ขี้หลงขี้ลืม กิน “ช็อกโกแลต” ช่วยดูหน่อยไหม?
ช็อกโกแลต ของหวานสุดโปรดของใครหลาย ๆ คน แต่ช็อกโกแตนี้มีชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีเท่าไร โดยเฉพาะความอ้วน ทั้งที่ช็อกโกแลตไม่ได้ผิดอะไร ที่ผิดคือน้ำตาลต่างหาก
แต่ช้าก่อน…ช็อกโกแลตสุดโปรดนั้นมีประโยชน์ต่อ “สมอง” มากกว่าที่คิด เพราะช็อกโกแลตทำมาจากโกโก้เป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งในโกโก้มีสาร “ฟลาโวนอยด์”
การที่ร่างกายได้รับสารฟลาโวนอยด์ มีผลดีต่อการไหลเวียนของเลือดไปสู่สมอง จึงมีประโยชน์ต่อการทำงานของสมองได้ และหากกินอย่างพอเหมาะพอดีแล้ว ยังช่วยให้สมองทำงานได้ดีในระยะยาวเลยทีเดียว
นอกจากนั้น ฟลาโวนอยด์ ยังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ไม่ได้เพียงช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง แต่ยังช่วยให้เม็ดเลือดไม่จับตัวเป็นก้อนจนอุดตัน และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดด้วย
การศึกษาเกี่ยวกัยช็อกโกแลตกับการทำงานของสมองนี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย L’Aquila ในอิตาลี ศึกษาผลที่เกิดขึ้นต่อสมองจากการกินช็อกโกแลต โดยให้ผู้ที่ร่วมการวิจัยซึ่งเป็นผู้สูงวัยทดสอบความจำในรูปแบบต่าง ๆ หลังจากกินช็อกโกแลตเข้าไปประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยระยะเวลาทดสอบมีตั้งแต่ 5 วันและนานจนถึง 3 เดือน
การศึกษานี้พบว่า ฟลาโวนอยด์ในโกโก้ช่วยพัฒนาความจำให้ดีขึ้น อีกทั้งยังลดผลกระทบจากภาวะขาดการนอนหลับ (sleep deprivation) หรือนอนหลับได้ไม่เต็มอิ่มที่ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียด้วย
ดอกเตอร์วาเลนติน่า ซอชชี่ หัวหน้าทีมวิจัยดังกล่าว กล่าวว่า ในบรรดาช็อกโกแลตทั้งหมด “ดาร์กช็อกโกแลต” อุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์มากที่สุด เนื่องจากมีส่วนผสมของโกโก้เข้มข้นที่สุด ส่วนผสมอื่นมีน้อย จึงมีประโยชน์มากหากจะบริโภคทุกวัน โดยเฉพาะการส่งผลดีต่อสมองระยะยาว มีผลทำให้การทำงานของสมองในผู้สูงวัยดีขึ้น
ถ้าคุณมีอาการขี้หลงขี้ลืมล่ะก็ ลองกิน (ดารก์) ช็อกโกแลตช่วยดีกว่าไหม ทนขมนิดหน่อย แต่ดีต่อสมองมาก
ข้อมูลจาก www.sciencedaily.com