พนักงานอ้วนระทึก! ดัชนีน้ำหนักเกิน เบรกขึ้นเงินเดือน

พนักงานอ้วนระทึก! ดัชนีน้ำหนักเกิน เบรกขึ้นเงินเดือน

พนักงานอ้วนระทึก! ดัชนีน้ำหนักเกิน เบรกขึ้นเงินเดือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนุ่มสาวออฟฟิศระทึก บริษัทเอกชนเริ่มนโยบาย "ดัชนีมวลกาย" หรือ BMI มาใช้วัดผลการทำงาน ขู่น้ำหนักเกินมาตรฐานไม่ได้ขึ้นเงินเดือนที่ปรึกษาเอชอาร์ชี้เทรนด์จากตะวันตก มุ่งให้พนักงานมีสุขภาพดี หวังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน-ลดค่าใช้จ่าย

กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียลมีเดียและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาก หลังมีกระแสข่าวว่าบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งเตรียมนำเรื่องดัชนีมวลกาย BMI (Body Mass Index) มาเป็นเกณฑ์หนึ่งประกอบการพิจารณาปรับเงินเดือนของพนักงาน นอกเหนือจากเกณฑ์ประเมิน KPI (Key Performance Indicator) ทำให้เกิดกระแสต่อต้าน

จนกระทั่งบริษัทดังกล่าวต้องยกเลิกการนำดัชนีมวลกายมาใช้ โดยพนักงานส่วนใหญ่เห็นว่า องค์กรควรแยกเรื่องน้ำหนักเกินกับประสิทธิภาพการทำงานออกจากกัน ความอ้วนหรือผอมไม่เกี่ยวกับผลงานแต่อย่างใด หรือถ้าต้องการให้พนักงานมีสุขภาพดีก็ควรจะจัดสวัสดิการให้พนักงานได้ออกกำลังกาย เช่น การสร้างห้องฟิตเนส ห้องแอโรบิก เพื่อให้พนักงานออกกำลังกายในที่ทำงานได้เลย

สำหรับดัชนีมวลกาย เป็นค่าดัชนีที่คำนวณจากน้ำหนักและส่วนสูง เพื่อใช้เปรียบเทียบความสมดุลระหว่างน้ำหนักตัวต่อความสูงของมนุษย์ ซึ่งคิดค้นโดย Adolphe Quetelet ชาวเบลเยียม ซึ่งค่าดัชนีมวลกายหาได้โดยนำน้ำหนักตัวหารด้วยกำลังสองของส่วนสูงตนเอง

นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล (เอชอาร์) เปิดเผยว่า จริง ๆ แล้วถ้ามองในแง่ดี เรื่องของ BMI ถือเป็นเรื่องดี เพราะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะมาช่วยพนักงานในการรักษาสุขภาพ เพราะที่ผ่านมาทางฝ่ายบริหารงานบุคคล (เอชอาร์) พยายามหาเครื่องมือใหม่ ๆ มาช่วยพนักงานตลอดเวลา โดยที่ผ่านมาบริษัทในประเทศทางตะวันตกได้มีการนำเครื่องมือดัชนีมวลกายนี้มาใช้เพื่อหวังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในองค์กร ทั้งยังสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการการรักษาพยาบาลได้ โดยที่ผ่านมาทาง บมจ.การบินไทยก็ได้นำมาใช้ รวมถึงกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีการทำโครงการตำรวจไร้พุงก็เป็นลักษณะเดียวกัน

"เหมือนอย่างเรื่องการให้พนักงาน Work Life Balance ในการทำงาน แต่สำหรับกระแสข่าวที่มีตามเว็บถือว่ารุนแรงพอสมควร เพราะไม่น่าถึงจะนำเรื่องของ BMI มาใช้ในเกณฑ์การตัดสินการปรับเงินเดือนหรือโบนัส เพราะทุกคนมีวิธีการดูแลสุขภาพร่างกายต่างกัน"

อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าเครื่องมือ BMI มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้พนักงานในองค์กรมีสุขภาพดีขึ้น และผลตรงนี้น่าจะทำให้องค์กรไม่ต้องจ่ายประกันกลุ่มสุขภาพพนักงานสูงขึ้น แต่ถ้าพนักงานสุขภาพไม่ดี มีการเบิกค่ารักษาพยาบาลสูงก็จะทำให้บริษัทต้องจ่ายค่าเบี้ยสูงขึ้น เพราะตรงนี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับทุกองค์กร แต่ทั้งนั้น ฝ่าย HR หรือผู้บริหารต้องทำความเข้าใจกับพนักงานก่อน

ขณะที่นายแพทย์ฆนัท ครุธกูล ผู้จัดการศูนย์หัวใจหลอดเลือดและเมแทบอลิซึม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า นโยบายให้พนักงานควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะทางการแพทย์มีข้อมูลระบุว่า ผู้ที่มีน้ำหนักในเกณฑ์มาตรฐานจะมีโอกาสสุขภาพร่างกายแข็งแรงกว่าผู้ที่มีน้ำหนักเกิน เพราะโรคอ้วนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคข้อกระดูกเสื่อม โรคของระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งบางประเภท เป็นต้น

"การควบคุมน้ำหนักเป็นเรื่องที่ดี แต่ให้เวลาลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานในช่วงเวลา 6 เดือนนั้น อาจเป็นช่วงเวลาที่เร็วเกินไป อาจส่งผลให้ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายเกินมาตรฐานเลือกใช้วิธีลดน้ำหนักอย่างผิด ๆ เช่น อดอาหาร หรือการใช้ยาลดน้ำหนัก แต่การลดน้ำหนักที่ถูกต้อง ค่าเฉลี่ยน้ำหนักที่ควรลดได้ในแต่ละเดือนไม่ควรเกิน 2 กิโลกรัม หากมากกว่านี้จะอันตรายต่อสุขภาพ" น.พ.ฆนัทกล่าว

ด้านนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ "เอสซีจี" เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทมีนโยบายให้พนักงานในเครือเอสซีจีดูแลรักษาสุขภาพ นอกจากโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีแล้ว ได้จัดโครงการตรวจสมรรถภาพร่างกายปีละ 1 ครั้ง อาทิ ตรวจสอบดัชนีมวลกาย ความแข็งแรงกล้ามเนื้อ ความหนาแน่นมวลกระดูก ความสมส่วนของน้ำหนัก-ส่วนสูง ฯลฯ โดยนำมาใช้แล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี แต่ยังไม่ถึงขั้นนำมาประเมินผลประกอบการพิจารณาปรับเงินเดือนและโบนัสประจำปี

สำหรับโปรแกรมตรวจสมรรถภาพร่างกายแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ พนักงานระดับจัดการ เช่น ผู้อำนวยการฝ่าย กรรมการผู้จัดการ ฯลฯ ได้จัดโครงการ "ฟิต ฟอร์ เวิร์ก ฟิต ฟอร์ ไลฟ์" จะต้องตรวจสมรรถภาพร่างกายปีละ 1 ครั้ง และกระตุ้นให้ทุกคนจะต้องมีผลตรวจที่ดีขึ้นทุกปี ส่วนพนักงานทั่วไปจะจัดอีเวนต์ตรวจสุขภาพที่สำนักงานใหญ่บางซื่อปีละ 1 ครั้ง หากใครมีเวลาว่างก็สามารถไปตรวจได้ โดยปัจจุบันเอสซีจีมีพนักงานที่สำนักงานใหญ่ประมาณ 5 พันคน

นอกจากนี้แหล่งข่าวจากบริษัทยักษ์ผู้รับเหมาก่อสร้างรายหนึ่ง ระบุว่า ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ของบริษัทมีมาตรการเข้มงวดในเรื่องของการให้พนักงานลดน้ำหนักเช่นกัน โดยจะมีการเรียกพนักงานมาเตือนแบบส่วนตัวสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักมาก และมีการขู่ว่าจะไม่ขึ้นเงินเดือน รวมทั้งการคัดเลือกพนักงานเพื่อรับเข้าทำงานก็เข้มงวดตั้งแต่แรก ด้วยการเน้นพิจารณาน้ำหนัก-ส่วนสูง


ภาพประกอบจาก womenshealthency.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook