เรื่องของมะเร็ง ที่มากับนิสัยการกิน
เรื่องกินไม่เคยเป็นเรื่องเล็กเสมอ ไม่ว่าจะเป็นมื้อไหน เวลาไหน กับใคร ที่ไหน กินยังไง คิดในมุมไหนก็ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะทุกอย่างที่คุณกินย่อมส่งผลถึงร่างกายของคุณทั้งสิ้น ยิ่งทุกวันนี้คนกว่าร้อยละ 80 อาศัยอยู่ในเขตเมืองซึ่งเต็มไปด้วยความเร่งรีบ การให้ความสำคัญกับการกินที่ผิดๆ เช่นว่ากินแต่อาหารอุ่นร้อนจากไมโครเวฟที่ปราศจากกากใย กินอาหารฟาสต์ฟู้ดเพราะต้องการเอาเวลาไปทำอย่างอื่น เรื่องพวกนี้นำพามาซึ่งโรคหนึ่ง ดูเหมือนมีแนวโน้มว่าคนวัยหนุ่มสาวจะเป็นมากขึ้น นั่นคือ มะเร็งในลำไส้ใหญ่ (Colorectal Cancer)
มะเร็งในลำไส้ใหญ่มีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นลำดับต้นๆ ของมะเร็งทั้งหมดที่มี ปัจจุบันชายไทยเป็นมะเร็งชนิดนี้มากเป็นอันดับ 3 และเป็นอันดับ 5 ในผู้หญิง แม้ว่าโดยมากจะพบในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดในคนที่มีอายุน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อดูประวัติของผู้ป่วยเกือบทั้งหมด พบว่าปัญหามาจากการไม่ให้ความสำคัญกับรูปแบบการใช้ชีวิตและอาหารการกิน
พญ.สุทธิรา เลิศอมรพงษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินอาหารและโรคตับ ประจำโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล พหลโยธิน ให้คำแนะนำถึงการสังเกตอาการเริ่มต้นของคนวัยทำงานที่อาจจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ว่า
“อาการที่น่าสงสัยน่าจะมาจากการถ่ายผิดปกติไปจากเดิม ท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระมีเลือดปน อุจจาระมีขนาดเล็กลง อ่อนเพลีย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ โลหิตจาง กรณีที่บางคนไม่พบว่ามีอาการผิดปกติเลย แล้วเมื่อไหร่ที่จำเป็นจะต้องได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้เบื้องต้น ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ก็ได้แก่ มีประวัติมะเร็งในครอบครัวที่ไม่จำกัดแค่มะเร็งลำไส้ การดื่มสุราและ/หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ การกินแต่อาหารไขมันสูง รวมถึงไม่กินผักและผลไม้ นอกจากนี้คนที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเลย แต่มีอายุมากกว่า 50 ปี ต้องมาตรวจคัดกรองมะเร็ง เพราะอุบัติการณ์ของมะเร็งจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป”
แพทย์จะมีวิธีการตรวจคัดกรองโรค 3 วิธี คือหนึ่ง, การตรวจเลือดในอุจจาระ สอง, การตรวจเอกซเรย์สวนแป้งดูลำไส้ (Barium enema) และสุดท้ายคือการส่องกล้องตรวจลำไส้ (Colonoscopy)
หากคุณยังหนุ่มยังแน่น ยินดีด้วย คุณยังมีโอกาสห่างไกลจากโรคเหล่านี้อยู่มาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณต้องปรับเปลี่ยนวิธีการกิน คุณควรหันมาบริโภคผักผลไม้ให้มากขึ้น และหลากสีอีกด้วย ของพวกนี้มีสารต้านอนุมูลอิสระและมีเส้นใยสูง ยังมีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่า ผักตระกูลกะหล่ำ มีส่วนช่วยลดสารก่อมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งได้แก่ บร็อคโคลี ดอกกะหล่ำ ผักกาด และผักวอเตอร์เครส แขนงผัก และหัวไชเท้า เป็นต้น
เปลี่ยนชีวิตต้านมะเร็ง เรามี 5 ข้อง่ายๆ ที่อยากให้คุณใส่ใจเพื่อห่างจากการเป็นมะเร็ง
1. ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เหมาะสม น้ำจะช่วยสร้างความสมดุลให้กับเซลล์และฮอร์โมนในร่างกายให้ทำงานได้ปกติ รวมทั้งช่วยขับของเสียในร่างกาย
2. กินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ที่มีใยอาหารสูงเป็นประจำ เช่น ธัญพืชต่างๆ ข้าวกล้อง ของเหล่านี้มีคุณสมบัติดูดซับสารก่อมะเร็งก่อนขับออกสู่ร่างกาย
3. หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน หรือบริโภคแต่น้อย
4. เลือกบริโภคกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น เมนูปลาทะเล น้ำมันพืชบางชนิด เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว และน้ำมันถั่วเหลือง
5. หากคุณเป็นพวกคอทองแดงที่ดื่มเป็นประจำ ข้อนี้อาจจะยากหน่อยแต่ก็จำเป็นต้องทำ คุณควรลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นสูงๆ ไวน์สักหนึ่งแก้วเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าวิสกี้บ่ม 18 ปี และเลิกสูบบุหรี่อย่างจริงๆ จังๆ ซะทีเพื่อตัวคุณเอง