6 รูปแบบ 'ความรักเป็นพิษ' ที่คนชอบคิดว่าเป็นเรื่องปกติ

6 รูปแบบ 'ความรักเป็นพิษ' ที่คนชอบคิดว่าเป็นเรื่องปกติ

6 รูปแบบ 'ความรักเป็นพิษ' ที่คนชอบคิดว่าเป็นเรื่องปกติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความรักมีหลายรูปแบบ แต่มีไม่น้อยที่คอยทำลายตัวตนของเราด้วยการอ้างว่านี่คือ "รัก"

ถ้าคุณรู้สึกอึดอัดกับความสัมพันธ์ที่พึ่งพิงอีกฝ่ายมากเกินไป วันๆ ต้องคอยดูแลเอาใจใส่กังวลต่อคนรักตลอดจนไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง หนักกว่านั้น "ความรัก" ยังทำให้คุณรู้สึกแย่ หวาดระแวง ทำอะไรก็ผิด ไม่มีค่า กลัวจะต้องเสียอีกฝ่ายไปจนเกินพอดี ฯลฯ นี่อาจเป็นสัญญาณของความรักที่เป็นพิษ (toxic relationship) ที่กัดกร่อนชีวิตของคุณ จนบางครั้งกลายเป็นว่ายิ่งรักยิ่งเจ็บ คบไปก็ไม่มีความสุข หรือเลวร้ายที่สุดก็อาจนำไปสู่ความรุนแรง

ถามตัวเองดีๆ ว่านี่ใช่ความรักที่คุณต้องการจริงหรือ? ในโลกที่การแสดงความรักถูกผลิตซ้ำจนเต็มไปด้วยภาพฝันที่เราคาดหวังว่าเขาจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มากกว่าการคบกันของ "มนุษย์" จริงๆ ที่มีดี มีเลว บทความที่แปลและเรียบเรียงจาก Quartz ชิ้นนี้รวบรวมกรณีต่างๆ ในความสัมพันธ์ที่มีแนวโน้มจะเป็นก้าวแรกไปสู่ความรักที่เป็นพิษ แม้เบื้องหน้าจะฉาบเคลือบไปด้วยความเหมือนจะโรแมนติกก็ตาม

1. หึงเพราะรัก?
ถ้าแค่เล่นๆ สนุกๆ คุยกันเองขำๆ ก็ยังดูน่ารัก แต่ถ้าลุกลามเป็นการตามเช็คตลอดเวลาว่าอยู่ไหนกับใคร ต้องรู้รหัสเข้ามือถือเพื่อจะตามมาอ่านแชทต้องสงสัย กดหัวใจให้คนอื่นก็ไม่ได้ บางรายถึงกับแอบตามไปซุ่มดูไม่ให้รู้ตัว ก่อนจะเซอร์ไพรส์ด้วยการอาละวาดต่างๆ นานาแบบไม่อายชาวบ้าน ฯลฯ ถึงขั้นนี้อาจจะต้องรู้สึกตัวได้แล้วว่าไม่ปกติ 

"ยิ่งหึงมากแสดงว่ายิ่งรักมาก" เป็นมายาคติที่ปลูกฝังผ่านหนัง,นิยาย, การ์ตูน ฯลฯ หยั่งรากลึกมานานจนคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ สิ่งที่ทำให้กรณีนี้มีแนวโน้มเป็นพิษก็คือพื้นฐานความคิดที่ว่า "ถ้าไม่หึงเลยแสดงว่าเขาไม่รักเราจริง" บางรายถึงกับพยายาม "ลองใจ" ยั่วให้หึงจนกลายเป็นเรื่องใหญ่โตไปอีก แต่แท้จริงแล้วนี่คือการแสดงออกขั้นต้นของความไม่เชื่อใจกัน และอยากเข้ามาควบคุมชีวิตผู้อื่น 

สิ่งที่ควรทำ: เชื่อใจคนที่คุณรัก (แม้จะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก) ความหึงหวงเป็นเรื่องปกติ แต่วิธีที่เราจัดการกับมันจะบ่งบอกวุฒิภาวะของตัวเราด้วย หากคุณหึงแฟนจนอีกฝ่ายไม่มีความเป็นส่วนตัว นั่นอาจบ่งบอกได้ว่าคุณก็รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าพอให้เขาซื่อสัตย์เช่นกัน 

2. ขู่เลิกจากเรื่องเล็ก
เอะอะเป็นท้าเลิก! ถ้าทำตัวแบบนี้ก็จบกันตรงนี้! ตกลงฉันกับเกมอะไรสำคัญกว่า! ฯลฯ พอรู้ตัวอีกที ความสัมพันธ์ของคุณกลายเป็นตัวประกันไปเสียแล้ว คู่รักที่เป็นแบบนี้ แทนที่จะพูดว่า "บางทีฉันก็รู้สึกว่าเธอไม่สนใจฉันเลย" ก็มีแนวโน้มจะพูดว่า "ถ้าไม่สนใจกันแบบนี้ ก็คบกันต่อไปไม่ได้หรอกนะ"

สิ่งที่เป็นพิษของการพูดเช่นนี้คือการใส่ดราม่าเกินจำเป็น ซึ่งทำให้เรื่องเล็กๆ ที่ไม่ชอบใจกันทุกเรื่องถูกเอามาขยายให้เท่าเรื่องใหญ่อย่างเรื่องความสัมพันธ์ จึงจำเป็นที่ทั้งสองฝ่ายต้องรู้ว่าปัญหาและสิ่งที่ไม่ชอบใจกันต่างๆ สามารถนำมาคุยกันได้โดยไม่ต้องโยงไปใหญ่โตถึงขั้นจะเลิกกัน ไม่เช่นนั้นอีกฝ่ายก็จะต้องยอมกดทับความคิดและความรู้สึกจริงๆ เพื่อให้ความสัมพันธ์ยังดำเนินต่อไปได้

สิ่งที่ควรทำ: เป็นเรื่องปกติที่คนรักจะทำให้คุณโกรธหรือเสียใจ และเป็นเรื่องปกติที่คุณจะมีสิ่งที่ไม่ชอบในตัวคนรักบ้าง แต่ต้องทำความเข้าใจว่าการตกลงคบกัน กับความชอบตัวตนคนๆ หนึ่งนั้นไม่เหมือนกัน เราอาจตกลงคบกับคนนี้ แต่ไม่จำเป็นต้องชอบทุกอย่างที่เป็นเขาหรือเธอก็ได้ หรือเราอาจทำทุกอย่างเพื่อคนนี้ได้ แต่คนนี้ก็สามารถทำให้เราโมโหหรือรำคาญได้เช่นกัน ในอีกทางหนึ่ง ถ้าหากคุณและคนรักสามารถสะท้อนสิ่งที่ไม่ชอบในตัวอีกฝ่ายได้โดยไม่ต้องขู่ว่าจะต้องเลิกกัน นั่นยิ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ของคุณแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในระยะยาวต่างหาก

3. เกมเดาใจ ทำไมแค่นี้ก็ไม่รู้!?
ไม่เข้าใจสักทีว่าฉันต้องการเรื่องง่ายๆ แค่นี้ ขนาดบอกใบ้ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว ประชดก็แล้ว โง่แค่ไหนก็น่าจะคิดได้แล้วนะ ... บ่อยครั้งที่เราไม่อยากพูดตรงๆ แต่ใช้วิธีอื่นพยายามให้คนรักเข้าใจว่าจริงๆ แล้วเราคิดแบบไหน โดยหารู้ไม่ว่าไม่มีใครจะสามารถตรัสรู้สิ่งที่อยู่ในใจอีกฝ่ายได้ หากเขาหรือเธอไม่พูดตรงๆ ออกมา หนักกว่านั้นคือพยายาม "เอาคืน" ให้อีกฝ่ายโมโหหรือรู้สึกอย่างที่คุณรู้สึกบ้าง จะได้สบโอกาสด่าคืน

การคาดหวังให้คนรักต้องรู้ใจเราตลอดเวลา บ่งบอกว่าทั้งคู่ไม่สามารถสื่อสารอย่างจริงใจต่อกันได้ เพราะในความรักที่มั่นคง คนรักไม่จำเป็นต้องทำอะไรอ้อมๆ ตีวัวกระทบคราด หรือตะบี้ตะบันงอนตุ๊บป่องแบบไม่มีมูล ไม่เปิดเผยสาเหตุ เพราะคนๆ หนึ่งไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อให้อีกฝ่ายเดาใจ ถ้าหากรู้ว่าพูดตรงๆ ออกไปแล้วยังคุยกันต่อได้อย่างมีเหตุผล ไม่นำไปสู่การมีปากเสียงหรือพูดกล่าวหากันแรงๆ กว่าที่ควรจะเป็น

สิ่งที่ควรทำ: พูดความรู้สึกและความต้องการออกไปตรงๆ และพูดให้ชัดเจนว่าอีกฝ่ายไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ หรือถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องมาตอบสนองคุณ แต่จะดีมากถ้าหาก "เรา" ช่วยกัน 

4. ใครผิดมากกว่าแพ้
ความรักไม่ใช่เกม ไม่ต้องแข่งกันทำคะแนน หรือพยายามนับคะแนนว่าทำไปแล้วเท่าไร ยังมีเหลืออยู่อีกเท่าไร โดยเฉพาะเมื่อคุณเริ่มจะนำความผิดพลาดแต่หนก่อนมาคำนวนด้วย หรือรื้อฟื้นความผิดพลาดของอีกฝ่ายมากลบความผิดพลาดของคุณครั้งนี้แล้วถือว่า "เจ๊ากันไป" เพราะเมื่อไรก็ตามที่เริ่มทำเช่นนี้ คุณจะจดจำความผิดของอีกฝ่ายแบบแค้นฝังหุ่น และความสัมพันธ์ที่ดำเนินอยู่บนการจ้องจับผิดอีกฝ่ายย่อมไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ดี

อันตรายของเกมความรักแบบนี้ก็คือยิ่งคบกันนานวันเข้า คุณจะยิ่งพบว่าความผิดพลาดนั้นหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกอย่างถูกเอามาคำนวนคูณเข้าไปตลอดเวลา แทนที่จะได้ถกเถียงกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นสถานการณ์ปัจจุบัน กลับต้องเสียเวลารื้อฟื้นอดีตที่ฝังใจ ในที่สุดคุณก็จะพยายามทำผิดให้น้อยลง จนไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้นอีกต่อไป

สิ่งที่ควรทำ: แยกแยะปัญหาอย่างมีสติ เว้นแต่ว่าบางปัญหานั้นเชื่อมโยงกันตามหลักเหตุผลจริงๆ หากใครสักคนชอบนอกใจ ก็อาจเป็นปัญหาเกิดขึ้นอีก แต่การนอกใจเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ไม่เกี่ยวอะไรกับการที่เขาไม่สนใจคุณในวันนี้ ไม่จำเป็นก็อย่าลากมาโยงกัน นอกจากนี้การเลือกจะคบใครสักคน นั่นหมายถึงคุณยอมรับการกระทำในอดีตของเขาหรือเธอด้วย การปฏิเสธเอาตอนนี้ก็เท่ากับว่าคุณต้องปฏิเสธมันตลอดไป และถ้าหากคุณยอมรับเรื่องในอดีตไม่ได้ ก็ควรจะจัดการมันไปตั้งแต่มันเกิดขึ้นต่างหาก ไม่ใช่ตอนนี้

5. ฉันอารมณ์เสีย (แต่ผิดที่เธอไม่สนใจ)
วันนี้ช่างเป็นวันที่อะไรก็ไม่ได้ดั่งใจ ฝนตกรถติด โดนเจ้านายด่า ยันหมายังไล่เห่า แล้วบังเอิญแฟนเราก็ดันไม่มาใจดีด้วยอีก หนำซ้ำแทนที่จะอยู่ปลอบใจกัน ฝ่ายชายดันมีนัดไปเตะบอล หรือฝ่ายหญิงดันเมาธ์มอยกับเพื่อนสาวไม่เลิกไม่รา ในที่สุดระเบิดทำลายล้างก็ลงตูม กลายเป็นว่าความหงุดหงิดทั้งวันของคุณ กลับผิดที่แฟนสถานเดียว 

โปรดระวังให้ดีว่าการโทษมั่วเช่นนี้ เป็นสัญญาณของความเห็นแก่ตัว และเป็นตัวอย่างคลาสสิกของเอาเรื่องของสองคนมาปนกับเรื่องส่วนตัว จริงอยู่ที่คนรักควรคอยดูแลเอาใจใส่กัน แต่ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายหนึ่งจะต้องมารับผิดชอบความรู้สึกอีกฝ่ายอยู่ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นความสัมพันธ์แบบตัดสินใจเองไม่ได้ ทันทีที่คุณยอมให้เป็นแบบนี้ หมายความว่าคนรักของคุณจะวางแผนชีวิตไปไหนไม่ได้เลยถ้าไม่ผ่านคุณ แม้กระทั่งเรื่องธรรมดาๆ อย่างจะดูหนังดีไหม ก็ต้องมานั่งเจรจาต่อรองกัน หากคุณเผลอเอาความหงุดหงิดไปลงใส่คนรัก นั่นเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนรักมีหน้าที่ต้องทิ้งทุกอย่างของตัวเองมาดูแลคุณ เพียงเพื่อให้คุณรู้สึกดี 

สิ่งที่ควรทำ: รับผิดชอบอารมณ์ของตัวเอง และคาดหวังให้คนรักทำแบบเดียวกัน เพราะการคอยดูแลเอาใจใส่ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ หากคนหนึ่งต้องมารองรับอารมณ์ของอีกคนตลอดเวลา คนนั้นก็มีแนวโน้มต้องเก็บกดความรู้สึกของตัวเองและสะสมความขุ่นเคืองใจรอวันแตกหักในที่สุด

6. ซื้อของขวัญมาขอคืนดี
พอทะเลาะกันทีก็ซื้อของขวัญดีๆ มาง้อที เป็นอะไรที่ฝ่ายรับชอบมากแน่นอน แต่ไม่ใช่แก้ปัญหาถูกจุดเอาเสียเลย เพราะปมยังไม่ได้สะสาง แต่รอวันจะปะทุขึ้นมาใหม่ ขณะที่อีกฝ่ายก็ต้องใช้เงินแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดตัว แถมเสี่ยงจะโดนหาเรื่องเพื่อให้ได้ของชิ้นใหม่อีกต่างหาก ไม่รู้แฟนหรือ ATM

สิ่งที่ควรทำ: รู้อยู่แล้ว แก้ปัญหาให้ถูกจุดสิคุณ! การทำตัวน่ารักเช่นไปฉลองหลังคืนดีกันได้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อย่าฉลองตั้งแต่ยังไม่ได้เคลียร์กัน "ของขวัญ" ควรได้รับในโอกาสพิเศษ สร้างความพิเศษจากความรู้สึกดีๆ อยู่แล้ว ไม่ใช่เพื่อเอามากลบปัญหาที่ยังไม่ได้แก้ ไม่อย่างนั้นการกระทำของคุณก็จะกลายเป็นปัญหาเสียเอง

แปลและเรียบเรียงจากบทความ Toxic relationship habits most people think are normal

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook