อินเดียเป็นประเทศที่มีผู้สูบบุหรี่มากกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วโลก ในทุก ๆ ปี อินเดียเพียงประเทศเดียว มีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรีมากถึง 10 ล้านคน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าการสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ก็ยังพบว่ามีผู้สูบบุหรีหน้าใหม่ที่เริ่มต้นสูบบุหรี่เป็นเด็กที่อายุต่ำลงเรื่อย ๆ และในท้ายที่สุด ก็คงไม่พ้นจุดจบแบบเดียวกัน คือ เผชิญกับปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่
สถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากรไทย ในปี 2560 พบว่ามีประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น 55.9 ล้านคน เป็นผู้สูบบุหรี่มากถึง 10.7 ล้านคน คิดเป็น 19.1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด โดยแยกเป็นผู้ที่สูบเป็นประจำจำนวน 9.4 ล้านคน คิดเป็น 16.8 เปอร์เซ็นต์ และเป็นผู้ที่สูบนาน ๆ ครั้งจำนวน 1.3 ล้านคน คิดเป็น 2.3 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ “สวนดุสิตโพล” ได้สำรวจ “พฤติกรรมการบริโภคยาสูบของกลุ่มผู้ใช้แรงงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19” ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อเดือนเมษายน 2564 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใช้แรงงานนอกระบบ/ในระบบ จำนวน 1,120 ตัวอย่าง เช่น มอเตอร์ไซด์รับจ้าง แท็กซี่ งานบ้าน เกษตร ประมง โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม ห้างร้าน พบว่าสูบบุหรี่กันน้อยลง เนื่องจากรายได้ลดลงสูงถึง 49.12 เปอร์เซ็นต์!
แต่… คนที่ไม่สูบบุหรี่ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจไปว่าตนเองจะปลอดภัย ถึงคุณจะไม่สูบบุหรี่ แต่มีนิสัยหรือพฤติกรรมแย่ ๆ ที่อันตรายต่อสุขภาพของคุณได้พอ ๆ กับการสูบบุหรี่เลยทีเดียว และคนทั่วไปก็มันจะคาดไม่ถึงว่าพฤติกรรมแย่ ๆ ดังกล่าวจะทำลายสุขภาพเราได้มากขนาดนี้ Neha Mittal ผู้ร่วมก่อตั้ง OneAbove Health Care ซึ่งเป็นบริษัทจัดหาเครื่องมือแพทย์คุณภาพสูงราคาย่อมเยา ได้แบ่งปันข้อมูลพฤติกรรมแย่ ๆ 5 ข้อที่ทำลายสุขภาพได้มากพอ ๆ กับการสูบบุหรี่ ดังนี้
1. ความเหงา
เมื่อความเหงาฆ่าคนได้ไม่ใช่คำพูดเกินจริง มีการวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่าความเหงาเรื้อรังสามารถส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมได้ โดยผลกระทบที่สำคัญจะเกิดกับสมองมากกว่า นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างความเหงาและโรคทางสมอง เช่น ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ ในอินเดีย มีผู้สูงอายุราว ๆ 22 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ในขณะเดียวกัน เด็ก ๆ ที่ถูกละเลย ขาดการดูแลเอาใจใส่ ก็ส่งผลให้มีภาวะความเหงาเรื้อรังเช่นกัน
สำหรับประเทศไทย พบว่าสถิติผู้สูงอายุที่ต้องใช้ชีวิตคนเดียวตามลำพังนั้นมีมากขึ้น ด้วยปัจจัยอัตราการสูงวัยของประชากรไทยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2563 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ (มส.ผส.) รายงานว่าในปี 2563 ประเทศไทยมีประชากรรวม 66.5 ล้านคน ครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอยู่ลำพังคนเดียวมีสูงถึง 1.3 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ดี ประชากรสูงอายุของประเทศไทยก็ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เมื่อ 50 ปีก่อน ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีจำนวนไม่ถึง 2 ล้านคน แต่ในปี 2563 ผู้สูงอายุได้เพิ่มจำนวนเป็น 12 ล้านคน คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทำให้ในปี 2565 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และในปี 2576 สัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปของไทยจะมีมากถึง 28 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือเป็นในสังคมสูงวัยระดับสุดยอด และคาดว่าผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ตามลำพังคนเดียวก็มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย
2. กินอาหารไม่มีประโยชน์
เราทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่าการกินอาหารเพื่อสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็น ถึงกระนั้นหลายคนก็ไม่ได้กินอาหารที่ดีต่อร่างกายทุกวัน และบางคนก็สนใจด้วยซ้ำ โดยเลือกกินอาหารตามใจชอบแทน ทั้งที่รู้ว่าเป็นโทษต่อร่างกายแต่ก็ชอบกิน หลายคนเลือกกินอาหารแปรรูป อาหารขยะ และอาหารที่มีเกลือและน้ำตาลสูง ไม่เพียงเท่านั้น ยังกินผักและผลไม้อีกต่างหาก เป็นสาเหตุของโรคพื้นฐานหลายโรค อย่างโรคอ้วน โรคเบาหวาน และอื่น ๆ
ในอินเดีย พบว่าผู้คนบริโภคซีเรียลมากขึ้น อีกทั้งยังกินโปรตีน ผลไม้ และผักในปริมาณที่ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะโรคอ้วนในผู้ชายและผู้หญิงมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมือง สำหรับประเทศไทย กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรค NCDs (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) ปีละกว่า 3.2 แสนคน โดยเสียชีวิตจากมะเร็งทุกชนิดมากที่สุด ตามมาด้วยหลอดเลือดสมอง ปอดอักเสบ หัวใจขาดเลือด และเบาหวาน ตามลำดับ
ข้อมูลพฤติกรรมการกินของคนไทย พบว่าเมนูยอดนิยมบนโลกออนไลน์ ระหว่างกรกฎาคม 2562 – มิถุนายน 2563 อาหารที่คนไทยกล่าวถึงมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นอาหารรสจัด แถมยังกินผัก ผลไม้กันน้อยด้วย และนี่เป็นปัจจัยหนึ่งของปัญหาสุขภาพต่าง ๆ
3. เฉื่อยชา ขี้เกียจ ไม่กระตือรือร้น
ในปัจจุบัน พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่นั่งหน้าจอเป็นเวลานานหลายชั่วโมง การศึกษาจาก Regensburg University ในเยอรมนี ซึ่งศึกษาในปี 2014 แสดงให้เห็นว่าคนที่นั่งหน้าจอนาน ๆ ทุก 2 ชั่วโมงจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ 8 เปอร์เซ็นต์ และโอกาสของที่จะเกิดโรคมะเร็งปอด 6 เปอร์เซ็นต์ โดยที่คนกลุ่มนี้ก็ไม่คิดที่จะทำกิจกรรมทางกายภาพอื่น ๆ ในระหว่างวันด้วย
ส่วนในประเทศไทย ข้อมูลจาก Thaihealth Watch ร่วมกับสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ รวบรวมสถิติสถานการณ์สุขภาพคนไทย 10 ปีย้อนหลัง ระหว่างปี พ.ศ.2553-2562 พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ คนไทยมีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้น 2.4 เท่า และคนในเขตเมืองมีแนวโน้มเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ ซึ่งเป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรัง หรือ NCDs ประเภทหนึ่ง สูงขึ้นมากกว่าคนนอกเขตเมือง อันเนื่องมาจากพฤติกรรมนั่งนานและขาดการออกกำลังกาย
4. อดนอน
การนั่งหน้าจอเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ส่งผลต่อการนอนหลับได้เช่นกัน แสงสีน้ำเงินจากหน้าจอ สัมพันธ์เชื่อมโยงกับปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับดวงตา เช่น ตาล้า ตาพร่ามัว หรือแม้แต่ต้อกระจก ผู้ใหญ่ในอินเดียเกือบ 33 เปอร์เซ็นต์ประสบปัญหาการนอนไม่หลับ อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือพวกเขากลับคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ
ส่วนคนไทย สถิติพบว่าประชากรราว ๆ 30-40 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 19 ล้านคนของคนไทยเป็นโรคนอนไม่หลับ แม้จะรู้สึกง่วงสุด ๆ ก็ตาม คนส่วนมากจะมีอาการนอนไม่หลับ 1 หรือ 2 คืน แต่บางครั้งอาจเกิดขึ้นนานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี โดยโรคนอนไม่หลับมักพบในผู้หญิงและผู้สูงอายุ และการที่คนเรานอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน ยังเสี่ยงตายเร็วอีกด้วย
5. ทัศนคติในด้านลบ
การมองโลกในแง่ร้าย หรือมีทัศนคติต่อเรื่องต่าง ๆ ในด้านลบอยู่เสมอสามารถทำลายชีวิตคนเราได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็รู้ดีว่าพฤติกรรมแบบนี้ไม่ได้ดีต่อสุขภาพจิตเลยแม้แต่น้อย แต่ก็ยังเป็นปัญหาที่พบเจอได้บ่อยมาก แล้วมันก็เกิดขึ้นเพราะความคิดของตัวเราเอง สิ่งนี้สามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า รวมถึงความเครียดที่ไม่พึงประสงค์ และนำมาซึ่งโรคทางกายอื่น ๆ อีกหลายโรค ที่เกิดจากความเครียด
กรมสุขภาพจิตเผยผลสำรวจสุขภาพจิตของคนไทย พบว่าคนไทยมีปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดภาวะโรคระบาดเช่นนี้ มีความเครียด อาการซึมเศร้า และความเสี่ยงในการทำร้ายตนเอง
ทั้งหมดนี้คือพฤติกรรมหรือนิสัยที่ทำลายสุขภาพ ซึ่งอันตรายพอ ๆ กับการสูบบุหรี่เลยทีเดียว ฉะนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว ก็จะมีผลต่อสุขภาพไปในทิศทางที่ดีขึ้น พยายามมองโลกในแง่ดีเพิ่มขึ้นขึ้น สร้างทัศนคติเชิงบวก นอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง กินอาหารที่มีประโยชน์อย่างสมดุล และพยายามหาวิธีให้ตัวเองมีความสุข คุณจะพบผลลัพธ์ที่ดีขึ้นทั้งสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ รวมถึงจิตวิญญาณของคุณเอง หากคุณลด ละ เลิก พฤติกรรมแย่ ๆ เหล่านี้ได้
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :India.com