พยัคฆ์ร้ายสไตล์เนี้ยบ : เจมส์ บอนด์ เคลื่อนไหวร่างกายสะดวกได้อย่างไรในชุดสูท ?​

พยัคฆ์ร้ายสไตล์เนี้ยบ : เจมส์ บอนด์ เคลื่อนไหวร่างกายสะดวกได้อย่างไรในชุดสูท ?​

พยัคฆ์ร้ายสไตล์เนี้ยบ : เจมส์ บอนด์ เคลื่อนไหวร่างกายสะดวกได้อย่างไรในชุดสูท ?​
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“บอนด์ … เจมส์ บอนด์” ประโยคตำนานจากพระเอกแฟรนไชส์ภาพยนตร์สายลับ MI6 ชื่อดังจากประเทศอังกฤษ อย่าง เจมส์ บอนด์ ที่เต็มไปด้วยคารมและมาดสุดเนี้ยบตามแบบผู้ดี ทั้งการวางตัว รถที่ขับ ไปจนถึงสูทที่ใส่ ทำให้ใครหลาย ๆ คนหลงเสน่ห์ได้ไม่ยาก

ทุก ๆ ครั้งที่บอนด์ออกไปทำภารกิจ เขามักจะได้รับอุปกรณ์ไฮเทคสุดพิเศษจากคิว เจ้าหน้าที่แผนกวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์สำหรับสายลับอยู่เสมอ อุปกรณ์ที่จะช่วยให้เขาสามารถทำภารกิจได้อย่างราบรื่น รวมไปถึงรถที่มีการอัพเกรดให้ทันสมัยอยู่ตลอด แต่มีอยู่อย่างเดียวที่ดูเหมือนบอนด์จะไม่ค่อยได้ปรับเปลี่ยนเลย นั่นคือสูทที่เขาใส่ออกไปบู๊ 

การที่เราบอกว่าบอนด์ไม่เปลี่ยนสูทที่ใส่เลย ไม่ได้หมายความว่าบอนด์มีสูทอยู่ตัวเดียว แต่หมายถึงบอนด์ไม่ค่อยได้เปลี่ยนรูปแบบชุดที่ใส่ต่างหาก ไม่ว่าจะวิ่งบนหลังคา บนรถไฟ จะออกหมัดกับผู้ร้าย หรือขับมอเตอร์ไซค์ บอนด์ก็มักจะใส่สูทแบบเต็มยศอยู่เสมอ คำถามคือ ชุดสูทของบอนด์นั้นสะดวกต่อการเคลื่อนไหวหรือไม่ ? ทำไมไม่ใส่ชุดที่กระชับกว่าออกไปทำภารกิจแทน ?

บางทีอาจเป็นเพราะคาแร็กเตอร์ผู้ดีที่ต้องคอยวางมาดไว้ หรืออาจเป็นเพราะสูทที่ใส่มีความคล่องตัวอยู่แล้วก็เป็นได้ เรื่องสูทกับการเคลื่อนไหวของ เจมส์ บอนด์ นั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?​ 

Main Stand ชวนมาค้นหาคำตอบไปด้วยกัน

DOUBLE O SEVEN 
“เจมส์ บอนด์” เป็นตัวละครสมมติจากชุดนวนิยายสายลับที่ถูกสร้างขึ้นโดย “เอียน เฟลมมิ่ง” นักเขียน นักข่าว อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองประจำกองทัพเรืออังกฤษ ที่หันมาเอาดีด้านการเขียนนิยายหลังจากเกษียณอายุราชการในช่วงทศวรรษ 1950s โดยเขาได้ไอเดียการสร้างสายลับคนนี้มาจากประสบการณ์การปฏิบัติภารกิจราชการของตัวเองตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นทหารอยู่ในกองทัพ


Photo : comicvine.gamespot.com

เอียนสร้างคาแร็กเตอร์ เจมส์ บอนด์ ออกมาให้เป็นสายลับประจำหน่วยข่าวกรองลับแห่งประเทศอังกฤษ (Secret Intelligence Service) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่าหน่วย MI6 มีโค้ดเนมประจำตัวคือรหัสเลข 007 ออกปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มกันความมั่นคงของชาติ ชื่อของ เจมส์ บอนด์ เป็นชื่อที่เอียนเอามาจากนักปักษีวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านนกชาวอเมริกัน เพราะเขาเองก็เป็นคนที่หลงใหลในการดูนกและยกย่องชายคนดังกล่าวมาก 

