว่ามูลค่าหุ้นที่ระบุในหนังสือจดทะเบียนของบางบริษัท อาจจะไม่ใช่ราคาซื้อขายที่แท้จริง

ส่วนเรื่องการตั้งกองทรัสต์ขึ้นมาเพื่อเลี่ยงภาษีการรับมรดกนั้น แหล่งข่าวยอมรับว่า วิธีการดังกล่าวอาจช่วยชะลอการเสียภาษีการรับมรดกได้ แต่อาจไม่คุ้มค่าเพราะไม่สามารถนำทรัพย์สินนั้นไปทำอะไรได้ เช่น นึกอยากจะขายทรัพย์สินก็ขายไม่ได้ทันที เป็นต้น และการตั้งกองทรัสต์จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเราถือว่ากองมรดกมีหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดา ซึ่งถ้าผู้มีสิทธิได้รับมรดกยังไม่รับ ปล่อยไว้ให้อยู่ในกองมรดกก็เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook