อาการบาดเจ็บ เมื่อไรประคบร้อน เมื่อไรประคบเย็น รู้ได้ไง?
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/me/0/ud/13/69857/injury.jpgอาการบาดเจ็บ เมื่อไรประคบร้อน เมื่อไรประคบเย็น รู้ได้ไง?

    อาการบาดเจ็บ เมื่อไรประคบร้อน เมื่อไรประคบเย็น รู้ได้ไง?

    2020-11-08T20:03:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    “การประคบร้อน” และ “การประคบเย็น” เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในกรณีที่ร่างกายเรามีอาการบาดเจ็บแบบไม่รุนแรง ซึ่งวัตถุประสงค์ในการประคบร้อน/เย็นนี้ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ ปวด บวม ทั้งที่เกิดขึ้นเนื่องจากอาการป่วย หรือที่เกิดขึ้นเพราะร่างกายได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา การออกกำลังกาย เกิดอุบัติเหตุ รอยฟกช้ำต่าง ๆ จากการกระแทก

    อย่างไรก็ดี หลายคนก็ยังสับสนอยู่ดี ว่าเมื่อไรล่ะที่เราต้องประคบร้อน หรือตอนไหนต้องประคบเย็น โดยการจะเลือกว่าประคบร้อนหรือประคบเย็นนั้น ต้องพิจารณาจากอาการเบื้องต้น และไม่ควรจะเลือกประคบผิดวิธี เนื่องจากการเลือกประคบร้อน/เย็นที่ไม่ถูกกับอาการบาดเจ็บมีผลต่อการไหลเวียนของเลือด และอาจเป็นอันตรายได้

    เมื่อไรทีต้องประคบเย็น
    ประคบเย็น จะทำเมื่อเกิดอาการบาดเจ็บเฉียบพลัน ร่วมกับมีอาการบวม เพราะความเย็นจะช่วยให้หลอดเลือดหดตัว ลดการไหลเวียนของเลือด มีผลให้เลือดออกน้อยลง ห้ามเลือด อาการบวมลดลง และลดการทำงานของเส้นประสาทชั่วคราว ซึ่งบรรเทาอาการปวด

    หรือจำง่าย ๆ ก็คือ บาดเจ็บทันทีมีอาการใหม่ ๆ ให้ประคบเย็น หากมีอาการปวดบวมหรือได้รับบาดเจ็บ ให้ประคบเย็นด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็นทันที หรือภายใน 24-48 ชั่วโมง ประคบวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 20 นาที

    ตัวอย่างอาการที่ควรประคบเย็น เช่น อาการข้อมือข้อเท้าเคล็ด อาการปวดบวมจากการได้รับบาดเจ็บ อาการปวดฟัน เลือดกำเดาไหล รวมถึงอาการปวดตา (ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ) อาการปวดศีรษะ และมีไข้สูง

    อุปกรณ์ที่ใช้ในการประคบเย็น ใช้ผ้าขนหนูที่มีความหนาพอประมาณห่อน้ำแข็ง การทำถุงเย็นใช้เอง ด้วยถุงพลาสติกใส่น้ำแข็งผสมกับน้ำเปล่าอย่างละครึ่งแล้วใช้ผ้าห่อ ใช้ขวดน้ำเย็นที่ห่อด้วยผ้าขนหนูผืนบาง ๆ หรือเจลประคบเย็นแบบสำเร็จรูปที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป ควรทดสอบก่อนว่าไม่เย็นจนเกินไป และควรมีผ้าหรือปลอกหุ้มอุปกรณ์ประคบด้วย เพื่อป้องกันผิวหนังสัมผัสกับความเย็นโดยตรงจนเกิดอาการบาดเจ็บ

    เมื่อไรที่ต้องประคบร้อน
    ประคบร้อน จะทำเมื่อเกิดอาการปวดแบบเรื้อรัง อาการปวดที่เป็น ๆ หาย ๆ โดยมีอาการตึงของกล้ามเนื้อร่วมด้วย ความร้อนจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดตึง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง ประคบวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 15-20 นาที

    ตัวอย่างอาการที่ควรประคบร้อน คือ อาการปวดท้องประจำเดือน ปวดตึงกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า หลัง หรือน่อง กรณีที่เป็นการบาดเจ็บที่ผ่านไปแล้ว 48 ชั่วโมง (ตอนบาดเจ็บใหม่ ๆ ให้ประคบเย็น แต่ถ้าผ่านไป 48 ชั่วโมงไปแล้วยังปวดอยู่ ให้ประคบร้อน) และจะประคบร้อนได้ก็ต่อเมื่อไม่มีอาการอักเสบ ไม่มีอาการบวม แดง ร้อน และไม่มีบาดแผลเปิดหรือมีเลือดออก

    อุปกรณ์ที่ใช้ในการประคบร้อน ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อน ใช้กระเป๋าน้ำร้อน หรือเจลประคบร้อนสำเร็จรูป (ทำให้ร้อนโดยนำเข้าไมโครเวฟ) แต่ข้อควรระวังคือ อุณหภูมิในการประคบร้อนไม่ควรเกิน 45 องศาเซลเซียส ไม่ประคบนานเกิน 20 นาที และไม่ถี่จนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการแสบร้อนผิวหนังบริเวณที่ประคบได้ ควรมีผ้าหรือปลอกหุ้มอุปกรณ์ประคบด้วย เพื่อไม่ให้ความร้อนสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง

    ข้อควรระวังอื่น ๆ

    ข้อควรระวังในการประคบเย็น

    • ผู้ที่มีอาการแพ้หรือประสาทสัมผัสไวต่อความเย็นมาก เพราะอาจเกิดผื่น ลมพิษ บวม ความดันโลหิตสูง
    • ไม่ใช้การประคบเย็นบริเวณกล้ามเนื้อหรือข้อต่อที่แข็ง
    • ผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและการไหลเวียนเลือด
    • ผู้ป่วยโรคหัวใจ
    • ไม่ควรใช้เวลาในการประคบนานเกินไป (ไม่ควรเกิน 20 นาที) เพราะอาจส่งผลต่อผิวหนัง เนื้อเยื่อ และเส้นประสาท

    ข้อควรระวังในการประคบร้อน

    • ไม่ควรใช้เวลาในการประคบนานเกินไป (ไม่ควรเกิน 15-20 นาที) เพราะอาจทำให้ผิวหนังไหม้ และหากมีอาการติดเชื้อ ความร้อนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไปทั่วร่างกาย
    • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะบริเวณแขนขา เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ อาจเกิดแผลติดเชื้อเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อน
    • ผู้ป่วยผิวหนังอักเสบ อาจเกิดอาการบาดเจ็บร้ายแรงที่ผิวหนัง
    • ผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและการไหลเวียนเลือด
    • ผู้ป่วยโรคหัวใจ
    • ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

    ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, Healthline.com