คาแร็กเตอร์ของ เจมส์ บอนด์ เป็นคาแร็กเตอร์ของสายลับหรือนายทหารในหน่วยข่าวกรองที่เอียนพบเห็นในช่วงสงคราม มีส่วนผสมของความเนี้ยบ มีระดับ และมีความขึงขังแบบหน่วยจู่โจมเข้าไว้ด้วยกัน 

รูปโฉมของบอนด์ที่เอียนนึกไว้ ถอดแบบมาจากหลายบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง เป็นผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงของชาติ อาทิ นายทหารคนหนึ่งที่มีชื่อว่า “คอนราด โอ ไบรอัน เฟรนช์” (Conrad O'Brien-ffrench) สายลับชาวอังกฤษในหน่วยข่าวกรองที่มีชีวิตอยู่จริง ออกปฏิบัติหน้าที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นคนที่เอียนเคยเจอในช่วงทศวรรษ 1930s หรือ “บิล ‘บิฟฟี่’ ดันเดอร์เดล” (Bill "Biffy" Dunderdale) หัวหน้าหน่วยข่าวกรองอังกฤษประจำสาขาปารีส ประเทศฝรั่งเศส กับภาพลักษ์ที่ขับรถหรูโรลส์-รอยซ์ พร้อมกับใส่สูทแฮนด์เมด 

เดิมที เจมส์ บอนด์ นั้น มีต้นกำเนิดมาจากการเป็นตัวละครในนวนิยาย ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือตอน “คาสิโน รอยัล” ตีพิมพ์ในปี 1953 แต่ชื่อของเจมส์ บอนด์ ยังถูกเผยแพร่ผ่านการดัดแปลงเป็นซีรีส์ในโทรทัศน์ หนังสือการ์ตูน และสื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอย่างภาพยนตร์อีกด้วย 

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่สร้างชื่อให้กับสายลับคนดังกล่าวได้แก่ Dr.No หรือในชื่อไทยอันโด่งดังที่เรามักจะคุ้นหูกันดีอย่าง “พยัคฆ์ร้าย 007” ดัดแปลงมาจากหนังสือลำดับที่ 6 ของเอียน เฟลมมิ่ง ออกฉายครั้งแรกในปี 1962 นำแสดงโดย “ฌอน คอนเนอรี” ในบท เจมส์ บอนด์ โดยเงินลงทุนไปเพียง 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สามารถกวาดรายได้รวมทั่วโลกไปกว่า 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อ้างอิงเฉพาะจากครั้งแรกที่ออกฉาย) ปัจจุบันหากรวมกับการนำกลับมาฉายใหม่ Dr.No ทำรายได้ไปมากกว่า 59.5 ล้านดออลาร์สหรัฐ (เก็บข้อมูลล่าสุดเมื่อต้นปี 2021) 


Photo : www.moviehousememories.com

Dr.No ได้สร้างปรากฏการณ์ให้แก่วงการภาพยนตร์อย่างมหาศาล ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูเท่ของสายลับคนดังกล่าว ผ่านการถ่ายทอดของ ฌอน คอนเนอรี นักแสดงผู้ล่วงลับ ผู้มอบวลีเด็ดอย่าง “บอนด์ … เจมส์ บอนด์” ให้โลกได้รู้จัก

อาจเป็นเพราะอิทธิพลของ ฌอน คอนเนอรี ภาพจำของ เจมส์ บอนด์ จึงกลายเป็นสายลับมาดเนี้ยบไปโดยปริยาย ปัจจุบันมีภาพยนตร์เจมส์บอนด์มาแล้วกว่า 25 ภาค ผ่านการนำเสนอของนักแสดงหลาย ๆ คนต่อจากฌอน ไล่ตั้งแต่ เดวิด นิเวน, จอร์จ ลาเซนบี้,​ โรเจอร์ มัวร์, ทิโมธี่ ดัลตัน, เพียร์ซ บรอสแนน และคนล่าสุดอย่าง แดเนียล เครก ซึ่งแต่ละคนก็จะมีเสน่ห์ต่างกันออกไป แต่สิ่งที่มีร่วมกันคือคารมและความเนี้ยบของบอนด์ที่ยังคงอยู่ 

ตลอดจนเอกลักษณ์สำคัญอย่างการใส่สูทออกปฏิบัติภารกิจ

SHARP DRESSED MAN  
ก่อนจะทำความเข้าใจว่าบอนด์เคลื่อนไหวในชุดสูทสะดวกได้อย่างไร ? เราต้องทำความเข้าใจถึงเบื้องหลังก่อนว่าทำไมบอนด์ต้องใส่สูทอยู่บ่อย ๆ

คำตอบนั้นไม่ยากเลย ถ้าให้กล่าวอย่างอย่างรวบรัดที่สุด สาเหตุที่บอนด์ต้องใส่สูทตลอดเวลา เพราะบอนด์ทำได้และบอนด์รวย (แม้ว่าส่วนมากจะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินมาจากรัฐบาลอังกฤษ เพราะบอนด์ทำงานรับใช้ชาติ) 


Photo : www.gentlemansgazette.com

ในปีที่ภาพยนตร์ Dr.No ออกฉายนั้น เป็นช่วงทศวรรษ 1960s ที่โลกได้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่อย่างสมบูรณ์ ชุดสูทได้กลายเป็นเครื่องหมายของความนำสมัย ความศิวิไลซ์ตามแบบฉบับของผู้ชายตะวันตก และ เจมส์ บอนด์ ก็เป็นภาพแทนของผู้ชายในระดับชนชั้นกลางไปจนถึงระดับสูง 

เฉกเช่นเดียวกันกับ เอียน เฟลมมิ่ง ผู้ให้กำเนิด ที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะอยู่แล้ว พ่อของเอียนเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรแห่งพื้นที่ออกซ์ฟอร์ดเชียร์ ประเทศอังกฤษ ค่านิยมแบบนี้จึงหล่อหลอมเอียนมาตั้งแต่เด็ก จึงไม่แปลกที่เขาจะมองเห็นความเท่ของทหารหรือสายลับที่แต่งตัวดี ๆ ระหว่างที่ทำงานรับใช้กองทัพ เพราะ เจมส์ บอนด์ ยังเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาให้ผ่านการศึกษาจากโรงเรียน “อีตัน คอลเลจ” โรงเรียนสำหรับชนชั้นสูงและผู้ดีแห่งอังกฤษ ที่นั่นเองที่บอนด์ได้เรียนรู้ถึงการแต่งตัวที่เหมาะสม

การใส่สูทของบอนด์ อาจช่วยให้เขากลมกลืนไปกับคนทั่วไปได้เช่นกัน เพราะตัวร้ายในหนังส่วนมากมักจะเป็นผู้มีอิทธิพลหรือหัวหน้าองค์กรที่ต้องเข้าร่วมงานสังคมอยู่บ่อยครั้ง การใส่สูทจึงไม่ทำให้เขาแปลกแยกจากสถานการณ์รอบตัวเท่าใดนัก ด้วยสาเหตุข้างต้น จึงอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมบอนด์ต้องใส่สูทอยู่เสมอ

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เข้าสู่ยุคของ เพียร์ซ บรอสแนน และ แดเนียล เครก ยุคที่ เจมส์ บอนด์ เริ่มมีความสมจริงมากขึ้น (โดยเฉพาะในเวอร์ชันของเครก) ผู้ชายไม่จำเป็นต้องใส่สูทตลอดเวลาอีกต่อไป การใส่สูทไม่ได้มีความหมายถึงผู้ชายที่ทันสมัยอีกแล้ว แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นนักธุรกิจ ซึ่งก็เป็นอาชีพที่ต้องเข้าร่วมงานสังคมอยู่ดี เพราะเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าคาแร็กเตอร์และภารกิจของบอนด์ก็มีส่วนในการบังคับให้เขาใส่สูทตลอดเวลาอยู่กลาย ๆ เพราะมันก็คงกลมกลืนกว่าหากเราใส่สูทเข้าไปเล่นโป๊กเกอร์ในมอนเตเนโกร แทนที่จะใส่เสื้อยืดกับกางเกงขาสั้น


