ซีพี-อมตะชิงเขตศก.พิเศษ รัฐทุ่มพัฒนาบูมการค้า10อำเภอชายแดน

ซีพี-อมตะชิงเขตศก.พิเศษ รัฐทุ่มพัฒนาบูมการค้า10อำเภอชายแดน

ซีพี-อมตะชิงเขตศก.พิเศษ รัฐทุ่มพัฒนาบูมการค้า10อำเภอชายแดน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"บิ๊กตู่" สั่งเร่งพัฒนา 5 เขต ศก.พิเศษ 10 อำเภอ 1.8 ล้านไร่ ขีดเส้นปี"58 เอกชนต้องเข้าลงทุน "ซีพี-อมตะ" ชิงปักธงจองตั้งโรงงาน-นิคมอุตฯ ตัดหน้าคู่แข่ง มท.1 สั่งวางผังเมืองเฉพาะทั้ง 5 พื้นที่ "ด่านสะเดา-มุกดาหาร" นำร่องแล้วเสร็จ ม.ค.ปีหน้า เปิดโรดแมปการพัฒนา ย่านส่งเสริมธุรกิจการค้า-ที่อยู่อาศัย-นิคมอุตฯ-ผุดมอเตอร์เวย์-รถไฟสาย ใหม่รองรับ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งดำเนินการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระยะแรกใน 5 พื้นที่ชายแดน ประกอบด้วย อ.แม่สอด จ.ตาก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว พื้นที่ชายแดน จ.ตราด พื้นที่ชายแดน จ.มุกดาหาร และ อ.สะเดา (ด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์)จ.สงขลา ให้เป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี

ขณะที่คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้จัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุน 4 ด้าน ได้แก่ 1.สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน 2.การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) 3.มาตรการสนับสนุนการใช้แรงงานต่างด้าว และ 4.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คืบหน้าตามลำดับ

ซีพี-อมตะ ชิงดำเขต ศก.พิเศษ

ล่าสุด ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงและเทียบเท่า ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้อย่างเต็มที่ให้พื้นที่เขตเศรษฐกิจเป้าหมายทั้ง 5 พื้นที่มีผลในทางปฏิบัติวันที่ 1 ธ.ค.นี้ และภายในปี 2558 การเข้ามาลงทุนของภาคเอกชนต้องเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน นายกฯกล่าวว่า จากที่ได้หารือกับเอกชน ปรากฏว่าหลายกลุ่มสนใจลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว อย่างกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชันเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และอมตะซิตี้ ยืนยันว่าพร้อมลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานจัดหาพื้นที่รองรับการเข้าไปลงทุนของเอกชน สำหรับใช้เป็นที่ตั้งของสำนักงาน โรงงาน ซึ่งบางส่วนอาจจัดสรรให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุ ที่หลวง หรือพื้นที่อื่น ๆ

โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ ด้วยการร่วมกับภาคเอกชนที่สนใจกำหนดแนวทางความร่วมมือและดำเนินการร่วมกัน นอกจากนี้ให้ส่งเสริมการค้าขายของประชาชน โดยจัดตั้งตลาดจังหวัด กลุ่มจังหวัด ตลาดชุมชนให้เป็นสถานที่ค้าขายของเกษตรกรและประชาชน เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องค้าขายผ่านคนกลาง

ปั้นศูนย์กลางการค้า-อุตฯ

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระยะแรก5 พื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กำหนดบทบาทและแนวทางในการพัฒนาแต่ละพื้นที่ ดังนี้ 1.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก กำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้นชายแดน และอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ตลาดการค้าชายแดน โดยจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดน อาทิ คลังสินค้า ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ โรงแรม สถาบันการเงิน โดยจะพัฒนาคู่ขนานกับเขตเศรษฐกิจเมียวดี ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งมีศูนย์กระจายสินค้า พื้นที่เกษตรกรรม นิคมอุตสาหกรรม และการพาณิชย์เขตเศรษฐกิจมุกดาหาร กำหนดบทบาทให้เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็ก-ทรอนิกส์ ศูนย์กระจายสินค้า ค้าส่ง คลังสินค้า ศูนย์โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สู่ท่าเรือดานัง ของเวียดนาม และเมืองหนานหนิง จีนตอนใต้ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการค้าและการบริการ การกระจายสินค้า เขตอุตสาหกรรมและการค้า มีผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนจำนวนมาก ทั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาวกับต่างชาติ บริษัทต่างชาติ อาทิ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ

เขตเศรษฐกิจอรัญประเทศ จ.สระแก้ว เป็นพื้นที่ค้าปลีก ค้าส่ง ฐานการผลิตอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร คลังสินค้า โลจิสติกส์ เชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเต-โอเนียง ของกัมพูชา เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตราด เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การค้าชายแดนปลอดภาษี การขนส่งต่อเนื่องคลังสินค้า ศูนย์โลจิสติกส์ เชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง ของกัมพูชา เขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นพื้นที่ต่อขยายนิคมอุตสาหรรมเพื่อการส่งออกอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา อาหารทะเล อาหารฮาลาล เชื่อมพื้นที่อุตสาหกรรมหนักยางพารา และอุตสาหกรรมฮาลาล ของมาเลเซีย

กนอ.สนองนโยบายสุดลิ่ม

ขณะที่นายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย "ประาชาชาติธุรกิจ" ว่า การลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น มีผู้ประกอบการหลายรายสนใจ แต่บางรายก็รอให้มีความชัดเจนด้านผังเมือง และสิทธิประโยชน์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการ เท่าที่ทราบมามีผู้บริหารกลุ่มบริษัทซีพีและนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครสนใจลงทุน แต่ด้านรายละเอียดยังไม่เป็นที่เปิดเผย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวเคยเข้าพบหน่วยงานภาครัฐและนายกฯให้ข้อเสนอว่า ถ้าสนใจให้เอกชนทั้ง 2 รายหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะลงทุนรูปแบบใด ส่วนพื้นที่นำร่องที่รัฐจะพัฒนา คาดว่าอาจจะเป็นเขตเศรษฐกิจ อ.แม่สอด จ.ตาก และเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ในส่วนของ กนอ.ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

ม.ค.ผังมุกดาหาร-สงขลาเสร็จ

ด้านนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 พื้นที่ชายแดน ครอบคลุม 36 ตำบล 10 อำเภอ พื้นที่รวม 1.83 ล้านไร่หรือ 2,932 ตร.กม. ประกอบด้วย 1.จ.ตาก 886,875ไร่ หรือ 1,419 ตร.กม. ในพื้นที่ อ.แม่สอด อ.พบพระ และ อ.แม่ระมาด 2.จ.มุกดาหาร 361,542 ไร่

หรือ 578.5 ตร.กม. ใน อ.เมือง อ.หว้านใหญ่และ อ.ดอนตาล 3.จ.สงขลา 345,187 ไร่หรือ 552.3 ตร.กม. ใน อ.สะเดา 4.จ.สระแก้ว 207,500 ไร่ หรือ 332 ตร.กม. ใน อ.อรัญประเทศ และ อ.วัฒนานคร และ 5.จ.ตราด 31,375 ไร่ หรือ 50.2 ตร.กม. ใน อ.คลองใหญ่ทั้งอำเภอ จะเร่งวางผังพื้นที่เฉพาะเขตเศรษฐกิจทั้ง 5 พื้นที่ให้เสร็จใน 8 เดือน โดยจะเร่งพื้นที่ชายแดนจังหวัดมุกดาหารครอบคลุมพื้นที่ใน 3 อำเภอ และชายแดน จ.สงขลา ใน อ.สะเดา ให้เสร็จก่อนเดือน ม.ค. 2558 เนื่องจากเป็นนโยบายเร่งด่วนของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ส่วนชายแดน จ.ตาก สระแก้ว และ จ.ตราด แล้วเสร็จเดือน มี.ค. 2558 จะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่อยากจะเห็นการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจเป็นรูปธรรมในปีหน้า

การวางผังจะออกแบบพัฒนาเมือง ประกอบด้วย 1.พื้นที่ชุมชนชายแดน กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชน 2.วางผังโซนนิ่งการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น พื้นที่เหมาะพัฒนานิคมอุตฯที่อยู่อาศัย 3.วางระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ถนน ทางรถไฟ มอเตอร์เวย์ 4.ออกแบบสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตย์แสดงถึงอัตลักษณ์ หรือแลนด์มาร์กแต่ละพื้นที่

ผุดมอเตอร์เวย์-รถไฟสายใหม่รับ

แหล่งข่าวจากกรมโยธาฯเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ที่เร่งให้วางผังพื้นที่เฉพาะชายแดน จ.สงขลา ก่อน เนื่องจากด่านสะเดา-ปาดังเบซาร์เป็นด่านการค้าชายแดนที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศ มีพื้นที่ติดกับมาเลเซีย สามารถเชื่อมโยงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และระบบขนส่งโลจิสติกส์เพื่อส่งออกสินค้า ส่วนด่านปาดังเบซาร์ มีการขนส่งสินค้าผ่านรถไฟสะดวกมากในการติดต่อเมืองใหญ่ของมาเลเซีย และเชื่อมโยงไปสิงคโปร์และตลาดโลกได้ เพราะมาเลเซียมีรถไฟทางคู่จากอิโปห์ถึงปาดังเบซาร์

การวางผังพัฒนาจะครอบคลุมพื้นที่ อ.สะเดา และ อ.นาทวี เชื่อมโยงระบบเมืองกิจกรรมทางเศรษฐกิจและระบบคมนาคมขนส่งให้ครอบคลุมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษกับชายแดนไทย-มาเลเซีย รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ประมง ยางพารา และการขนสินค้าไปมาเลเซีย จะจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตร อุตฯการท่องเที่ยวและบริการให้ชัดเจน และพัฒนาความพร้อมของสาธารณูปโภค ปรับปรุงระบบถนนเชื่อมด่านและถนนจากชายแดนถึงถนนใหญ่ในอนาคตจะก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่-สะเดา เปิดการพัฒนาพื้นที่ใหม่ ๆ

ส่วนพื้นที่ชายแดน จ.มุกดาหาร เนื่องจากมีศักยภาพที่เป็นประตูการค้าในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตกเชื่อมโยงจากด่านแม่สอด จ.ตาก มายัง สปป.ลาว และท่าเรือดานัง ของเวียดนาม ในอนาคตจะมีรถไฟสายใหม่ตัดผ่าน คือสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-นครพนม ที่จะพาดผ่านอำเภอหว้านใหญ่และอำเภอเมืองมุกดาหารด้วย จะเปิดพื้นที่ให้มีการพัฒนาใหม่ ๆ เพิ่ม

ขณะที่แนวทางการพัฒนาจะเป็นการค้าส่ง การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และคลังสินค้า รวมถึงจะมีการออกแบบผังพื้นที่เฉพาะชุมชนชายแดนบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook