เคล็ดลับลงทุนกองทุนทองคำอย่างชาญฉลาด

เคล็ดลับลงทุนกองทุนทองคำอย่างชาญฉลาด

เคล็ดลับลงทุนกองทุนทองคำอย่างชาญฉลาด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การลงทุนทองคำนับเป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากทองคำถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และผู้ลงทุนสามารถถือทองคำเพื่อลดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อได้

นอกจากนี้ ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ มีการซื้อทองคำเก็บเป็นทุนสำรองอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทองคำยังถือเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุนทองคำที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ กองทุนทองคำ ปัจจุบันกองทุนทองคำในประเทศไทยมีมากกว่า 20 กองทุน

ทำให้นักลงทุนอาจสับสนว่าจะลงทุนในกองทุนทองคำแบบไหนดี บทความนี้จึงขอสรุปข้อควรพิจารณาในการลงทุนกองทุนทองคำ เพื่อเป็นตัวช่วยในการเลือกลงทุนค่ะ


ลักษณะของกองทุน

            รูปแบบของกองทุนทองคำในประเทศไทยมี 3 รูปแบบ คือ (1) กองทุนทองคำ (2) กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพซึ่งลงทุนในทองคำ (RMF) และ (3) กองทุน ETF ทองคำ การเลือกว่า จะลงทุนในกองทุนรูปแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การลงทุน หากต้องการถือครองทองคำ เพื่อเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนไว้ใช้ยามเกษียณ และต้องการลดหย่อนภาษี แนะนำให้ลงทุนในกองทุนทองคำซึ่งมีลักษณะเป็นกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แต่หากต้องการซื้อลงทุนโดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาในการขายกองทุน หรืออยากได้รับเงินปันผลจากการลงทุน กองทุนทองคำจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสม ส่วนผู้ที่ต้องการซื้อขายเก็งกำไรกองทุนทองคำรอบสั้นๆ แนะนำให้ลงทุนในกองทุน ETF ทองคำค่ะ

            สำหรับกองทุนทองคำในแบบแรกจะสามารถแบ่งรูปแบบการลงทุนได้ 2 รูปแบบคือ แบบมีนโยบายจ่ายเงินปันผล และแบบไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล โดยแบบมีนโยบายจ่ายเงินปันผลมีข้อดีคือ ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนระหว่างการลงทุน แต่เงินปันผลที่ได้รับจะต้องเสียภาษี โดยสามารถเลือกได้ว่า จะหัก ณ ที่จ่าย 10% หรือนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้ในการคำนวณภาษีประจำปี ส่วนกองทุนทองคำแบบไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลมีข้อดีคือ ผู้ลงทุนสามารถนำกำไรที่ได้รับจากการลงทุนมาลงทุนต่อเนื่องได้ ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับมีโอกาสทบต้น และผลตอบแทนที่ได้รับไม่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพซึ่งลงทุนในทองคำ (RMF) และกองทุน ETF ทองคำ ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลค่ะ


นโยบายการลงทุน

            กองทุนทองคำในประเทศไทยส่วนใหญ่มีนโยบายการลงทุนในกองทุน SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุนทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยกองทุนนี้มีนโยบายซื้อทองคำแท่งเก็บไว้ในห้องนิรภัยที่ประเทศอังกฤษ ดังนั้น ราคาของกองทุน SPDR Gold Trust จึงเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับราคาทองคำ นอกจากนี้ กองทุนมีการจดทะเบียนซื้อขายใน 4 ตลาด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งมีการซื้อขายในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จึงทำให้ผลตอบแทนของกองทุน SPDR Gold Trust ที่จดทะเบียนในแต่ละตลาดมีโอกาสแตกต่างกันได้ ดังนั้น หากลงทุนในกองทุนทองคำซึ่งมีกองทุนหลักเป็นกองทุน SPDR Gold Trust นักลงทุนควรพิจารณาตลาดที่กองทุนจดทะเบียนซื้อขาย หากจดทะเบียนที่ตลาดฮ่องกงหรือสิงคโปร์ ราคาทองคำอ้างอิงจะเป็นราคาใกล้เคียงกับช่วงเย็นของประเทศไทย แต่หากจดทะเบียนที่สหรัฐฯ ราคาทองคำอ้างอิงจะเป็นราคาช่วงเช้ามืดของประเทศไทย

            นอกเหนือจากการลงทุนในกองทุน SPDR Gold Trust แล้ว กองทุนทองคำของไทยโดยเฉพาะกองทุน ETF ทองคำ มีการลงทุนในทองคำแท่งโดยตรง ซึ่งราคาของหน่วยลงทุน (NAV) จะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับราคาทองคำ โดยอาจเป็นการลงทุนในทองคำแท่งที่ประเทศไทยหรือทองคำแท่งในต่างประเทศ ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรติดตามราคาของทองคำแท่งที่กองทุนอ้างอิงอย่างใกล้ชิดค่ะ


นโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

            กองทุนทองคำในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นกองทุนต่างประเทศ โดยมีการลงทุนในเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินจะมีผลต่อราคาของกองทุนทองคำได้ หากขณะที่ส่งคำสั่งขายกองทุน ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นกว่าช่วงที่ซื้อ ผู้ลงทุนในกองทุนทองคำจะได้ประโยชน์ ในทางกลับกัน หากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง จะส่งผลลบต่อผู้ลงทุนในกองทุนทองคำได้ สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าว การลงทุนในกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Fully Hedge) จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่หากมองว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีโอกาสแข็งค่าขึ้นในอนาคต นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้อาจเลือกลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายไม่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Unhedge) หรือลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วน (Partially Hedge) นอกจากนี้ กองทุนทองคำบางกองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามสภาวะตลาด ซึ่งการตัดสินใจว่าจะใช้นโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นไปตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน


ค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย

            ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายกองทุนเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนหลายคนอาจละเลย แต่ความจริงแล้ว ค่าธรรมเนียมในส่วนนี้มีผลกับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ลงทุนที่มีการซื้อขายกองทุนบ่อยๆ ดังนั้น ในการเลือกลงทุนกองทุนทองคำ ควรพิจารณาค่าธรรมเนียมควบคู่กับปัจจัยอื่นๆ ที่ได้กล่าวถึงข้างต้นด้วยค่ะ

            แม้ว่า การลงทุนในกองทุนทองคำจัดเป็นการลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง แต่ก็เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน หากผู้ลงทุนไม่มีเวลาติดตามสภาวะการลงทุนทองคำมากนัก การลงทุนแบบสม่ำเสมอเป็นประจำ (Dollar Cost Averaging) จะเป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุน ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถประสบความสำเร็จจากการลงทุนในกองทุนทองคำได้ง่ายมากขึ้นค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูล : k-expert

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook