′ไทยพาณิชย์′พร้อมชดใช้คืน เหยื่อแก๊งแฮกเอทีเอ็มดูดเงิน เผยแจ้งลูกค้าให้อายัดบัตร 500 คน

′ไทยพาณิชย์′พร้อมชดใช้คืน เหยื่อแก๊งแฮกเอทีเอ็มดูดเงิน เผยแจ้งลูกค้าให้อายัดบัตร 500 คน

′ไทยพาณิชย์′พร้อมชดใช้คืน เหยื่อแก๊งแฮกเอทีเอ็มดูดเงิน เผยแจ้งลูกค้าให้อายัดบัตร 500 คน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบงก์พาณิชย์แฉแก๊งแฮกเอทีเอ็ม ติดตั้ง′สกิมมิ่ง′ที่ตู้ตลาดประชานิเวศน์ 1 ประกาศงดใช้ทันที แจ้งลูกค้าที่ใช้บริการให้อายัดบัตร 500 คน 

เมื่อวันที่ 7 เมษายน นายพงษ์สิทธ์ ชัยฉัตรพรสุข ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายบริหารการป้องกันอาชญากรรมและความปลอดภัย ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยกรณีแก๊งแฮกเอทีเอ็มเบิกเงินของลูกค้าที่ส่วนใหญ่นำบัตรเอทีเอ็มไปกดถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มหน้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ตรงตลาดโกลด์มาร์เก็ต ย่านประชานิเวศน์ 1 ว่า ธนาคารมีเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบความผิดปกติของการทำธุรกรรมการเงินในระยะเวลาเดียวกัน ตั้งแต่ช่วงเวลา 01.00 น. วันที่ 5 เมษายน โดยจากการตรวจสอบพบว่าก่อนหน้านั้นลูกค้ามีการทำธุรกรรมการเงินจากตู้เอทีเอ็มที่ตลาดประชานิเวศน์ 1 ซึ่งมีการสกิมมิ่ง และธนาคารได้ประกาศงดใช้ตู้เอทีเอ็มดังกล่าวชั่วคราวแล้ว

นายพงษ์สิทธิ์กล่าวว่า จากการตรวจของเจ้าหน้าที่สายตรวจตู้เอทีเอ็มของธนาคาร พบว่าการสกิมมิ่งครั้งนี้เป็นการติดตั้งกล้องรูเข็มบริเวณด้านข้างบริเวณจอ เพื่อบันทึกรหัสที่ลูกค้ากด ซึ่งปัจจุบันคนร้ายมีการพัฒนาเครื่องคัดลอกข้อมูล (สกิมเมอร์) แทบจะเรียกว่าเล็กมาก ถ้าลูกค้าไม่สังเกตดีๆ จะไม่เห็นความผิดปกติ อย่างไรก็ตาม เมื่อทราบความผิดปกติได้ประสานให้คอลเซ็นเตอร์ติดต่อไปยังลูกค้าที่มีการทำธุรกรรมจากตู้เอทีเอ็มดังกล่าว เพื่อทำการอายัดบัตรป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และจะดำเนินการทำบัตรใหม่ให้ 

"เราได้ติดต่อลูกค้าและอายัดบัตร 400-500 บัตร ที่ทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหาย ซึ่งอาจจะป้องกันได้ทั้งหมด หรือเสียหายเพียงธุรกรรมแรกเท่านั้น แต่ยังมีลูกค้าบางส่วนที่ได้รับความเสียหาย และความเสียหายที่เกิดขึ้นธนาคารจะรับผิดชอบทั้งหมด คาดว่าในวันที่ 8 เมษายน จะดำเนินการจ่ายเงินคืนให้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายได้" นายพงษ์สิทธิ์กล่าว

นายพงษ์สิทธิ์กล่าวยืนยันว่า ระบบรักษาความปลอดภัยของธนาคารสามารถป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ถึง 99% และความเสียหายจากการถูกสกิมมิ่งที่เกิดขึ้นมีมูลค่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับการลงทุนระบบรักษาความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม มีระบบการป้องกันที่เรียกว่า "แอนตี้ สกิมมิ่ง แบบเรียล ไทม์" ที่อาจช่วยป้องกันได้ แต่จากที่ธนาคารเคยทดสอบก็ไม่สามารป้องกันได้ 100% 

รวมทั้งยังมีข้อจำกัดว่า อาจจะแยกธุรกรรมที่ลูกค้ากระทำจริงกับธุรกรรมเท็จได้ยาก ส่วนกรณีที่จะมีการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มจากแบบเดิมมาเป็นบัตรสมาร์ทการ์ด ที่ทำงานด้วยระบบชิปการ์ดนั้น มีต้นทุนที่แพงและต้องใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้มีการหารือเรื่องนี้ ทั้งนี้ ธนาคารจะมีการตรวจสอบตู้เอทีเอ็มว่าจะสามารถปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยได้อย่างไรบ้าง

นายพงษ์สิทธิ์กล่าวว่า สำหรับการป้องกันการถูกสกิมมิ่ง เบื้องต้นคือ ให้ลูกค้าสังเกตบริเวณตู้เอทีเอ็มว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น ช่องสอดบัตร ว่าการติดตั้งอุปกรณ์ครอบเพิ่มเติมหรือไม่ ทั้งช่องสอดบัตรและบริเวณแป้นตัวเลข ช่องมีไฟกะพริบหรือไม่ การสอดบัตรมีความฝืดผิดปกติหรือไม่ ทั้งนี้ เวลากดรหัสเอทีเอ็มควรมีการใช้มือบังทุกครั้ง เพื่อป้องกันการถูดคัดลอกรหัสบัตร ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ยังละเลยจุดนี้อยู่ โดยการป้องกันเบื้องต้นนี้จะป้องกันได้ 70-80%

พ.ต.อ.ณัฎฐ์ภาณพ วัชรเสวี ผกก.สน.ประชาชื่น กล่าวว่า มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความเพิ่มเติม ซึ่งเบื้องต้นทางพนักงานสอบสวนคงทำได้เพียงลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน โดยต้องรอประสานไปยังธนาคารเจ้าของบัญชีของผู้เสียหาย เพื่อตรวจสอบว่าเงินในบัญชีลูกค้าหายไปจริงหรือไม่ หากพบว่าเงินในบัญชีหายไปจริงและมีมูลความผิดเกิดขึ้นจริง ทางธนาคารในฐานะเป็นผู้เสียหายต้องเข้าแจ้งความกับทางกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากความผิดเกิดขึ้นในหลายท้องที่ ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด

ต่อมาเวลา 19.00 น. ร.ต.ท.คมสัน ทุติยานนท์ พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น เจ้าของคดีกล่าวว่า จนถึงขณะนี้มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความกับ สน.ประชาชื่น เพิ่มเติมตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 6 เมษายน จนถึงเวลา 18.00 น. วันนี้อีก 13 ราย มูลค่าความเสียหาย 220,702.67 บาท รวมกับผู้เสียหายก่อนหน้านี้อีก 19 ราย เป็น 32 ราย รวมความเสียหายทั้งหมด 504,102.67 บาท จึงอยากฝากประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่เคยไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็มหน้าร้านเซเว่นฯ สาขาตลาดโกลด์มาร์เก็ตทั้ง 3 ตู้ ให้เปลี่ยนรหัสบัตรเอทีเอ็มเพื่อป้องกันคนร้ายนำข้อมูลไปกดเงินเพิ่มอีกทางหนึ่ง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook