บทบาทของ ทอม ครูซ ใน TOP GUN ที่ทำให้ RAY-BAN AVIATOR ดังระเบิดไปทั่วโลก
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/me/0/ud/14/70387/ray-ban-aviator.jpgบทบาทของ ทอม ครูซ ใน TOP GUN ที่ทำให้ RAY-BAN AVIATOR ดังระเบิดไปทั่วโลก

    บทบาทของ ทอม ครูซ ใน TOP GUN ที่ทำให้ RAY-BAN AVIATOR ดังระเบิดไปทั่วโลก

    2020-12-08T15:18:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง TOP GUN เข้าฉายในปี 1986 นอกจากมันจะประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลในเรื่องรายได้ ที่กวาดไปมากถึง 357 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 11,000 ล้านบาท) จากงบประมาณการสร้างเพียงแค่ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 472 ล้านบาท) และช่วยตอกย้ำความเป็นซูเปอร์สตาร์ของพระเอกร่างเล็กคนนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นแล้ว มันได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์โลกแห่งแว่นตากันแดดไปตลอดกาลด้วย

    ว่ากันว่าการที่ ทอม ครูซ สวมใส่แว่นตา Ray-Ban Aviator ในภาพยนตร์เรื่องนี้คือหนึ่งในการโฆษณาแฝงที่ประสบความสำเร็จที่สุดตลอดกาล มันประสบความสำเร็จถึงขั้นที่ว่าช่วยรักษาแบรนด์ให้อยู่รอดเลยทีเดียว 

    เรื่องราวจะเป็นอย่างไร และการสวมใส่ Ray-Ban Aviator ใน Top Gun ของ ทอม ครูซ ประสบความสำเร็จมากแค่ไหน ติดตามได้ที่ Main Stand

    แว่นตาทรง AVIATOR
    แว่นตาทรง Aviator หรือทรงทหารอากาศ หรือที่ในบ้านเราคุ้นหูกันดีกับคำว่า “แว่นตี๋ใหญ่” คือแว่นตาที่มีประวัติศาสตร์ตรงตามชื่อของมันแบบเป๊ะๆ เพราะนี่คือแว่นที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการผลิตเพื่อให้ทหารอากาศของกองทัพสหรัฐอเมริกาในช่วงยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สวมใส่กัน


    Photo : www.heddels.com

    ลักษณะเด่นของมันคือสามารถสวมใส่ภายใต้หมวกนักบินได้อย่างสะดวกสบาย คล่องตัว กรอบทำมาจากโลหะโมเนลหรือไททาเนียมแบบบางที่มีความยืดหยุ่นสูง เพื่อสามารถเกี่ยวกับใบหูได้อย่างมั่นคง ขนาดของเลนส์รูปทรงหยดน้ำจะไม่ใหญ่มาก แต่มีความหนาพอสมควร และที่สำคัญคือต้องครอบคลุมดวงตาได้อย่างมิดชิด เพื่อป้องกันรังสีอินฟราเรด รวมถึงแสงอัลตร้าไวโอเล็ตซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของนักบินรบทางอากาศ

    แว่นตาทรงนี้เริ่มต้นผลิตขึ้นครั้งแรกในปี 1935 โดย American Optical บริษัทแว่นตายักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อส่งให้กับลูกค้าซึ่งแน่นอนว่าเป็นกองทัพทหารอากาศ โดยแว่นตาทรง Aviator รุ่นแรกของโลกมีชื่อว่า Air Corps D-1


    Photo : www.worthpoint.com

    นั่นคือจุดเริ่มต้น ก่อนที่ต่อมาจะมีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพ รวมถึงดีไซน์ให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นในปี 1942 ทางกองทัพอากาศก็ได้เปลี่ยนมาใส่แว่นตา Aviator รุ่น AN6531 ที่ขาแว่นมีความอ่อนนุ่ม และสวมใส่สบายกว่า 

    หลังจากนั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จากที่เคยจำกัดอยู่แค่ทหารของกองทัพ แว่นตา Aviator ก็เริ่มแพร่หลายสู่ประชาชนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะดัดแปลงขาแว่นให้เป็นพลาสติกเพราะคนทั่วไปไม่ได้ไปออกรบกับใครที่ไหน ความสบายในการสวมใส่จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด

    ในขณะที่ แบรนด์แว่นตา Ray-Ban ก่อตั้งขึ้นในปี 1936 ในฐานะบริษัทลูกของ Bausch & Lomb ยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมแว่นตาโลกในช่วงเวลานั้น โดย Bausch & Lomb คือหนึ่งในบริษัทที่ผลิตแว่นตา Aviator เพื่อจัดสรรให้กับกองทัพสหรัฐอเมริกา ก่อนที่ต่อมาพวกเขาจะจดสิทธิบัตรแว่นตาในชื่อรุ่น Aviator ภายใต้สิทธิบัตรการค้าของ Ray-Bans ในปี 1939

    โฆษณาแว่นตา Ray-Ban Aviator ชิ้นแรกเกิดขึ้นในปี 1944 พร้อมกับสโลแกนสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “นี่คือแว่นตาที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์มาปกป้องดวงตาของคุณ”

    หลังจากนั้นแว่น Ray-Ban Aviator ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ และก้าวกระโดดเมื่อเหล่าคนดังแห่งยุคสมัยต่างๆ หยิบมาใส่กันเป็นว่าเล่น ไม่ว่าจะเป็น เอลวิส เพรสลี่ย์, สแลช, เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ และอีกมากมาย


    Photo : www.ezcontacts.com

    อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ยุค 80s ยอดขายของ Ray-Ban Aviator รวมถึงแว่น Ray-Ban ก็ตกลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากจำนวนคู่แข่งในตลาดที่เพิ่มขึ้น ถึงขั้นที่ว่างบดุลของบริษัทกำลังเดินทางเข้าสู่จุดวิกฤติเลยทีเดียว

    จนกระทั่งการมาถึงของภาพยนตร์เรื่อง Top Gun ในปี 1986

    เหยี่ยวอากาศ มาเวอร์ริค กับแว่นตาสุดเท่
    ในความเป็นจริงแล้วภาพยนตร์เรื่อง Top Gun ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Ray-Ban ตัดสินใจจ่ายเงินเพื่อโฆษณาแฝง โดยมี ทอม ครูซ เป็นผู้สวมใส่ เพราะย้อนกลับไปในปี 1983 ทอม ครูซ ก็เคยทำให้ทั้งโลกคลั่งไคล้กับแว่นตา Ray-Ban รุ่น Wayfarer มาแล้ว จากการสวมใส่ในภาพยนตร์เรื่อง Risky Business มาแล้ว ซึ่งหลังจากภาพยนตร์เข้าฉาย ยอดขายแว่นตารุ่นดังกล่าวพุ่งสูงขึ้นถึง 50% เลยทีเดียว


    Photo : www.thehits.co.nz

    ดังนั้นในสถานการณ์ที่บริษัทกำลังย่ำแย่ การวัดใจกับ ทอม ครูซ อีกครั้ง จึงเป็นความคิดที่เข้าท่าไม่ใช่น้อย

    ไม่มีข้อมูลเปิดเผยว่า Ray-Ban จ่ายเงินให้กับสตูดิโอผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Top Gun ไปเป็นจำนวนเท่าไร แต่ที่แน่ๆ น่าจะไม่ใช่น้อยๆ แน่นอน เพราะตลอดความยาว 110 นาที เรียกได้ว่าแทบทุกฉากที่ ทอม ครูซ ในบทบาทของเหยี่ยวอากาศแแห่งกองทัพ “พีท มาเวอร์ริค มิชเชล” พระเอกของเรื่องปรากฏตัวออกมา จะต้องมีแว่นตา Ray-Ban Aviator ร่วมอยู่ในฉากนั้นด้วย 

    ถามว่าทำไมการแอบแฝงโฆษณาของ Ray-Ban ในภาพยนตร์เรื่อง Top Gun ถึงได้รับการยกย่องว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก?

    นอกจากคำตอบที่ว่า ทอม ครูซ ทั้งหล่อ ทั้งเท่ ใส่อะไรก็ดูดีไปหมดแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือการแอบแฝงครั้งนี้มันดู “จริง” มากๆ จริงจนหลายคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังถูกโฆษณา ซึ่งความรู้สึกนี้ส่งผลในแง่บวก เหล่าคนดูรู้สึกชอบแว่นตารุ่นนี้เอง โดยไม่รู้สึกว่ากำลังโดนยัดเยียดให้ชอบ


    Photo : www.imdb.com

    ความ “จริง” ที่ว่าก็เป็นเพราะแว่นตาทรง Aviator มีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นแว่นตาสำหรับทหารอากาศอยู่แล้ว มันถูกออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์นี้โดยเฉพาะ ดังนั้นเมื่อ ทอม ครูซ ในบทบาทเหยี่ยวอากาศ มาเวอร์ริค กำลังควบเครื่องบินคู่ใจอยู่ โดยบริเวณดวงตาถูกปกป้องด้วย Ray-Ban Aviator มันจึงเป็นองค์ประกอบที่ดูลงตัว พอดิบพอดีเป็นอย่างมาก

    นี่จึงเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญสำหรับคนในวงการโฆษณาว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการใช้การโฆษณาแฝงในภาพยนตร์ ยิ่งสินค้าชิ้นดังกล่าวสอดรับไปกับบริบทของเนื้อเรื่องมากเท่าไร มันก็ยิ่งส่งผลในแง่บวกมากเท่านั้น

    สานต่อตำนาน
    Top Gun เข้าฉายในโรงครั้งแรกวันที่ 16 พ.ค. 1986  และยึดโรงทั่วสหรัฐอเมริกาฉายต่อเนื่องอีกกว่า 1 ปีเต็ม ส่งผลให้ยอดสมัครเป็นทหารอากาศเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ถึงขั้นที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ ต้องตั้งโต๊ะรับสมัครใกล้กับโรงภาพยนตร์บางแห่งเลยทีเดียว


    Photo : www.theaceblackblog.com

    ส่วนแว่นตา Ray-Ban Aviator ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นมากถึง 40% หลังจากที่ภาพยนตร์เข้าฉายไปแล้ว 7 เดือน ช่วยกู้วิกฤติทางบัญชีของ Ray-Ban ให้กลับมาอยู่ในแดนบวกได้อย่างมหัศจรรย์ และยิ่งไปกว่านั้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใน Top Gun ก็กลายเป็นโดมิโน่สร้างเม็ดเงินให้กับ Ray-Ban ได้อย่างมหาศาล 

    เนื่องจากเหล่าบรรดาคนดังผู้ทรงอิทธิพลต่อวงการแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็น มาดอนน่า ราชินีเพลงป๊อป, เดวิด เบ็คแฮม หรือ แบรด พิตต์ ต่างสวมใส่แว่นทรงนี้ในที่สาธารณะ ในขณะที่ภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ก็ปรากฎภาพดาราดังที่มาพร้อมกับ Ray-Ban Aviator อยู่หลายเรื่อง ทั้ง จอห์นนี่ เด็ปป์ ในเรื่อง Donnie Brasco, อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ จากซีรี่ส์ภาพยนตร์คนเหล็ก, หรือแม้กระทั่ง โรเบิร์ต ดาวนี่ย์ จูเนียร์ ในบทบาทของ โทนี่ สตาร์ก ก็มีให้เห็นเช่นกัน 

    หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรจะหยุดความเป็นอมตะของแว่นตารุ่นนี้ได้แล้ว....ทว่าตำนานยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้

    ถือเป็นข่าวสะเทือนวงการภาพยนตร์โลกไม่น้อย เพราะคงไม่มีใครคาดคิดว่า Top Gun ภาพยนตร์จากปี 1986 ที่ผ่านกาลเวลามากว่า 34 ปีแล้วจะมีการทำภาคต่อในชื่อ Top Gun : Maverick ซึ่งพระเอกของเรื่องก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ทอม ครูซ คนเดิมนั่นเอง โดยในภาคก่อนเขาคือเหยี่ยวอากาศมาเวอร์ริคในวัยหนุ่มจอมคะนอง (ในตอนที่แสดง Top Gun ภาคแรก ทอม ครูซ เพิ่งอายุ 24 ปี) แต่ในภาคนี้เนื่องจาก ทอม ครูซ อยู่ในวัย 58 ปีแล้ว ดังนั้นบทบาทของเขาจะเปลี่ยนไปอย่างไร จะเติบโตขึ้น สุขุมมากขึ้นแค่ไหน คือเรื่องที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

    นอกจาก ทอม ครูซ แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ภาพยนตร์ Top Gun จะขาดไม่ได้โดยเด็ดขาดคือแว่นตา Ray-Ban Aviator ซึ่งจากตัวอย่างทุกคนก็น่าจะเห็นกันไปแล้วว่า มาเวอร์ริค ยังคงสวมใส่แว่นตาโปรดของเขาเหมือนเช่นเคย 


    Photo : dlisted.com

    ดังนั้นถ้ากระแส Top Gun : Maverick เป็นไปด้วยดี เชื่อได้เลยว่า Ray-Ban Aviator น่าจะกลับมาฮิตถล่มทลายอีกครั้งอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าด้วยวิกฤติ COVID-19 Top Gun : Maverick จะต้องเลื่อนกำหนดฉายจากเดือนมิถุนายนปี 2020 ไปเป็นเดือนธันวาคม 2020 ก็ตาม

    ส่วนใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากจับจอง Ray-Ban Aviator เป็นเจ้าของสักอัน ก็สามารถหาซื้อได้ที่ร้านค้า Ray-Ban อย่างเป็นทางการสาขาสยาม, เซ็นทรัลเวิลด์, ไอคอนสยาม หรือตามร้านตัวแทนจำหน่ายทั่วไปในราคาอันละ 4,500-6,000 บาท แตกต่างกันไปตามโมเดล

    แหล่งอ้างอิง

    https://www.gq.com/story/tom-cruise-top-gun-maverick-sunglasses
    https://www.marketingoops.com/reports/fast-fact-reports/rayban-aviator-tom-cruise-top-gun/
    https://www.inc.com/leigh-buchanan/randolph-engineering-massachusetts-military-eyewear-main-street.html
    https://www.cbc.ca/radio/undertheinfluence/how-a-pants-free-tom-cruise-rescued-ray-ban-1.4625924
    https://en.wikipedia.org/wiki/Aviator_sunglasses
    https://en.wikipedia.org/wiki/Ray-Ban