Photo : usbeketrica.com

หากลองเทียบกันกับสายลับคนอื่น ๆ ในโลกภาพยนตร์อย่าง อีธาน ฮันต์ จากแฟรนไชส์ Mission Impossible หรือ เจสัน บอร์น จากแฟรนไชส์ Bourne จะเห็นความต่างในเรื่องของชุดที่ใส่ออกไปบู๊ได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ ชุดของ 2 คนที่กล่าวมาข้างต้น มีความกระชับสะดวกสบายกว่า บางครั้งก็ใส่เสื้อกล้าม บางครั้งก็แจ็คเก็ต แต่บอนด์กลับจัดเต็มด้วยชุดสูท พร้อมเน็กไทตลอดเวลา หรือถ้าไม่มีเน็กไท อย่างน้อยก็ต้องมีเบลเซอร์สวมทับอยู่สักตัว

น้อยครั้งนักที่บอนด์จะถอดสูทตัวนอกออกมาให้เคลื่อนไหวสะดวกขึ้น อาจจะตั้งใจถอดหรือไม่ตั้งใจถอดก็ได้ อย่างเช่น ความไม่ตั้งใจในตอน Goldfinger (1964) ที่เขาถอดเสื้อตัวนอกออกมา เพื่อตั้งใจจะเข้าไปหาผู้หญิงที่ชื่อโบนิต้า (ที่ภายหลังเป็นคนวางกับดักเขาเสียเอง) หรืออย่างที่ตั้งใจในเวอร์ชันของเพียร์ซ บรอสแนน ตอน The World is Not Enough (1999) ที่บอนด์ตั้งใจถอดสูทออกมาก่อนจะกระโดดลงไปในน้ำ

Photo : screenmusings.org

ว่ากันว่าการถอดแจ็คเก็ตของบอนด์นั้น เปรียบเสมือนกับสำนวนของต่างประเทศความว่า “The Gloves are Off” ที่มีความหมายถึง “ลงมือเอาจริง” น้อยครั้งที่เราจะเห็นสายลับ MI6 คนนี้ถอดสูทออก แม้โอกาสจะมีน้อยนิด แต่ถ้าตอนไหนที่เขาไม่ใส่เสื้อนอกแล้วล่ะก็ นั่นก็หมายความว่าบอนด์ก็พร้อมที่จะซัดยับแล้วเช่นกัน 

แต่ระดับบอนด์แล้วก็คงไม่ต้องถอดออกบ่อย ๆ เพราะบางทีสูทที่ผ่านการตัดเย็บมาอย่างดี ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการเคลื่อนไหวของเขาแต่อย่างใด 

ลุยดะกับสูทคู่ใจ 
ไม่ว่าจะเป็น ฉากสู้กันกลางเวหาแย่งร่มชูชีพกันใน Moonraker (1979) ฉากขับเรือไล่กันจาก The World is Not Enough (1999) หรือฉากขับมอเตอร์ไซค์ไล่ล่าตามไปซัดผู้ร้ายต่อบนหลังคารถไฟใน Skyfall (2012) บอนด์มักจะออกโรงลุยด้วยชุดสูทอยู่เสมอ 

 

Photo : www.geekbinge.com

นอกจากเรื่องคาแร็กเตอร์ของบอนด์ที่กล่าวมาก่อนหน้า เรื่องนี้ยังเกี่ยวข้องกับโปรดักชันการถ่ายทำด้วย การใส่สูทจะช่วยทำให้นักแสดงและสตันท์แมนกลมกลืนกันได้อย่างกับเป็นคนเดียวกัน นี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุด้านโปรดักชันที่บังคับให้บอนด์ต้องใส่สูทเพื่อคลุมขนาดร่างกายไว้ ป้องกันไม่ให้เห็นขนาดร่างกายที่ไม่เท่ากันของแต่ละคนนั่นเอง 

เรื่องสูทของบอนด์มอบความท้าทายให้แก่ฝ่ายคอสตูมเป็นอย่างมาก “เจนี่ ทามีน” ฝ่ายคอสตูมที่ดูแลเรื่องเสื้อผ้าของบอนด์ในภาค Spectre (2015) เผยกับ Esquire ว่า เธอและแผนกของเธอนั้นมีสูทจำนวนมากสำหรับแดเนียล เครกและสตันท์แมนของเขา ซึ่งแต่ละตัวจะมีความท้าทายต่างกันออกไป เนื่องจากขนาดของร่างกายของคนที่ไม่เท่ากัน 

“สำหรับในฉากแอ็กชันแต่ละฉาก เราจะมีสตันท์แมนที่ทำหน้าที่ต่างกันออกไป ปกติแล้วแดเนียลจะมีสตันท์อยู่ทุกฉาก เพราะฉะนั้นแล้ว คนที่ขับรถ ขับมอเตอร์ไซค์เร็ว ๆ คนที่กระโดดข้ามระหว่างตึกจะไม่ใช่คนเดียวกัน พวกเขาทำงานต่างกัน เราก็เลยต้องเตรียมสูทให้ต่างกัน” 

“เรามีสูททั้งหมดประมาณ 30 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมาก ๆ เช่นเดียวกันกับทักซิโด้สีขาว เพราะเรามีฉากต่อสู้ค่อนข้างเยอะ เรามีทักซิโด้สีขาวประมาณ 20 ตัว ต่างกันทั้งหมด 5 ไซส์ สำหรับแดเนียลและสตันท์แมน” 

 สูทแต่ละตัวของแดเนียลและสตันท์แมนต้องเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ทำให้เคลื่อนไหวยากหรือเทอะทะจนเกินไป “ปีเตอร์ ฟรูว์” หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญเรื่องสูทแห่งร้านตัดสูทฝีมือดีในบรูคลิน ชื่อ Archangelo Sartorial ที่เคยร่ำเรียนวิชาตัดสูทมาจากช่างตัดสูทที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง (ไม่มีการเปิดเผยชื่อ) ใน “Saville Row” ย่านตัดสูทอันเลื่องชื่อในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ให้คำอธิบายกับ Vulture ไว้ครั้งหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการเคลื่อนไหวและการต่อสู้ของบอนด์ไว้อย่างละเอียดจากประสบการณ์ของเขาเอง แม้ว่าเขาจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์โดยตรงก็ตาม 


Photo : spinningplatters.com

ปีเตอร์เผยว่าเคยมีลูกค้าแบบที่มาขอให้เขาตัดสูทให้เพื่อใช้ในการขี่มอเตอร์ไซค์เหมือนกับบอนด์ 

“ปกติแล้วผมจะแนะนำให้พวกเขาไว้ด้านหลังให้ยาวออกมาเล็กน้อย ไม่ถึงขนาดเต็มพื้นที่ แต่ก็ให้ยาวขึ้นมาหน่อย ตรงช่องแขนต้องกระชับสูงขึ้นมากว่าเดิมมาก กระดุมสูงขึ้น และแขนเสื้อต้องมีพื้นที่เต็มขึ้นอีกหน่อย” 

“มันต้องเคลื่อนไหวไปกับร่างกายของเรา เดี๋ยวคุณก็ต้องโค้งไปด้านหน้าหรือเอนไปด้านหลัง มันจะได้รู้สึกสบายขึ้นเมื่อคุณเอนหลังไป” 

 
“ช่องแขนสูง นี่คือกุญแจสำคัญเลย ช่องแขนต้องสูงไหล่จึงจะเคลื่อนไหวเป็นปกติ ตรงไหล่จะต้องทำให้เล็กที่สุด ที่แขนเสื้อต้องเต็มขึ้น เพราะเราจะได้ยกแขนขึ้นแบบสุดแขนได้ มันควรจะมีขนาดที่ถูกต้องสำหรับแขน ไม่กว้างหรือชิดกับแขนจนเกินไป จริง ๆ แล้วมันไม่ได้มีกฎตายตัวว่าต้องทำแบบไหน มันขึ้นอยู่กับแขนของคนใส่เลย” 

ในขณะที่ด้านบนต้องให้ความสบายแก่ผู้ใส่ ด้านล่างก็ต้องสบายเช่นเดียวกัน ไม่รั้งหรือตึงจนเกินไป ปีเตอร์ยังกล่าวต่ออีกว่า 

“พวกเขาต้องสวมกางเกงที่มีเอวค่อนข้างสูง ถ้าใส่กางเกงเอวต่ำ คุณจะต้องใส่แบบขาตรง แต่ถ้าอยากได้แบบทรงสกินนี่แล้วล่ะก็ เป้าคุณมันก็ต้องสูงแหละ กุญแจสำคัญของการเคลื่อนไหวของกางเกงอยู่ตรงเป้า เหมือนกับเสื้อที่อยู่บริเวณแขน” 

จากคำบอกกล่าวของปีเตอร์ เราก็พอจะทราบได้คร่าว ๆ แล้วว่า หัวใจสำคัญของสูทบอนด์นั้น อยู่ที่บริเวณที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดอย่างแขนและขา เพื่อที่จะทำให้เขาเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หากใครยังนึกภาพตามไม่ค่อยออกไป ให้ลองไปดูฉากเปิดใน Skyfall (2012) ที่มีครบทุกการเคลื่อนไหวที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ถึงขนาดเกือบตายบนรถไฟ แต่ลงมาสูทก็ยังเข้ารูปอยู่ดี 

ปีเตอร์ยังกล่าวต่ออีกว่า บอนด์จะไม่สามารถสู้หรือเคลื่อนไหวตามใจชอบได้เลย หากสูทที่ใส่ไม่ได้ตัดมาเพื่อเขาโดยเฉพาะ เพราะมันคือขนาดที่ถูกจำกัดมาแล้วตั้งแต่ต้น สูทที่ดีจะต้องใส่สบายแม้กระทั่งเวลาที่เรายืนอยู่เฉย ๆ แม้ขนาดที่ตอนเปลี่ยนท่ายืน อย่างการยืดอกขึ้นมา สูทก็ต้องไม่ละไปด้านหลังด้วย เพราะฉะนั้นสูทของบอนด์ จึงต้องเป็นแบบคัสตอมเท่านั้น (ซึ่งก็คงจะไม่มีปัญหา เพราะบอนด์เองก็คงจ่ายไหว ด้วยฐานะคนมีเงินดังที่กล่าวไปก่อนหน้า) 

 
Photo : www.comingsoon.net

ถึงแม้ว่าชุดสูทจะไม่ใช่ชุดที่เอื้ออำนวยต่อการเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ แต่เครื่องแบบของบอนด์ก็ได้ผ่านกระบวนการคิดมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนมาแล้วจากทีมผู้สร้างและฝ่ายคอสตูม เพราะ เจมส์ บอนด์ เป็นหนึ่งในตัวละครสุดไอคอนิกที่หลายคนจำได้ว่าเขาใส่สูท คงไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไรนัก หากบอนด์คนต่อไปก็ยังคงใส่สูทออกปฏิบัติภารกิจอยู่ 

อย่างไรก็ดี ในยุคของบอนด์คนปัจจุบันอย่าง แดเนียล เครก ก็เริ่มมีการตีความบอนด์ให้แตกต่างออกไปจากเวอร์ชันเดิมที่ผ่านมามากแล้ว บอนด์ของเครกไม่ใช่คนที่ติดการวางมาด มีความขึงขังที่ถูกชักนำด้วยอารมณ์เป็นส่วนใหญ่ สิ่งนี้เองจึงทำให้บอนด์ของเขาแตกต่างออกไปจากที่เคยเป็น นั่นหมายความว่า ภาพลักษณ์ภายนอกของบอนด์ในอนาคตก็อาจจะไม่ใช่คุณชายในชุดสูทอีกแล้วก็เป็นได้ ถึงอย่างไรตัวตนภายใน เขาก็น่าจะเป็นสายลับมือดีอยู่วันยันค่ำ 

ก่อนจะถึงตอนนั้น ร่วมบอกลาวีรบุรุษชุดสูทคนล่าสุดได้ใน “No Time To Die” หรือชื่อไทย “พยัคฆ์ร้ายฝ่าเวลามรณะ” ภาพยนตร์ในแฟรนไชส์ลำดับที่ 25 ของ เจมส์ บอนด์ ผลงานเรื่องสุดท้ายของ แดเนียล เครก ได้ในโรงภาพยนตร์ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมนี้ เป็นต้นไป

 
แหล่งอ้างอิง : 

https://en.wikipedia.org/wiki/Ian_Fleming 
https://www.bbc.com/news/uk-scotland-highlands-islands-22097034
https://www.bondsuits.com/why-does-james-bond-wear-suits-often/ 
https://www.bondsuits.com/does-bond-ever-remove-his-suit-jacket-for-a-fight/ 
https://www.esquire.com/style/mens-fashion/interviews/a39536/jany-temime-spectre-interview/ 
https://www.vulture.com/2012/11/bespoke-tailor-explains-james-bonds-suits.html

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook