กฤษ พัฒนสาร มนุษย์เงินเดือน "ชีวิตนี้มีแต่ Yes"
มนุษย์เงินเดือน ชื่อเรียกขานคนทำงานที่ได้รับเงินรายเดือนจากการทำงาน แน่นอนว่าพวกเขาคือคนที่มีเงินเต็มกระเป๋าตอนต้นเดือน แต่ใช้ได้ไม่ถึงครึ่งเดือนก็เกิดอาการกระเป๋าแฟบ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบภาวะเช่นนี้ หากรู้จักบริหารเงิน บริหารเวลา และบริหารงานอย่างลงตัว
ชีวิตมนุษย์เงินเดือนก็อาจจะไม่ได้แย่ไปหมด อย่างน้อยทุกเดือนก็มีเงินมาเติมกระเป๋า แม้จะตกหล่นหายไประหว่างทางก่อนสิ้นเดือนก็ตาม ดังนั้นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนพึงกระทำ คืออย่าทำงานอย่างเดียว
แน่นอนว่างานนั้นจะต้องไม่กระทบกับงานหลัก เพื่อเป็นการหารายได้เพิ่มเติมจากงานประจำ
อย่างเช่น "กฤษ พัฒนสาร" ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร สายการบินไทยแอร์เอเชีย หนึ่งในผู้เติบโตมาจากมนุษย์เงินเดือน เขาเก็บเงินซื้อรถคันแรกได้ตอนอายุ 24 ปี และซื้อบ้านหลังแรก ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองตอนอายุ 25 ปี ปัจจุบันเขาอายุ 30 ปี มีรถใหม่อีกคัน มีบ้านหลังที่ 2 และมีเงินเก็บในธนาคารเป็นตัวเลข 7 หลัก
หากนำตัวเลขนี้ไปเปรียบเทียบกับวิชาชีพอย่างแพทย์ วิศวกร หรืออาชีพที่มีรายได้สูง อาจจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา สำหรับการสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยจำนวนสินทรัพย์และทรัพย์สินระดับนี้
แต่ "กฤษ" นับเป็นตัวอย่างของมนุษย์เงินเดือนที่เติบโตในสายสังคมศาสตร์ หลังเรียนจบรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาสมัครเข้าทำงานที่บริษัทโตโยต้าในแผนกเอชอาร์ ก่อนจะย้ายไปทำสายงานใหม่แผนกซีเอสอาร์ที่ดีแทค และย้ายมาทำพีอาร์มาร์เก็ตติ้งที่แอร์เอเชีย
เขาเริ่มสตาร์ตด้วยเงินเดือนหลักหมื่น แบบมนุษย์เงินเดือนทั่วไปในฐานะลูกจ้างมากว่า 7 ปี ก่อนขยับขึ้นตามประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น เขาหารายได้พิเศษหลายอย่าง เริ่มแรกเป็นติวเตอร์ ก่อนสะสมเงินไปลงทุนอสังหาริมทรัพย์ เปิดบริษัททัวร์เล็ก ๆ รับเฉพาะกรุ๊ปวีไอพี
การย้ายองค์กรทำให้เงินเดือนเขาก้าวกระโดดมากกว่าคนที่ทำงานในองค์กรเดียวไปตลอดตามความเชื่อของเขา ผู้ไม่คิดอยากได้ตำแหน่งบริหาร หรืออยู่องค์กรเดียวจนเกษียณ
"สิ่งที่ผมจะได้จากการเป็นพนักงานเงินเดือน คือประสบการณ์ เรียนรู้จุดแข็งขององค์กร ผมคิดเสมอว่า ทำงานบริษัทเอกชน ผมไม่อยู่จนเกษียณขึ้นเป็นผู้บริหารแน่นอน อยู่ในองค์กรเดียวแล้วตายจากกันในองค์กรเดียวคงไม่ใช่ ผมคิดว่าอยู่เก็บประสบการณ์แล้วคิดจะไปต่อที่ไหน ในอีก 3 ปี คืออะไร ผมอยากไปเรียนพีอาร์มาร์เก็ตติ้ง แน่นอนว่าผมไม่ได้เรียนมา ผมก็ต้องเรียนรู้ว่าเขามีจุดแข็งอะไร แล้วเอามาสะสมเป็นประสบการณ์ของผม เพื่อที่จะก้าวต่อไป"
แม้มนุษย์เงินเดือนจะมีรายได้เข้ากระเป๋าทุกเดือน แต่ก็ต้องเผชิญกับภาวะกดดันหลายอย่าง รวมถึงต้องลุ้นว่าจะถูกเลือกให้ออกตอนไหน ซึ่งหลายคนก็อยากออกไปจากวัฏจักรนี้ โดยเลือกทำธุรกิจเป็นเจ้านายตัวเอง หรือเลือกอดทนอยู่ต่อไป
ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นกับมนุษย์เงินเดือนเกือบทุกคน แม้แต่กฤษเองก็เช่นกัน แต่เขาก็มีทางออกกับเรื่องนี้
"ผมก็มีเบื่อบ้าง เวลาเหนื่อยกับงานกับนาย บางทีก็อยากหลุดพ้นจากมนุษย์เงินเดือน อยากเป็นเจ้านายตัวเอง เพราะบางทีเราทำคิดว่าดีแล้ว แต่ในสายตาของนายคนรอบข้างคิดว่าไม่ดี เราก็ท้อแท้ แต่ก่อนออก เราก็ต้องคิด ออกไปแล้วจะทำอะไร ออกตอนนี้เหมาะสมไหม ออกไปรอดไหมเพราะมันจะไม่เหมือนการเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ ที่แค่หาบ้านใหม่ แต่ยังมีเงินเดือน มีอะไรเหมือนเดิม แต่ถ้าออกไปสร้างบ้านเอง ทำเองทุกอย่าง ก็ต้องคิดว่าจะรอดไหม
มนุษย์เงินเดือนอาจจะมีปัจจัยอะไรหลายอย่างที่เป็นกรอบ แต่มันก็มีอะไรที่มั่นคงกว่า ไม่ว่าเดือนนั้นจะถูกเจ้านายด่า งานจะดีจะแย่แค่ไหน สิ้นเดือนก็ได้เงินเดือนเท่าเดิม แต่ถ้าไปทำเอง เดือนนั้นอาจจะไม่ได้สักบาท เดือนนั้นอาจจะแย่ ขาดทุนก็ได้ มนุษย์เงินเดือนก็มีข้อดีตรงนี้
ถ้าตอนนั้นเหนื่อย แล้วเราไม่พร้อมที่จะออกไป ก็กลับมาอยู่กับมันให้ได้ แล้วทำมันอย่างมีความสุข คนที่มีปัญหาเรื่องเงินน้อย ถ้าไม่คิดจะออก ก็แค่ประหยัด จะช่วยได้"
สิ่งหนึ่งที่กฤษยอมรับ ความสุขบนเส้นทางมนุษย์เงินเดือนของเขา คือความชอบในงานที่ทำ มองที่งานก่อนเงิน เขาจึงเลือกมาอยู่กับไทยแอร์เอเชีย ในแผนกที่ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เขามีความสุข และทำได้ดี
กว่าที่เขาจะผ่านมาถึงจุดนี้ได้ กฤษก็เป็นเหมือนคนรุ่นใหม่ไฟแรง ใจร้อน อยากได้รับการโปรโมตเร็ว ๆ เขาเคยเดินเข้าไปถามผู้จัดการว่า เมื่อไหร่เขาจะถูกโปรโมต หลังทำงานได้ไม่นาน
"ผมอยากให้คนรุ่นใหม่ที่มั่นใจตัวเองสูงอย่าเหมือนผมในอดีต ที่ทำงานได้ 6 เดือน เดินเข้าไปถามผู้จัดการว่า เมื่อไหร่ผมจะได้รับการโปรโมต ผมไม่ดีตรงไหน ผลงานผมก็มี เขาก็บอกให้ใจเย็น ๆ ชีวิตไม่ได้ตายพรุ่งนี้ ตอนนั้นผมไม่เข้าใจ ตอนนี้ผมมีลูกน้องถึงเข้าใจ ทุกอย่างต้องเรียนรู้ด้วยประสบการณ์และวุฒิภาวะตัวเอง ที่สำคัญ ถ้าทำงานดี งานจะปกป้องเราเอง"
ใช่ว่าเป้าหมายของมนุษย์เงินเดือนผู้นี้จะเป็นลูกจ้างไปตลอดชีวิต
เขาคิดว่าเมื่อเวลาเหมาะสม ก็ควรจะออกไปทำธุรกิจส่วนตัว และคงไม่มีใครอยากจ้างคนอายุมากเงินเดือนสูง
"เป้าหมายของคนทำงานบริษัทเอกชน ถ้าไม่อยากโตเป็นผู้บริหารขององค์กร ก็อยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ผมก็อยากแฮปปี้ที่มีธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว การบริการ และงานที่ทำอยู่ มันก็ส่งเสริมกันด้วย"
ดังนั้นเขาจึงถือโอกาสนี้ในการเรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากองค์กร อย่างน้อยเขาก็มีคนสอน มีตัวอย่างให้ดู เหมือนเป็นทางลัดอีกทางหนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องอดทนกับช่วงเวลาบ้าง
"นายผมสอนว่าการมาทำงานก็เหมือนกับมาเรียนหนังสือ และเขาจ้างมาเรียนหนังสือ ได้เรียนแถมได้เงินด้วย คิดแบบนี้ก็มีความสุขดี งานผมก็เดินทางบ่อย ก็คิดว่าเขาจ้างมาให้เที่ยว ก็ไม่ได้คิดอะไร"
สิ่งหนึ่งที่มนุษย์เงินเดือนคนนี้อยากแชร์ประสบการณ์ให้ผู้ที่กำลังคิดจะเปลี่ยนสายงานจากที่ตัวเองเรียน
"ไม่แน่เสมอไปว่าจะช้ากว่าคนอื่น เพราะจุดบอดเหล่านี้แก้ไขได้ เช่น วิชาการตลาด สามารถหาตำรามาอ่านเพิ่มเติม เรียนรู้ได้และมองภาพชัดกว่า"
ด้วยวิชารัฐศาสตร์ในสายสังคมศาสตร์ ทำให้กฤษมองเห็นโอกาสและต่อยอดในสายงาน เวลาประสานงานเปิดสายการบินใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เขาจะสนุกสนานตื้นเต้นกับประวัติศาสตร์ และได้ใช้วิชาสังคมศาสตร์ที่เรียนมาเชื่อมโยงกับงานได้เป็นอย่างดี
ด้วยหน้าที่หลักของกฤษต้องรับผิดชอบมี 3 ขาหลัก คือดูแลพาร์ตเนอร์ชิป ซีเอสอาร์ และการท่องเที่ยว ช่วยคิดช่วยเสนอไอเดีย ครีเอทีฟกิจกรรมต่าง ๆ เหมือนกับสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เขาเป็นนักกิจกรรมตัวยงที่ได้ทุนเรียนดีเรียนฟรีตลอด เคยเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ประธานเชียร์ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
เรียกว่าทุ่มเททั้งกายใจเพื่อกิจกรรม อันส่งผลมาถึงการทำงาน พร้อมกับเทคนิคง่าย ๆ ในการทำงานให้ "ถูกใจนาย"
"ผมค่อนข้างโชคดีที่นายให้โอกาสตลอด ผมเป็นคนที่ไม่ "Say No" ผมจะ "Say Yes" ตลอด ผมจะเป็น "Mr.Yes" บางอย่างไม่เคยทำ แต่ "Yes" ไว้ก่อน ผมคิดว่าไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ ถ้ามาจากบอสไม่มีคำว่า "No" ไม่เคยปฏิเสธ แต่อาจจะบอกว่ายาก แต่จะทำให้ได้"
ความต้องการของ Mr.Yes ไม่ได้หยุดอยู่แค่การทำงาน แต่เขายังมีความฝันที่อยากเขียนนวนิยายเชิงประวัติศาสตร์ นำความรู้จากตำรามาผสมกับประสบการณ์การเดินทางมาร้อยเรียงเป็นพ็อกเกตบุ๊ก