ธราดล ทันด่วน “ครูต้นไม้” กับ “ชีวิต” ที่ผลิใบในวัยใกล้ “เกษียณ”

ธราดล ทันด่วน “ครูต้นไม้” กับ “ชีวิต” ที่ผลิใบในวัยใกล้ “เกษียณ”

ธราดล ทันด่วน “ครูต้นไม้” กับ “ชีวิต” ที่ผลิใบในวัยใกล้ “เกษียณ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เราต่างรู้ซึ้งว่า “ต้นไม้” ช่วยบรรเทาความร้อน “ต้นไม้” ทำหน้าที่ฟอกอากาศให้สะอาด และบริสุทธิ์ แต่เราก็มักจะได้รับรู้อยู่เสมอว่า “ต้นไม้” กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในการถูกกำจัดทิ้ง หากเติบโตผิดที่ ผิดทาง กีดขวางความเจริญ ทุกคนรู้ว่า “ต้นไม้” ดี มีประโยชน์ แต่มักหลับหูหลับตา มองข้ามในคุณค่า และโค่นทำลายหากไม่จำเป็น

สำหรับครูต้อ ธราดล ทันด่วน หรือที่คนรักต้นไม้เรียกว่า “ครูต้นไม้” เป็นเพียงหนุ่มใหญ่วัยเกินกลางคนที่เริ่มต้นชีวิตการทำงานจากความรักและหลงใหลต้นไม้ ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านฝนที่บางครั้งรุนแรงถึงระดับพายุ แต่ก็สามารถหยัดยืนและกลายเป็น “ครูต้นไม้” เช่นปัจจุบัน

บาดแผล จากความ “หลงใหล”
สิ่งที่จะทำให้เราเชื่อว่าบุคคลนั้นหลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเป็นพิเศษอาจไม่ใช่เพียงแค่ “รางวัล” การันตีความสามารถ แต่อาจเป็น “บาดแผล” ที่ครั้งแรกเคยสร้างความเจ็บปวด หากเมื่อเวลาผ่านไปมันคือเรื่องราวของบุคคลนั้น เช่นเดียวกับที่บริเวณแขนขวาของครูต้อมีแผลเย็บเป็นแนวยาวคล้ายการผ่าตัด เมื่อสอบถามจึงได้คำตอบว่ามีเหตุมาจากการผลัดตกต้นไม้ในวัยเด็ก และนั่นก็ไม่ใช่เพียงบาดแผลเดียวที่ทำให้มีครูต้อเช่นทุกวันนี้

“ผมจบการศึกษาจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอนเรียนมีความสุขมากเพราะได้อยู่กับต้นไม้ เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันไปเรียนอย่างอื่น ส่วนผมเลือกเรียนคณะนี้เพราะผมรักต้นไม้ พอเลือกเมเจอร์ผมดันไปเลือกสาขาวิชาเอก Forest Product เพราะคิดว่าจะได้หางานทำง่ายๆ พอเรียนจบไปทำงานในโรงงาน ตอนนั้นชีวิตเหมือนตกนรก อยู่กับเครื่องจักร ทำอยู่ไม่นานก็ออกมา และเข้าไปทำงานในการเคหะ จากนั้นชีวิตผมก็อยู่กับต้นไม้มาตลอด”
ตลอดระยะเวลาที่ทำงานอยู่นั้นครูต้อมักได้ยินคนพูดถึงและเปรียบเทียบความสวยงามของต้นไม้ที่ประเทศสิงคโปร์กับประเทศไทย และต้องการยึดถือเอาความสวยงามนั้นเป็นต้นแบบที่อยากให้เกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ และเมืองไทยบ้าง หากแต่ครูต้อไม่เห็นด้วย และความคิดต่างของเขาก็กลายเป็นรอยจารึกว่า “กรุงเทพฯ สามารถมีต้นไม้ และป่าไม้ในเขตเมืองที่สวยกว่าประเทศสิงคโปร์ได้”

“แม้ผมจะออกจากการเคหะ และไปทำงานที่ต่างๆ ความคิดที่คาใจนั้นอยู่กับผมมาเป็น 10 ปี ทำให้ผมรู้สึกว่า ผมจะต้องทำสิ่งนี้ให้ได้ ทำให้กรุงเทพฯ มีป่าไม้ในเขตเมือง เพราะทรัพยากรของเราพร้อมกว่า ต้นไม้ของเรามีความหลากหลายกว่า ที่สิงคโปร์ต้นไม้เขาสวยจริง แต่ไม่มีบุคลิกภาพ เหมือนต้นไม้อยู่ในบ้านคนเจ้าระเบียบ ทุกต้นมีฟอร์มต้นเหมือนกันหมด ผมคิดมาตลอดว่ามันเป็นไปได้ แต่ก็ยังไม่ได้ลงมือทำ จนกระทั่งมาเกิดวิกฤตขึ้นในชีวิตอีกครั้งเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน”

เริ่มต้น “ชีวิต” (อีกครั้ง) เมื่ออายุใกล้ 50
คำว่า “การเริ่มต้น” ไม่มีคำว่า “สาย” คงเป็นความจริง เพราะหลังจากครูต้อตกอยู่ในสถานะ “คนว่างงาน” ที่ตอนนั้นอายุใกล้ 50 ปี มีความสับสันหลายอย่างเกิดขึ้นในความคิด เนื่องจากการเริ่มต้นชีวิตอีกครั้งสำหรับคนที่เรียกได้ว่าอายุมากช่างเป็นอะไรที่ยากลำบาก แต่สำหรับครูต้อขอเลือกชำระความคิด ความฝันที่ติดค้างในใจ ด้วยการก้าวเดินต่อไปในเส้นทางที่ตนหลงใหลอย่างจริงจัง

“ตอนนั้นเกิดวิกฤตกับชีวิต ว่างงานอยู่พักหนึ่งและเราก็อายุมากแล้ว ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่ได้ บางคนอาจคิดว่าจะเลิกทำงานแล้วไปหาอะไรทำเงียบๆ แต่สำหรับผมมันมีสิ่งที่ค้างคาใจตัวเองอยู่ ก็เลยคิดรับจ้างตัดต้นไม้ เริ่มจากที่บ้านตัวเองก่อน แล้วก็ลามไปบ้านญาติ บ้านเพื่อน จนความคิดตกผลึกว่าจะออกมารับจ้างตัดต้นไม้”

ครูต้อเริ่มต้นงานรับจ้างตัดต้นไม้จากการเดินแจกใบปลิวด้วยตัวเอง โดยเริ่มต้นเดินจากซอยสุขุมวิท 1 ไปจนถึงสุขุมวิท 71 เดินแบบครบทุกซอยหลัก ซอยย่อย เดินแจกใบปลิวทุกบ้านที่มีต้นไม้ ซึ่งสำหรับคนทั่วไปอาจมองว่าในวัยใกล้ 50 แบบนั้น ครูต้อไม่ควรมาทำเรื่องที่เหน็ดเหนื่อยและเกินกำลังไปจากวัย

“ผมคิดว่าที่ผมทำทุกอย่างมันจบที่คำๆ เดียวว่า “Passion” ข้อจำกัดมันเยอะก็จริง แต่เราทุกคนมีข้อจำกัดทั้งนั้น แต่เมื่อเรามีความคลั่งไคล้ ความหลงใหลที่จะทำอะไรสักเรื่องหนึ่ง มันจะเกิดแรงผลักดัน พอมีแรงผลักดันมากพอ อุปสรรคเป็นเรื่องเล็กหมด จริงๆ คนอายุขนาดนั้นบอกว่าปิดฉากได้แล้ว แต่เราอยากเอาชนะเรื่องที่ว่าตัดต้นไม้สวยสู้สิงคโปร์ไม่ได้”

“ตัดกิ่งไม้” เพื่อ “สร้างป่า”
หากจะนับว่าชีวิตครูต้อเหมือนแตกหน่ออีกครั้งก็คงปฏิเสธไม่ได้ เพราะหลังจากเดินแจกใบปลิวหาลูกค้าจ้างตัดต้นไม้แล้ว ไม่นานครูต้อก็ได้งานรับจ้างตัดต้นไม้จากบ้านลูกค้าหลังเล็กๆ ซึ่งครูต้อยังคงตัดและดูแลต้นไม้ให้บ้านหลังนั้นมาจนถึงปัจจุบัน และเพราะการทำงานที่ตนเองหลงใหลด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่น ผลงานของครูต้อถูกบอกต่อกันไปแบบปากต่อปาก จากงานรับจ้างตัดต้นไม้ในบ้านขยายไปสู่หน่วยงานที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

“การที่เราทำเรื่องธรรมดาแล้วทำให้ดี ผมเดินแจกใบปลิวแค่ 2 รอบ หลังจากนั้นผมก็ไม่เคยเดินแจกใบปลิวอีกเลย เพราะงานเริ่มเยอะจนล้นมือ ผมอยากจะบอกว่าคนไทยเรามีอะไรที่ดี แต่เราไม่ประณีตในบางเรื่อง ไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่ก็ตาม ถ้าเราทำอาหารเราใส่ใจ ยังไงลูกค้าก็ต้องมากินฝีมือคุณ เหมือนอย่างที่ผมตัดต้นไม้ หลายคนหัวเราะ แต่ผมก็ตั้งใจทำงาน พอตัดได้ดีคนก็มาจ้างเรา แต่มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองขอบเขตงานของเราอย่างไร ถ้าเรามองแค่ว่าเราตัดต้นไม้ เราก็จะมองแต่เฉพาะต้นที่เราทำ แต่ถ้าเรามองว่ามันเป็นหมู่ไม้ หรือผมมองถึงการขยายป่าไม้ในเขตเมือง มันไม่ใช่เฉพาะต้นไม้ต้นเดียว แต่มันคือต้นไม้ที่เป็นส่วนประกอบของป่า เราไม่ใช่แค่ตัด แต่เราดูว่าเราต้องให้ปุ๋ยไหม ต้องให้ยาฆ่าแมลงไหม”

ครูต้อยังดำรงเจตนารมณ์เดิมที่ต้องการให้เกิดป่าไม้ในเขตเมืองขึ้นในกรุงเทพฯ แม้จะเริ่มต้นจากงานตัดแต่งต้นไม้ของตนเองที่นับแล้วอาจเป็นเพียงจุดเล็กๆ

“ความลืมตัว” ที่เกือบทำให้ “หลงทาง”
แต่งานตัดต้นไม้ที่ครูต้อตั้งใจไว้แต่แรกไม่ได้เป็นแค่งานเล็กๆ อีกต่อไป ครูต้อจึงเกิดความคิดอยากทำธุรกิจใหญ่จากช่องทางที่ต้นเองค้นพบ เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าเป็นช่องทางที่สร้างเงินได้ดี แต่นี่เป็นเพียงบททดสอบจิตใจว่าครูต้อจะเลือกเดินทางไหนระหว่างการสร้างธุรกิจใหญ่ กับการเดินไปสู่เส้นทางของป่าไม้ในเขตเมืองอย่างที่ตัวเองปักหมุดไว้ในใจ

“ตอนนั้นก็ยอมรับว่าเรายังติดอยู่กับความทะเยอทะยาน อยากทำธุรกิจใหญ่ ทำให้เริ่มมองหาพาร์ตเนอร์เข้ามาเป็นผู้บริหาร ผมเคยเดินเข้าไปขอความสนับสนุนด้านการเงินจากหน่วยงานภาครัฐแต่เขาปฏิเสธบอกว่าไม่น่าสนใจ ตอนนั้นก็หน้าแตกกลับมา หรือแม้แต่มีเด็กรุ่นใหม่อยากรวยเร็วมาบอกว่าจะเข้ามาบริหารงานให้ เขาบอกว่าจะเข้ามาก็อปปี้ไฟลด์ทุกไฟลด์ที่ผมมี ผมก็คิดว่าประสบการณ์มันก็อปปี้กันได้หรือ บอกว่าวันหนึ่งจะหารถเบนซ์มาให้ผมนั่ง แต่สำหรับผมมันไม่ใช่ ผมแค่อยากหาคนมาดูแลลูกค้า ผมไม่ได้อยากได้เบนซ์ ผมอยากเห็นต้นไม้สวย สุดท้ายเด็กคนนั้นก็ไม่ได้ทำอะไร มันสะท้อนว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมาก คิดว่าความสำเร็จมันได้มาง่ายๆ เงินได้มาง่ายๆ มันไม่ใช่”

หลังจากครูต้อเสียหลักทางความคิดไปพักหนึ่ง ก็เริ่มกลับมาทบทวนตัวเองและพบว่าจริงๆ แล้วตนเองมีความสุขอยู่ในภาคสนาม และในขณะที่กำลังท้อใจกับความฝันในการขยายธุรกิจ ครูต้อก็ได้รับการติดต่อให้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาด้านต้นไม้และภูมิทัศน์ให้กับบริษัทๆ หนึ่งที่รักต้นไม้ และสิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับครูต้อเป็นอย่างมากก็คือ บ้านของเจ้าของบริษัทที่จ้างครูต้อเป็นบ้านหลังหนึ่งที่ครูต้อเคยฝันไว้ว่าหากได้ดูแลต้นไม้ให้กับบ้านหลังนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความฝันที่บรรลุแล้วสำหรับเขา

บทเริ่มต้น “โรงเรียนต้นไม้”
จากการได้มานั่งทบทวนความคิดถึงสิ่งที่ทำ ครูต้อจึงคิดได้ว่าจริงๆ แล้วตนเองเดินทางมาถึงความฝันของได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่เพราะกระแสต่างๆ มันผลักให้เขาเดินไกลออกไปจากจุดที่ตั้งใจ ทำให้ครูต้อคิดว่าตนเองควรหยุดดิ้นรนที่จะสร้างธุรกิจ และมาสร้างคนแทนดีกว่า

“อายุเราเริ่มมากขึ้น การคิดสร้างคนรุ่นใหม่ ให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ ให้เขาไปขยายธุรกิจเติบโตเท่าที่เขาทำได้จะดีกว่า ผมจึงเริ่มบรรยายและสอนคนมากขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่งผมมีโอกาสไปพูดเรื่องการดูแลต้นไม้ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และนั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโรงเรียนต้นไม้ในเวลาต่อมา ซึ่งขณะนี้เปิดมาเป็นปีที่ 2 แล้ว”

โรงเรียนต้นไม้เกิดขึ้นจากการร่วมมือของบุคคลและหน่วยงานหลายๆ ฝ่าย ซึ่งในขณะนี้ครูต้อก็ได้อาจารย์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้บริหารโครงการ นอกจากนั้นยังได้งบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานใหญ่ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้โรงเรียนต้นไม้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความหลากหลายและครบครันในด้านการดูแลต้นไม้

“ผมคิดว่าผมมีความเป็นครูติดมา เราเป็นคนภาคสนาม พอถึงจุดหนึ่งเราก็ไม่ได้โหยหาเงินทอง เห็นคนรุ่นใหม่เขาอยากทำแล้วเขาก็ทำได้ดี เราก็ดีใจ มีคนจำนวนไม่น้อยที่เรียนรู้ ต้องบอกเลยว่าหลังจากในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ได้สัมผัสกับคนที่รักต้นไม้จริงๆ จังๆ มันเป็นแนวโน้มที่ดี ถ้าเราสามารถสร้างคนไปให้ธุรกิจที่เห็นคุณค่าของต้นไม้ เมื่อรักษาต้นไม้ได้ถูกต้อง มันจะเป็นวงกว้าง มันจะเป็นเรื่องที่น่าชื่นใจสำหรับสังคม”

หากเปรียบชีวิตเหมือนดั่งต้นไม้ใหญ่ ทุกวันนี้ชีวิตของครูต้อน่าจะเลยจุดของการแตกหน่อ และแตกกิ่งก้านมาแล้ว หากแต่น่าจะเป็นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นต้านแรงปะทะต่างๆ หยั่งรากลึก แข็งแรง พร้อมให้ร่มเงาแก่ทุกคน

“ความรักในต้นไม้ของผม ทำให้ผมเห็นประเด็นที่แตกต่าง ผมถึงบอกเสมอว่าเวลาเลือกงานให้หาความคลั่งไคล้ในงานนั้นให้เจอก่อน อย่าเอาลาภยศเป็นตัวตั้ง เพราะคุณจะรู้สึกเหมือนโดนล่ามโซ่ ถ้าเราได้ทำงานที่เรารัก เราจะไม่รู้สึกเหมือนเรากำลังทำงาน หากเป็นหมอแต่ถ้าไม่มีจิตใจแบบหมอพอคุณรวยคุณก็จะไม่อยากเป็นหมออีก จะเป็นหมอที่หงุดหงิด แต่ถ้าเราทำงานด้วยความรัก พวกลาภ ยศ สรรเสริญ เงินทองมันจะเป็นผลพลอยได้ที่ตามมาเอง”

บทจบในบรรทัดสุดท้ายคงพอสรุปได้ว่า “ต้นไม้” ไม่ได้ให้เพียงอาชีพ เงินทอง ฐานะทางสังคมกับครูต้อเท่านั้น หากแต่ “ต้นไม้” กลับมอบ “ชีวิต” ที่สมบูรณ์ให้แก่ชายวัยใกล้เกษียณคนนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook