ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ แห่ง ‘บุญมีแล็บ’ - ออกแบบชีวิตด้วยเทคโนโลยี

ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ แห่ง ‘บุญมีแล็บ’ - ออกแบบชีวิตด้วยเทคโนโลยี

ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ แห่ง ‘บุญมีแล็บ’ - ออกแบบชีวิตด้วยเทคโนโลยี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่อง : ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ

ภาพ: แสงอรุณ จำปาวัน

“ผมชอบการได้สร้างอะไรบางอย่างขึ้นมา” เป็นความคิดของฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก และยังคงเป็นเช่นนั้นจนปัจจุบัน

หลังเรียนจบปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาบวชอยู่ที่วัดญาณเวศกวัน 2 ปี แล้วบินไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Interactive Telecommunication Programs ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ต่อยอดความรู้ด้านการออกแบบให้กว้าง ทันสมัย และสอดรับกับความเป็นไปของวิถีชีวิตผู้คน เมื่อกลับมาเมืองไทย เขาและเพื่อนร่วมก่อตั้ง ‘บุญมีแล็บ’ บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีเป็นแมตทีเรียลในการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพียงไม่นาน โปรเจ็กต์ที่เขามีส่วนร่วมก็กลายเป็นที่พูดถึงอยู่พอสมควร

 “เราอยากทำ Smart City Platform เพื่อช่วยให้เมืองดีขึ้น ก็ออกมาเป็นยุพิน (youpin.city) เราอยากให้ผู้คนมีไลฟ์สไตล์ที่คำนึงถึงโลกและความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมก็ออกมาเป็น บลูบาสเก็ต (bluebasket.market) สุดท้ายคือเรื่องของการจัดการความรู้ เรามีเทคโนโลยีที่ทำให้ห้องสมุดหลายแห่ง” เขาพูดถึงผลิตภัณฑ์หลักๆ ที่ทั้งทำภายใต้บุญมีแล็บ และร่วมมือกับพาร์ทเนอร์

มองแบบผิวเผิน สิ่งที่เขาทำมีหน้าตาคล้ายเว็บไซต์ธรรมดาๆ ที่ผู้ใช้งานรู้สึกว่าง่ายและเร็ว (ซึ่งไม่ได้ผิดอะไร มันคือเว็บไซต์นั่นแหละ) แต่เบื้องหลังความเรียบง่ายนั้นเต็มไปด้วยการออกแบบ เชื่อมโยง คิดคำนวณ และทำงานหนักเพื่อให้ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้งานซึ่งหมายถึงชีวิตที่ดีขึ้น -- ด้วยเทคโนโลยี

คุณสนใจการออกแบบตั้งแต่เมื่อไร

ถ้าตอนเด็กๆ เลย ผมชอบเล่นดินน้ำมัน เป็นของเล่นราคาถูกที่สนุกมาก อยากได้อะไรก็ปั้นขึ้นมา พอขึ้นประถม ชีวิตอยู่กับกรอบการเรียน วิชาที่ชอบคือศิลปะ แต่ความคิดสร้างสรรค์ไม่ถูกเติมเต็มเท่าไร ขึ้นมัธยมเรียนที่สวนกุหลาบ ผมมักเป็นทีมงานออกแบบในกิจกรรมต่างๆ เช่น วาดคัทเอ๊าต์ ผมชอบการได้สร้างอะไรบางอย่างขึ้นมา รู้ตัวตั้งแต่เด็กๆ ว่าชอบอะไร ผมติวสถาปัตย์ตอน ม.2 แล้วสอบเข้าคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) สมัยนั้นทุกคนต้องเรียน 5 อย่างคือ สิ่งทอ กราฟิก เซรามิก โปรดักต์ดีไซน์ และอินทีเรียร์ ใครสนใจเรื่องไหนก็เลือกเป็นหัวข้อธีสิส เป็นการเรียนที่สนุกมาก ผมชอบทุกอย่าง ที่ชอบที่สุดคือได้จับแมตทีเรียล ได้ลงมือสร้างสิ่งของ เริ่มจากไม่มีอะไรเลยจนกลายเป็นอะไรบางอย่าง

วางแผนว่าเรียนจบแล้วจะไปทำอะไร

ผมสมัครบวชที่วัดญาณเวศกวัน ที่นั่นคนสนใจเยอะ ต้องรอบวชประมาณหนึ่งปี ระหว่างนั้นเลยหางาน เริ่มงานแรกที่บริษัท PHENOMENA เป็นผู้ช่วยผู้กำกับโฆษณา เนื่องจากเรียนมาไม่ตรง ช่วงแรกเป็นการฝึก ทำอยู่ 4 เดือนรู้เลยว่าไม่ตรงกับตัวเอง (เงียบคิด) เป็นผู้ช่วยฯ เลือกงานไม่ได้ รับงานมาต้องตีให้ฟุ้ง ทำให้กลายเป็นไวรัล ซึ่งในยุคนั้นคือทีวี โอเค มันปรุงแต่งอยู่แล้วล่ะ แต่มีบ้างที่ปรุงไปจนถึงโกหก งานหนักมาก นั่งดูเรเฟอเรนซ์ เปิดวิดีโอ กรอกลับ บันทึก ดูทั้งวันทั้งคืนเลย จริงๆ ถ้าชอบคงไม่มีปัญหา แต่ผมไม่ชอบ ไม่อยากอยู่ในกระบวนการนั้น เลยพลิกไปทำงานภาคสังคมช่วงสั้นๆ แล้วได้คิวบวชพอดี

ทีแรกตั้งใจบวช 1 เดือน แล้วจะไปเรียนต่อ พอครบกำหนด ยังสนุกอยู่ เลยไม่รีบร้อนสึก ผมชอบเนื้อหาในหนังสือ พุทธธรรม นิพนธ์โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ชอบนั่งสมาธิ เหมือนได้ถอดรหัสคำสอนของพระพุทธเจ้า ผมค่อยๆ อ่านหนังสือพุทธธรรมคู่กับการปฏิบัติ เป็นปีกว่าจะอ่านจบ ตอนนั้นแพลนเรียนต่อไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่ทำอยู่ ขึ้นปีที่สอง ผมใช้เวลากับการปิดวาจา ไม่มีตอนไหนที่เงียบแบบนี้แล้ว ช่วงปีที่สองผมไปอยู่อินเดีย 6 เดือน การบวชนานๆ ทำให้ผมกลัวตัวเองเป็นคนคับแคบ นี่ไง พุทธธรรม! พุทธศาสนา! ใช่ สิ่งเหล่านั้นดี แต่โลกนี้ยังมีอย่างอื่นอีก ขณะที่การเดินทางไปที่ต่างๆ ในสถานะนักบวชไม่เอื้อเลย คนจะเข้าหาเราด้วยมุมมองต่างออกไป บวชได้ 2 ปี ผมเลยตัดสินใจสึกออกมา  

ไปทำอะไรต่อ

กลับไปแพลนเดิมเลย คือเรียนต่อ ผมได้ทุนฟุลไบรท์ไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Interactive Telecommunication Programs ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก

เรียนด้านนี้เพราะอะไร

งานดีไซน์อยู่ได้ด้วยเทคโนโลยีมาตลอด แต่เดิมพื้นฐานการออกแบบคือเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีหลังปี 2553 ไม่เหมือนเดิมแล้ว ตอนเรียนไอดี (Industrial Design) แต่เดิมมีแมตทีเรียล 5 อย่าง สิ่งทอคือเส้นใย กราฟิกคือกระดาษ เซรามิกคือดิน โปรดักต์ดีไซน์คือเหล็กหรือพลาสติก และอินทีเรียร์คือการผสมหลายอย่าง แต่ตอนนี้แมตทีเรียล คือ ‘ดิจิตอล’ ที่นั่นมีสโลแกนแปลตรงตัวว่า ศูนย์ของสิ่งที่เป็นไปได้ เร็วๆ นี้อาจยังเป็นไปไม่ได้ แต่มันจะเป็นไปได้เร็วๆ นี้

แมตทีเรียลเปลี่ยนเพราะเรามีความรู้ด้านเทคโนโลยีมากขึ้น

เรามีความรู้อยู่แล้ว แต่พอเทคโนโลยีราคาถูก มันเลยเอามาใช้กับชีวิตธรรมดาได้ แต่ก่อนอาจใช้ในการทหาร ในโรงงาน ตอนนี้คนอย่างเราๆ เข้าถึงได้ เอามาใช้ เอามาสร้างโปรดักต์ขายได้

ศาสตร์ด้านการออกแบบที่ไทย-อเมริกา เรียนเหมือนกันไหม

เหมือนกัน แต่บริบทของไทยกับอเมริกาไม่เหมือนกัน เช่น จำนวนประชากรไม่เท่ากัน แหล่งเงินทุน และวิสัยทัศน์ของนักลงทุน เช่น ถ้าคุณเป็นสุดยอดดีไซเนอร์ที่เมืองไทย คุณอาจขายเก้าอี้ให้กับคนกรุงเทพฯ ได้ประมาณ 1,000 ตัว / 1 การออกแบบ ถ้ากำไรตัวละ 3,000 บาท ก็ได้ 300,000 บาท ซึ่งถือว่าเยอะแล้วนะ แต่อเมริกาเหมือนมีกรุงเทพฯ หลายๆ แห่ง คุณอาจขายได้สักล้านตัว และอาจกำไรตัวละ 5,000 บาท ดีไซเนอร์เลยมีความทะเยอทะยาน มีเวลาเหลือมาคิดเทคโนโลยีใหม่ๆ

ผู้คนในบ้านเราไม่ให้ค่ากับสินค้าดีไซน์ด้วยหรือเปล่า

ถ้าทุกคนมีโอกาสก็จะให้ค่า มันมีคำพูดว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งเลวร้าย ชาวบ้านใช้ชีวิตแบบนี้ เป็นวิถีของเขา แล้วเลือกสิ่งที่ไม่ต้องดีไซน์ไปให้ ซึ่งผมว่าไม่ใช่ คุณไม่ควรไปบอกว่าต้องตัดกิเลส ถ้าวันหนึ่งชีวิตพัฒนา เขาก็ควรมีสิทธิ์ได้ใช้อะไรดีๆ คนที่สนใจงานดีไซน์ ปัจจุบันเป็นแค่กลุ่มคนกรุงเทพฯ และเชียงใหม่อีกนิดหน่อย นักลงทุนก็คิดว่า ลงทุนกับเบียร์สิ เครื่องดื่มชูกำลังสิ

ประเทศโลกที่สามผู้คนไม่มีกำลังซื้อมากนัก คนเลยเข้าถึงโปรดักต์ที่ให้ความสำคัญกับดีไซน์ค่อนข้างน้อย นักออกแบบก็ได้เงินน้อย นักลงทุนก็ให้ค่าน้อย มันก็วนไปเรื่อยๆ ในฐานะนักออกแบบต้องไปเขยื้อนจากจุดไหน

มันคือสิ่งที่เราทำอยู่ เมื่อก่อนเป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ประเทศผลิตเครื่องยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จะเป็นผู้นำของโลก ซึ่งเราไม่สามารถย้อนเวลาไปไล่ตามสิ่งเหล่านั้นได้แล้ว สำหรับยุคนี้ ถ้าประเทศโลกที่สามไม่ขยับตัวสู่ยุคดิจิตอล เราจะตามคลื่นลูกนี้ไม่ทัน และกลายเป็นเบี้ยล่างต่อไป เอาหรือไม่เอา เป็นเรื่องที่ข้างบนต้องคิด

เทียบกับบริบทบ้านเรา ความรู้ที่เรียนจากอเมริกาค่อนข้างล้ำเลย คุณตั้งใจจะกลับมาทำอะไร

ต้องบอกก่อนว่า ทีแรกว่าจะไม่กลับ ชีวิตที่นั่นสนุกมาก แต่พอต้องกลับมา ผมเริ่มจากการสอนหนังสือ (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) แล้วเปิดบริษัทของตัวเองขึ้นมา พยายามจะผลิตอะไรบางอย่างที่ล้ำ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี แล้วต้องสร้างธุรกิจใหม่ที่สร้างคุณค่าจากศูนย์ จากไม่มีอะไรเลย ทำยังไงให้เกิดธุรกิจที่มีมูลค่า ผมกลับมาปลายปี 2556 แล้วร่วมกับเพื่อนตั้งบริษัทชื่อ บุญมีแล็บ เมื่อปี 2557

 บุญมีแล็บตั้งใจจะทำอะไร

เรามีสโลแกนเบาๆ ไว้ว่า “Human-centered design and technology” เป็นการเอาดีไซน์กับเทคโนโลยีมาบวกกัน เพื่อทำอะไรให้ยูสเซอร์ ซึ่งแล้วแต่จะให้ความหมายว่าเป็นใคร

 นำเทคโนโลยีล้ำๆ กลับมา หาลูกค้ายากไหม

เราไม่มีปัญหาเรื่องนี้นะ ช่วงแรกๆ มีบ้างที่ต้องทำสิ่งนี้ เพราะคงต้องทำ แต่สิ่งที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ คือเราได้ทำอะไรที่ตรงกับตัวเองมากขึ้น คนเริ่มรู้ว่าเราสนใจอะไร ทำอะไรได้ ตอนนี้งานที่ทำมี 3 ส่วนหลักๆ ที่ตรงหมดแล้ว

หนึ่ง ‘ยุพิน’ - youpin.city (ได้รางวัล The Big Ideas Competition for Sustainable Cities and Urban Communities จาก UNDP ประจำปี 2559) คืองานที่เราและพาร์ทเนอร์ร่วมกันทำ เป็นแพลตฟอร์มรับเรื่องร้องทุกข์ปัญหาต่างๆ ในกรุงเทพฯ ถ้าจะมองให้ใหญ่ มันคือ Smart City Platform ที่จะเชื่อมโยง Data ในเมืองทั้งหมดให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ จากวันนี้ไป เมืองจะมี Data เยอะมาก ซึ่งยังไม่มีการเข้าถึงแล้วมีผลต่อการตัดสินใจ ‘ยุพิน’ เป็นตัวเก็บ Data นำมา Analysis ถ้าตัดสินใจเรื่องนี้ คุณมี 3 ทางเลือกนะ ทำให้งบประมาณใช้ได้อย่างถูกต้องมากขึ้น ไม่ขึ้นอยู่กับอารมณ์หรือคะแนนเสียง ตอนนี้อยู่ในช่วงพูดคุยกับผู้บริหาร กทม. เข้าไปเสนอไอเดีย ให้ความรู้ ทำให้เขาเห็นว่า ‘ยุพิน’ มาเพื่อช่วย ไม่ได้ต้องการเป็นศัตรู ถ้าเขานำไปใช้ การจัดการจะง่ายและราคาถูกลง เราต้องทำให้ทาง กทม. เห็นภาพ ถ้าใช้ ‘ยุพิน’ แล้วเป็นยังไง ต้องระวังอะไรบ้าง ซึ่งความเป็นไปได้ที่ผู้บริหาร กทม. จะเอาด้วยก็ค่อนข้างสูง

สอง เราทำ ‘บลูบาสเก็ต’ - bluebasket.market การบริโภคของคนในเมืองมีปัญหาหลายอย่าง เราอยากสร้างตลาดขึ้นมา ช่วยให้ผู้ผลิต-ที่เราเชื่อว่าผลิตของดีๆ สามารถส่งต่อผลิตภัณฑ์สู่ผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภคเห็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกมากขึ้น ซื้อมากขึ้น ชีวิตพวกเขาน่าจะดีขึ้น เราเป็นคนกลางที่คัดสรรผลิตภัณฑ์ สร้างแบรนด์ให้ชัดเจน ถ้าอยากได้สินค้าลักษณะนี้ ที่นี่แหละ เป็นการเลือกจากผู้ผลิตที่ใส่ใจในผลิตภัณฑ์ ผมไม่อยากตีตราว่าต้อง ‘ออร์แกนิก’ เพราะคำค่อนข้างแคบ เช่น ถ้าเป็นไม้กวาดดีๆ สักอัน เราต้องปลูกหญ้าออร์แกนิกเหรอ ไม่จำเป็นหรอก ความใส่ใจอาจเป็นการออกแบบที่ใส่ใจรายละเอียดก็ได้ 

สาม คือ เทคโนโลยีคอร์ (core) ของบุญมีแล็บ คือการทำระบบจัดการ Data โปรดักต์ที่เราคิด คือ การจัดการ Data ในห้องสมุด เวลาพูดว่า Data ผมมองทุกอย่างเป็น Data ซึ่งคนอื่นจะมองไม่เหมือนเรา เมื่อโลกในอนาคตมี Data เยอะๆ คำถามคือเราจะจัดการยังไง ห้องสมุดระบบเดิมจะเป็น Cataloging หรือ Automated Library Systems มีลักษณะเป็น Library Center ซึ่งก็ค้นหาได้แหละ แต่เทคโนโลยีเก่ามีข้อจำกัด เช่น บางที่มี 3 ช่องค้นหา จาก 3 ดาต้าเบส (Database) ทั้งหนังสือห้องสมุดเก็บเอง / ทรัพยากรของทั้งโลก หรือ OCLC (Online Computer Library Center) / E-Book สิ่งที่เราทำคือเปลี่ยนให้เป็น Humans Center รวมทั้งหมดไว้ด้วยกัน คุณพิมพ์คีย์เวิร์ดมา เดี๋ยวโปรแกรมจะหาให้ ยูสเซอร์ไม่ต้องคิดว่าสิ่งที่หาคือช่องไหน รวมไปถึงมีการแนะนำเล่มอื่นที่คล้ายกันให้ด้วย ผู้ใช้งานห้องสมุดจะเจอสิ่งที่ต้องการได้ง่ายและเร็ว ผมกำลังทำให้ 3 เจ้า หนึ่งในนั้นคือห้องสมุดของ TCDC

พูดถึงเทคโนโลยี คนทั่วไปอาจนึกถึงเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่น ขอแค่สวยและใช้ง่ายก็พอ สิ่งที่คุณทำแตกต่างยังไง

เว็บไซต์มีหลายเลเวล แต่ละคนก็มองแตกต่างกัน สิ่งที่ผมทำจะซับซ้อน เช่น ‘ยุพิน’ สิ่งที่มองไม่เห็นคือการทำงานข้างหลัง ซึ่งมีความละเอียดมาก เราต้องวางโครงสร้างให้พร้อมกับงานสเกลใหญ่ ในระดับจังหวัด ในระดับประเทศ ถ้าเว็บไซต์นั้นคือการเผยแพร่บทความหนึ่งชิ้น คุณมีเนื้อหา ภาพ เว็บไซต์มีหน้า Home,  About Us, Contact ฯลฯ ซึ่งไม่ซับซ้อน แต่สิ่งที่ผมทำคือการประมวลผลข้างหลัง ต้องเชื่อมต่อหลายดาต้าเบส พูดคุยหลายๆ เซอร์วิสพร้อมกัน ทำให้ค่อนข้างยากกว่าปกติ  มันคือคำว่า Information Architecture ทำสิ่งที่ซับซ้อนกว่า เพราะ Data มีความลื่นไหล แทนที่เราจะรู้ว่าเป็นตัวไหน ต้องจับแพเทิร์นแทน ผมมองสิ่งที่ตัวเองทำเป็น Digital Product มากกว่า

แม้ผู้ใช้งานจะรู้สึกว่าง่าย แต่สิ่งที่คุณทำดูเป็นเรื่องซับซ้อนเหมือนกันนะ

จริงๆ เราอยากให้ยูสเซอร์มองแค่นั้นแหละ ไม่ต้องคิดเยอะ เรามีหน้าที่ตัดทอนให้สั้น ง่าย เร็ว ยูสเซอร์ไม่ต้องเข้าใจอะไรเลยก็ได้ แต่สามารถทำกิจกรรมได้จนเสร็จ แต่การทำให้ง่ายนั่นแหละมันยาก

เคยเจอลูกค้าที่ไม่ปรับเปลี่ยนบ้างไหม แนะนำอะไรไปก็เชื่อสิ่งที่ตัวเองคิด

ปกติเวลาเขาบอกว่าต้องการอะไร เราจะแนะนำว่ามีแบบอื่นๆ เป็นสิ่งที่ดีกว่า อยู่ได้นานกว่า ซึ่งก็รับฟังกันนะ ส่วนใหญ่พอทำเสร็จ หน้าตาก็ต่างจากที่เขาคิดไว้พอสมควร ถึงวันนี้ค่อนข้างเชื่อนะ ข้าราชการระดับบนๆ จะถูกบังคับให้หันมามอง เรื่องดิจิตอลอยู่แล้ว

ครั้งหนึ่งคุณเคยพูดถึง ‘บุญมีแล็บ’ ไว้ว่า “เราเชื่อในการมาพบกันของเทคโนโลยีและดีไซน์ เพราะเทคโนโลยีต้องวางบนพื้นฐานการออกแบบที่คำนึงถึงผู้ใช้งานจริง (User-centered Design) และดีไซน์ต้องวางอยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่วัดผลได้ (Design is measurable) เราไม่ได้ทำแต่ซอฟต์แวร์ แต่เราใส่ใจความเป็นไปในสังคม เราชอบการแก้ปัญหาที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน” อยากให้ช่วยขยายความเรื่องนี้

เทคโนโลยีที่ไม่คำนึงถึงผู้ใช้งานจริง คือเทคโนโลยีที่ตายไป ผมยกตัวอย่างโดยไม่มีรีเสิร์ชเลยนะ เช่น Google Glass มันเจ๋งมากในทางเทคโนโลยี แต่มันไม่แก้ปัญหาให้ใคร เลยไม่ค่อยมีใครนำเทคโนโลยีไปแก้ปัญหา ตอนนี้ก็หยุดทำไปแล้ว  ดีไซน์ที่วัดผลไม่ได้ คือดีไซน์ประเภทว่าไม่มีเหตุที่ทำแบบนั้น ดีไซน์ต้องมีเหตุผล เช่น ถ้าออกนิตยสารสักเล่ม มันวัดผลได้น้อยมาก แค่ขายได้กี่เล่ม หมดแล้ว แต่ดิจิตอลวัดผลได้ลึกมาก คนเปิดหน้านี้นานเท่าไร กดกี่คน ใครกด เวลาไหน ข้อมูลเหล่านี้เราก็เอามาใช้ในงานดีไซน์

เราอยากทำ Smart City Platform เพื่อช่วยให้เมืองดีขึ้น ก็ออกมาเป็น ‘ยุพิน’ (youpin.city) เราอยากให้ผู้คนมีไลฟ์สไตล์ที่คำนึงถึงโลกและความเป็นไปของสิ่งแวดล้อม ก็ออกมาเป็น ‘บลูบาสเก็ต’ (bluebasket.market) สุดท้าย คือเรื่องของการจัดการความรู้ เรามีเทคโนโลยีที่ทำให้ห้องสมุดหลายแห่ง งานตอนนี้เป็น 3 สิ่งที่ค่อนข้างเป็นคอร์ของโลก เป็นเรื่องหลักๆ ของชีวิตคนแล้วละ

การบวชส่งผลต่อการทำงานยังไงบ้าง

หลวงพ่อ (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ - ประยุทธ์ ปยุตฺโต) มักพูดเรื่องที่คนในบ้านเราไม่ค่อยพูดคือ เกิดเป็นคนต้องฝึกตน ผมว่าอันนั้นแหละ คือคอร์ของพุทธศาสนา พุทธศาสนาไม่ได้บอกให้หยุดทำทุกอย่างแล้วไปนั่งเงียบๆ เราต้องพัฒนาตัวเอง บ้านเราไม่ค่อยพูดเรื่องความเพียร อิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา นี่มัน ฮายาโอะ มิยาซากิ (ผู้ก่อตั้ง Studio Ghibli) แล้ว วาดการ์ตูนทั้งวันทั้งคืน แต่คนไทยจะคิดว่า ต้องไม่ทำกำไรสิ ผมมองว่าเงินไม่ได้ผิด พุทธศาสนาไม่ได้บอกว่าคนรวยผิด คนทำอะไรดีๆ แล้วรวย ผมว่ายิ่งดี

ความสนุกของงานที่ทำคืออะไร

ความยาก

เวลาทำโจทย์ยากๆ ได้สำเร็จ รู้สึกยังไง

รอด (หัวเราะ) เหมือนเราได้ช่วยเพื่อน ก็ดีใจไปด้วย

มีงานแบบไหนที่อยากทำ แต่ยังไม่ได้ทำไหม

งานที่ทำอยู่เยอะพอสมควรแล้ว แค่ทำต่อไปเรื่อยๆ ก็พอ แต่นอกเหนือจากงาน เราอยากเปิดคอร์สสอน บุคลากรไม่ค่อยมี คนทำงานดีไซน์อยากรู้เรื่องเทคโนโลยี ฝั่งเทคโนโลยีก็อยากรู้เรื่องดีไซน์ จริงๆ ปัญหาคือเราอยากได้คนทำงานเพิ่ม แต่ยังหาไม่ได้ (หัวเราะ)

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook