ผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้งานเลี้ยงต้อนรับและอำลาบริษัทญี่ปุ่นถูกงดไปกว่า 80%!?

ผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้งานเลี้ยงต้อนรับและอำลาบริษัทญี่ปุ่นถูกงดไปกว่า 80%!?

ผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้งานเลี้ยงต้อนรับและอำลาบริษัทญี่ปุ่นถูกงดไปกว่า 80%!?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงเดือนเมษายน สำหรับที่ญี่ปุ่นแล้วเป็นช่วงแห่งการเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นทำงานของพนักงานใหม่ การอำลาพนักงานเก่าที่ลาออกหรือเกษียณอายุ เป็นต้น ซึ่งช่วงเวลานี้ของทุก ๆ ปี แต่ละบริษัทก็จะมีการจัดเลี้ยงต้อนรับพนักงานใหม่และอำลาพนักงานอย่างครึกครื้น แต่ทว่าปีนี้เนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 ทำให้หลายบริษัทต้องยกเลิก กลายเป็นโหมดฉลองเงียบ ๆ ไม่มีเพื่อนร่วมงานมาร่วมฉลองด้วยอย่างที่เคยเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ เว็บไซต์ mynavi จึงได้ทำการสำรวจพนักงานบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นสมาชิกของเว็บไซต์ จำนวน 300 คน ช่วงอายุระหว่าง 20-50 ปี ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับงานเลี้ยงต้อนรับและงานเลี้ยงอำลาพนักงานในปีนี้

พนักงานกว่า 60% ไม่ชอบงานเลี้ยงสังสรรของบริษัท

เริ่มต้นการสำรวจด้วยคำถามที่ว่า “คุณงานงานเลี้ยงสังสรรของบริษัทหรือไม่?” ผลปรากฏว่า พนักงานที่มีอายุระหว่าง 20-35 ปี ตอบว่า “ไม่” ส่วนพนักงานที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ตอบว่า “ชอบ” โดยผู้ที่ตอบว่าไม่ชอบนั้นมีมากถึง 60% ซึ่งทำให้วิเคราะห์ได้ว่างานเลี้ยงสังสรรของบริษัทสำหรับคนวัยหนุ่มสาวต้น ๆ อาจจะไม่น่าดึงดูดให้เข้าร่วมมากพอก็ได้

เมื่อถามถึงเหตุผลที่ไม่อยากเข้าร่วม ส่วนใหญ่ตอบว่า “เพราะต้องพยายามให้ความสนใจกับงานเลี้ยง” ซึ่งในจำนวนผู้ที่ตอบว่า “ไม่ชอบ” มีถึง 70% ที่ให้เหตุผลในข้อแรก เหตุผลถัดมาคือ “ไม่อยากไปร่วมเพราะนอกเวลางานแล้ว” ถึงแม้ว่าจะเป็นงานเลี้ยงสังสรรในร้านนั่งดื่ม แต่หากไปดื่มร่วมกับคนในบริษัท หลาย ๆ คนก็ยังรู้สึกว่ามันคือการทำงานอยู่ดี และมีหลาย ๆ คนที่ดื่มไม่เก่ง แต่หากไปร่วมงานเลี้ยงของบริษัทแล้วมักจะถูกบังคับให้ดื่มเสมอ จึงเป็นเหตุผลที่ไม่อยากไปร่วมงานเลี้ยงของบริษัทสักเท่าไหร่

ผลกระทบของ COVID-19 ทำให้งานเลี้ยงของบริษัทถูกควบคุมไปโดยปริยาย

อย่างที่ทุกคนทราบกันว่าตอนนี้การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น จึงมีคำถามต่อมาว่า “ทางบริษัทได้เรียกร้องให้งดการเลี้ยงสังสรรหรือไม่?” ซึ่งมีมากถึง 65% ที่ตอบว่า “มี” โดยจากสถานการณ์การตอนนี้มีบริษัทมากกว่าครึ่งที่งดงานเลี้ยงสังสรรต่าง ๆ ไปแล้ว และได้มีการสำรวจต่ออีกว่า “แล้วกับคนสนิทในบริษัทยังมีไปดื่มด้วยกันหรือไม่?” ซึ่งก็มากกว่า 76% ที่ตอบว่า “งดออกไปสังสรร” เนื่องจากตอนนี้ทุกคนคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองมากกว่าคำนึงถึงบริษัท ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นร้านอาหารและร้านนั่งดื่มต่าง ๆ แน่

นอกจากนี้ยังมีพนักงานชาวญี่ปุ่นหลายคนที่ให้ความเห็นว่า “เสียดายที่ไม่สามารถจัดงานงานอำลาให้เพื่อนพนักงานที่ร่วมทำงานด้วยกันมา” “ถึงแม้ว่าจะไม่ได้จัดงานเลี้ยงสังสรรให้ แต่ก็ส่งของขวัญขอบคุณที่ช่วยทำงานด้วยกันมาอย่างดีโดยตลอด” “ความจริงอยากจัด แต่เพราะโรคระบาดจึงต้องจำใจยกเลิก” และ “การงดจัดงานเลี้ยงสังสรรทำให้สูญเสียโอกาสดี ๆ ไป” เป็นต้น

งบประมาณค่าใช้จ่ายในงานเลี้ยงอำลาหรือค่าของขวัญประมาณเท่าไหร่?

แม้ว่าส่วนใหญ่ไม่สามารถจัดงานเลี้ยงอำลาได้ แต่ว่าก็มีบางบริษัทที่อาจจะจัดงานเล็ก ๆ หรือมอบของขวัญให้แทน โดยในการจัดเลี้ยงหรือมอบของขวัญทุกครั้งจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ซึ่งพนักงาน 66.9% ตอบว่า ค่าของขวัญอยู่ที่ไม่เกิน 5,000 เยน (ประมาณ 1,600 บาท) และมีเพียง 4% เท่านั้น ที่ให้ของขวัญมูลค่าเกิน 10,000 เยน (ประมาณ 3,000 บาท)

ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับงานเลี้ยง 56% อยู่ที่ไม่เกิน 4,000 เยน (ประมาณ 1,200 บาท) 38% อยู่ที่ 4,000 -6,000 เยน ( 1,200-1,800 บาท) และ 2% มากว่า 8,000 เยนขึ้นไป (2,600 บาทขึ้นไป) เมื่อดูค่าใช้จ่ายทั้งสองอย่างรวมกันแล้ว ดูเหมือนว่างบประมาณทั้งของขวัญและค่างานเลี้ยงของพนักงานจะอยู่ที่ราวๆ ไม่เกิน 10,000 เยน หรือ ประมาณ 3,000 บาท ต่องานเลี้ยง แต่ก็มีบางท่านได้ให้ความเห็นว่า จริง ๆ  แล้วสิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องเงินคือ ความรู้สึกที่มีให้ต่อเพื่อนร่วมงานนั่นเอง

สำหรับคนญี่ปุ่นหลาย ๆ คนแล้ว งานเลี้ยงต้อนรับและงานอำลาก็ยังเป็นกิจกรรมที่สำคัญในการต้อนรับสมาชิกใหม่และแสดงความขอบคุณสำหรับสมาชิกเก่าที่กำลังจะจากบริษัทไป ทั้งยังเป็นการสร้างมิตรภาพและความทรงจำที่สวยงามในการทำงานในอนาคตอีกด้วย แม้ว่าสถานการณ์ตอนนี้อาจจะไม่เอื้อต่อการจัดงานเลี้ยง แต่คนญี่ปุ่นหลาย ๆ คนก็ได้คิดหาวิธีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งดอกไม้ต้อนรับและอำลาหรือส่งข้อความไปต้อนรับหรือขอบคุณ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถส่งความรู้สึกที่มีต่อเพื่อนร่วมงานได้ในช่วงเวลาวิกฤติแบบนี้ได้

สรุปเนื้อหาจาก: news.mynavi
ผู้เขียน: KOKATETA

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook