"เกม" ที่ผู้ใหญ่ส่ายหน้า สู่กีฬาสากล E-Sports

"เกม" ที่ผู้ใหญ่ส่ายหน้า สู่กีฬาสากล E-Sports

"เกม" ที่ผู้ใหญ่ส่ายหน้า สู่กีฬาสากล E-Sports
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สมัยก่อนตั้งแต่เรายังเด็ก ในยุคที่เทคโนโลยีต่างๆ ยังไม่เฟื่องฟูเท่าในปัจจุบัน เด็กบางคน หรือบางบ้าน ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ดีๆ ใช้ ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตโดยตรง อาศัยเดินเข้าเดินออกร้านเกมเพื่อผ่อนคลายจากการเรียนด้วยการ ‘เล่นเกม’ ซึ่งบางคนอาจถึงขั้นกลายเป็น ‘เด็กติดเกม’ จนทะเลาะกับผู้ใหญ่ในบ้านของตัวเอง
 
วันเวลาหมุนเวียนไป ใครเล่าจะคิดว่าเกมที่ผู้ใหญ่หลายๆ คนส่ายหน้าหนี ไม่ยอมให้เด็กภายใต้การดูแล หรือลูกๆ ของตนนั้นมุ่งมั่นหรือจริงจังอะไรมากมายกับการใช้ชีวิตอยู่กับมัน สุดท้ายจะกลายมาเป็น ‘กีฬา’ ที่ทุกคนจับต้องได้ และเป็นอีกทางในการสร้างรายได้ของบรรดาเซียนเกมทั้งหลาย

จริงๆ แล้วกีฬา Electronic Sports E-Sports กำเนิดมานานพอสมควร แต่เมื่อก่อนยังไม่เป็นที่แพร่หลาย มีจุดเริ่มต้นมาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่จัดแข่งขันเกม Spacewar กันภายในมหาวิทยาลัย ก่อนจะพัฒนามาเป็นเกม Space Invaders จัดแข่งขันภายในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีคนร่วมชิงชัยกว่า 5,000 คน นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของการแข่งขัน E-Sports 

จากนั้นเกมคอมพิวเตอร์รวมไปถึงเกมคอนโซลมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตัวเกมก็ดึงดูดคอเกมเมอร์ทั้งหลายมากขึ้น ทั้งความสนุกตื่นเต้น ภาพที่สวยงามมากขึ้น ซึ่งจุดสำคัญในช่วงยุค 90 คือการเข้ามาของอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้เกมต่างๆ จากที่ใช้การ LAN เชื่อมต่อกัน เปลี่ยนมาเป็นใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อกันทำให้ง่ายต่อการแข่งขันหรือเล่นร่วมกับเพื่อนๆ อย่างเช่น Counter-Strike, Starcraft, Quake และทั้ง 3 เกมนี้คือจุดเริ่มต้นในกีฬาอีสปอร์ตอย่างแท้จริง เพราะมีการจัดการแข่งขันเป็นเกมแรกๆ ในอดีต 

ถ้าจะพูดถึงต้นตำรับในการจัดการแข่งขันอีสปอร์ตกันจริงๆ คงต้องยกให้สหรัฐอเมริกาที่ริเริ่มจัดการแข่งขันเป็นชาติแรกๆ เลยก็ว่าได้ เขามีเป็นลีกอาชีพที่ใช้ชื่อว่า Major League Gaming หรือคำย่อ MLG ซึ่งชื่อก็คล้ายๆ กับลีกเบสบอล (MLB) หรือเมเจอร์ลีกซ็อคเกอร์ (MLS) และต่อมารัฐบาลเกาหลีใต้ที่ส่วนใหญ่มักจะทำอะไรตามสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว ก็นำลีกเกมเมอร์ไปจัดในประเทศของตน จะเรียกได้ว่าเป็นชาติแรกในเอเชียก็ว่าได้ ที่มีการแข่งขันกีฬาแนว E-sports อย่างเป็นทางการ และก็มีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแบบจริงๆ จังๆ ไม่ขาดสาย


 

ใครจะไปคิดว่าการแข่งขันของบรรดาคนคลั่งไคล้เกมทั้งหลายจะมีมูลค่าเงินรางวัลสูงถึง 10,000,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 330,000,000 บาท ในปี 2014 ในรายการอี-สปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาในปี 2015 เงินรางวัลก็พุ่งสูงขึ้นไปอีกถึง 15,000,000 เหรียญสหรัฐ ถือเป็นรายการที่มีเงินรางวัลสูงเกือบเทียบเท่าการแข่งขันกีฬาอาชีพเลยก็ว่าได้ หรืออาจจะสูงกว่ากีฬาบางชนิดเลยด้วยซ้ำ แต่นั่นคือเงินรางวัลรวมสำหรับ 1 ทีม แต่ ณ เวลานี้ผู้ที่ทำสถิติคว้าเงินรางวัลคนเดียวที่สูงที่สุดได้แก่ เฉิน จื้อเห่า เกมเมอร์ชาวจีนในการแข่งขัน Dota 2 ซึ่งเขาคว้าเงินรางวัลไป 1,249,642 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 42 ล้านบาท

นั่นคือที่มาของ E-Sports ในต่างประเทศที่เริ่มต้นมาได้สักพักแล้ว และถ้าถามถึง E-Sports ในประเทศไทยล่ะ!? 

การแข่งขันอีสปอร์ตในบ้านเรามาเริ่มจริงๆ จังๆ คือในช่วงปี 2007 ที่ตอนนั้นเป็นยุคบุกเบิก เป็นช่วงที่บริษัทการีน่า (Garena) บริษัทเกมชื่อดังเข้ามาสู่วงการเกมบ้านเราอย่างจริงๆ จังๆ ผลักดันเกม Heroes of Newerth หรือ HON เข้ามาสู่เมืองไทยและฮิตอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการนำเกม League of Legends หรือ LOL เข้ามาตีตลาดอย่างต่อเนื่อง และยังมีเกม FIFA Online 3 ตามเข้ามาให้คอเกมเมอร์ได้ฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองอีก จนเริ่มมีการจัดการแข่งขันเกมเหล่านี้อย่างเป็นทางการ มีการคัดเลือกรับสมัครกันอย่างกว้างขวางจนหาแชมป์ระดับประเทศเพื่อหาตัวแทนประเทศไทยไปชิงชัยยังต่างแดน 

หลังจากที่วงการ E-sports ของไทยได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเรื่อยๆ จนเริ่มมีชื่อเสียง สอดคล้องกับการที่ต่างประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับกีฬาชนิดนี้กันมากขึ้น มีการจัดการแข่งขันต่างๆ นานามากมายทั่วทุกมุมโลก จนสุดท้ายมีการบรรจุเข้าไปเป็นกีฬาสาธิตในเอเชียนเกมส์ 2018 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ ได้แก่เกม ROV, LOL, PES2018, StarCraft II, Hearthstone, Clash Royale เป็นต้น

 

หากว่ากันถึงวงการอีสปอร์ตของไทยจะบอกว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เพราะบรรดาเกมเมอร์ไทยที่มีฝีมือหลายคนต่างไปคว้าแชมป์ต่างแดนกันมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงประเทศไทยได้รับหน้าเสื่อจัดการแข่งขันอีสปอร์ตในหลายๆ เกม นอกจากมีการจัดการแข่งขันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นแล้ว ณ ปัจจุบัน ยังมีการสนับสนุนจากทางเอกชนที่เข้ามาดูแลนักกีฬาอีสปอร์ตอย่างเต็มตัวถึงขั้นสร้างทีมกันเป็นตัวเป็นตน และให้เงินเดือนสนับสนุนเลยทีเดียว 

อย่างเช่นบุรีรัมย์ ภายใต้การควบคุมของเนวิน ชิดชอบ เข้าไปจับมือกับทีม Arctic Wolf ยอดทีมของเกม ROV-Dota2 ในการควบคุมดูแลและให้เงินสนับสนุนในเรื่องของการเดินสายแข่งขันในอีเวนต์ต่างๆ และเป็นการสร้างแบรนด์ Buriram Arctic Wolf อย่างเป็นทางการ เพื่ออนาคตในวงการอีสปอร์ตที่กำลังเติบโต ซึ่งทางเนวิน ชิดชอบ เคยออกมาให้ความเห็นถึงเรื่องนี้สรุปใจความได้ว่า "ธุรกิจวงการเกมนั้นเติบโตขึ้นเร็วมาก มีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นมากพอๆ กับทีมฟุตบอล หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่บุรีรัมย์เข้ามาให้ความสนใจในเรื่องนี้เพื่อนำพาเด็กๆ ให้ต่อยอดความสำเร็จในอนาคต" และไม่ใช่เพียงบุรีรัมย์เท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้บางกอกกล๊าส นอกจากทีมฟุตบอลแล้วก็ยังมีการสร้างทีมอีสปอร์ตขึ้นมาอีกด้วย

นอกจากนั้นยังมีการ ‘จ้าง’ เหล่าเกมเมอร์ฝีมือดีให้ไปตระเวนแข่งขันในอีเวนต์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศไทยเอง และต่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งแหล่งที่เอาไว้ ‘สร้างรายได้’ ให้แก่คอเกมทั้งหลาย ไม่ใช่การเล่นเกมหรือติดเกมไปวันๆ ซึ่งถ้ามีพรสวรรค์และมุ่งมั่นตรงนี้อย่างจริงๆ จังๆ คุณก็อาจจะกลายเป็นหนึ่งในสุดยอดเกมเมอร์ที่คว้าเงินรางวัลจากการแข่งขันในอีเวนต์ต่างๆ มาครอบครองก็ได้ 

ทุกวันนี้วงการ E-sports ในไทย เติบโตขึ้นมาก มีการ LIVE Stream แทบจะทุกอีเวนต์ที่มีการแข่งขัน อย่างเช่นใน Youtube หรือในเว็บไซต์ Twitch.tv ที่ถ่ายทอดสดการแข่งขันหลายๆ เกมอยู่ตลอด และมีผู้สนใจเข้าไปดูไม่ต่ำกว่า 10,000-20,000 คนต่อการไลฟ์สด 1 เกม

ใครจะไปเชื่อว่าวงการเกมเมอร์จะพัฒนามาได้ไกลขนาดนี้ จากที่เมื่อก่อนตอนที่เรายังเด็ก เราแค่เล่นเกมเพื่อสนองอารมณ์สุนทรีตามวัยของเราเท่านั้น ใครจะไปคิดเล่าว่าสมัยนี้เหล่าเกมเมอร์ทั้งหลายจะใช้จุดนี้ในการสร้างเงินสร้างรายได้ หันมาจริงจังกับการเล่นเกมมากขึ้น ซึ่งหลายคนก็บริหารจัดการเวลาได้ดี เล่นเกมไปด้วยโดยที่ไม่เสียการเรียน และยังสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง แบ่งเบาภาระคนในครอบครัวได้ตั้งแต่อายุยังน้อย 

แต่ที่สำคัญคำว่า ‘เด็กติดเกม’ กับ ‘เกมเมอร์อาชีพ’ มีเส้นบางๆ กั้นอยู่ ผู้ปกครองทั้งหลายก็ควรดูแลเอาใจใส่ลูกหลานให้เหมือนเดิม เพราะไม่ใช่ใครทุกคนจะประสบความสำเร็จบนเส้นทางนี้...
 
เรื่อง : เปาลินโญ่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook