Wildlife Veterinarian วีรบุรุษรักษาสัตว์ป่า น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน

Wildlife Veterinarian วีรบุรุษรักษาสัตว์ป่า น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน

Wildlife Veterinarian วีรบุรุษรักษาสัตว์ป่า น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากคนที่ใฝ่ฝันว่าอยากทำงานสบายๆ บริษัทใหญ่ อยู่ในตึกหรูๆ ใส่สูทหล่อมาดเข้ม ขับรถคันโตไปรับสาว ใช้ชีวิตประจำวันเหมือนหนุ่มเจ้าสำราญคนหนึ่ง มาวันนี้ทุกอย่างกลับพลิกผันทำให้ หมอล็อต “ภัทรพล มณีอ่อน” กลายเป็นสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หมอรักษาสัตว์ป่าคนแรกของไทย ท่ามกลางผืนป่ากว้างทั่วประเทศ นั่น! คือห้องทำงานของเขา

ด้วยจุดเริ่มต้นที่เขาเป็นนักกีฬาบาสเกตบอล เห็นรุ่นพี่หลายคนเรียนแพทย์ เรียนวิศวะ แต่สุดท้ายก็ต้องเลิกเล่นกีฬาเพราะคิดว่าไปด้วยกันและแบ่งเวลาไม่ได้ เขาเลยเกิดความท้าทายให้เลือกเรียนหมอ ควบคู่ไปกับการเล่นกีฬา แม้จะเหนื่อยแต่เขาก็พิสูจน์ให้ตัวเองเห็นแล้วว่าสามารถทำไฃด้

สำหรับเส้นทางการเป็นสัตวแพทย์ของเขาเริ่มจากการเป็นหมอรักษาช้างบ้าน แล้วหันมาทำงานในรัฐสภาจนกลายมาเป็นหมอรักษาสัตว์ป่าเต็มตัว

“ความจริงผมไม่ได้รักสัตว์เลยนะ ผมก็ทำไปตามหน้าที่และลงมือทำมันให้ดีที่สุด แต่มีเหตุการณ์อยู่ครั้งหนึ่ง ผมได้มีโอกาสดูแลรักษาสุนัขตัวหนึ่ง ใช้เวลารักษานานพอสมควร จึงได้คลุกคลีและได้เห็นความรักความผูกพันที่เจ้าของกับสุนัข
มีต่อกัน ผมเลยซึมซับความรู้สึกเหล่านี้ จนกลายเป็นความผูกพันตามไปด้วยพอเราได้ผ่านเหตุการณ์เช่นนี้ ทำให้เรารู้สึกอ่อนโยนกับสัตว์มากขึ้น

“การเป็นหมอรักษาสัตว์ป่า เป็นการเรียนรู้ที่ต้องจริงจัง เพราะมันเดิมพันด้วยความเป็นความตาย บางตัวเป็นสัตว์สงวนที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และสัตว์ป่าเหล่านี้ถ้าไม่บาดเจ็บหนักมันจะไม่โผล่หน้ามาให้คนเห็น ความเสี่ยงที่จะตายจึงมี
ค่อนข้างมาก สัตว์เหล่านี้อยู่ในป่า แน่นอนว่าเราต้องมองสถานการณ์ คาดเดา วางแผนให้ทันเวลา เพราะฉะนั้นรูปแบบภารกิจของเราแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน ต้องใช้ไหวพริบและปฏิภาณเป็นอย่างมาก ยิ่งทำดีมากเท่าไหร่ ความคาดหวังก็จะ
ยิ่งสูงขึ้น เป็นงานที่กดดันมากครับ แต่เราต้องบริหารจัดการปัญหาที่เราเจอข้างหน้าให้ได้ เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างของภารกิจล้วนมาจากคำว่าท้าทาย”

ส่วนใหญ่สัตว์ป่าแทบทุกชนิดมักไม่เป็นที่คุ้นเคย เพราะสัตว์ป่าที่อยู่ในธรรมชาติกับสัตว์ป่าในสวนสัตว์แตกต่างกันมาก ทั้งพฤติกรรมและสัญชาตญาณ เขาจึงมองว่าการรักษาคือสิ่งสำคัญ ถ้าคนไข้ไม่ยอมออกมาพบหน้าหมอ การรักษาก็ไม่เกิด จิตวิทยาในป่าจึงเป็นเรื่องที่หมอต้องเรียนรู้

“การรักษาหรือข้อมูลของตัวสัตว์ เราต้องมีแหล่งข้อมูล แต่เบื้องหลังเราจะมีทีมสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญอยู่ทุกประเภท คอยให้คำปรึกษาตลอดเวลา เบื้องหน้าอาจดูโดดเดี่ยว แต่แท้จริงการทำงานของเราไม่ได้เดียวดาย เรามีสัตวแพทยสภา สมาคมต่างๆ มีคนคอยซัพพอร์ตความรู้ทางวิชาการ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้อยู่เสมอ เพราะฉะนั้นการทำงานทั้งหมดอาจเห็นว่าทำคนเดียว แต่จริงๆ แล้วเราเป็นทีมงาน เหมือนกับเราแบกวิชาชีพไว้ เพราะงานเหล่านี้เป็นงานที่ทำกับสังคม
ถ้าหากทำอะไรพลาด เขาอาจจะมองถึงวิชาชีพเลยก็ได้ ฉะนั้นการทำงานโดยยึดมั่นคุณธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพจึงเป็นสิ่งสำคัญ”

การรักษาเป็นการช่วยเหลือเพื่อการอยู่รอด โดยเฉพาะกรณีของสัตว์ป่าที่บาดเจ็บหรือป่วย เกือบ 100% ล้วนเกิดจากมนุษย์ทั้งนั้น ในขณะที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ มนุษย์ก็ต้องเป็นผู้แก้ไข เมื่อไหร่ที่เขารู้ว่ามีสัตว์ป่าบาดเจ็บ การเข้าหาหรือการเข้าถึงเพื่อที่จะรักษาให้เร็วที่สุดถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ

“เวลาทำงานของผมไม่ตายตัว จะต้องอิงเวลาของคนไข้ ฉะนั้นหมอต้องเตรียมความพร้อมตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เฉพาะหมอเท่านั้นแต่เราต้องสร้างประสบการณ์ให้กับบุคลากรเจ้าหน้าที่ด้วย เป็นการขยายขอบเขตหรือศักยภาพในการทำงานด้านดูแลรักษาสัตว์ป่าให้กว้าง การบอกเล่าบอกต่อเป็นสิ่งสำคัญ แล้วมันก็เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งในการทำงาน ซึ่งวิธีการเหล่านี้มันคือการดำเนินงานเชิงรุก เรื่องการทำงานของเรามันถือว่าเป็นการสร้างแรงบันดาลใจไปในตัว นี่แหละ
คือการต่อยอด ซึ่งตอนนี้น้องๆ ที่เรียนสัตวแพทย์มีค่อนข้างเยอะ โดยมีหมอสัตว์ป่าเป็นแรงบันดาลใจ

“ตอนนี้ในมุมมองของสัตวแพทย์ เราไม่ได้กังวลว่าสัตว์ป่าจะน้อย - มากแค่ไหนแต่เรากังวลในเรื่องความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า ซึ่งเป็นปัจจัยคุกคามแฝงที่อันตรายมากที่สุด ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทำให้เกิดภาวะคุกคามถิ่นอาศัยค่อนข้างมาก สัตว์ป่าหลายๆ ชนิดเริ่มมีปัญหาเรื่องถิ่นอาศัยเมื่อพื้นที่ถูกจำกัดอาจทำให้เกิดการผสมพันธุ์ในกลุ่มเครือญาติ ระบบโครงสร้างของสัตว์ก็จะเปลี่ยนไป นั่นเป็นเรื่องที่เราต้องพูดถึงกันให้มากที่สุด ให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงปัญหาของสัตว์ป่ามากขึ้น”

แม้ว่าตอนนี้เขาจะเป็นที่รู้จัก ออกสื่อมากมายขนาดไหน แต่เขาไม่อยากให้สังคมมองว่าเป็นคนที่เสียสละทุ่มเทมากนัก เขาแค่อยากให้สังคมเห็นว่า นี่คือบทบาทหน้าที่ของข้าราชการคนหนึ่งในตำแหน่งสัตวแพทย์ที่ดูแลสัตว์ป่าในถิ่นอาศัย
แม้ว่างานที่เขาทำจะไม่ได้เกิดมาจากความรัก ยังทำได้ดีขนาดนี้ แล้วถ้าคนที่รักสัตว์จริงๆ จะทำออกมาได้ดีขนาดไหนกัน และเขาเป็นคนทำให้สังคมเข้าใจปัญหาสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น ให้ผู้คนได้รับรู้ว่าการเป็นสัตวแพทย์สัตว์ป่าไม่ง่ายเลย

Know Him

• ผลงานที่ภาคภูมิใจที่สุดของเขาคือ การได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย
• นอกจากจะเป็นสัตวแพทย์สัตว์ป่าแล้ว เขายังเป็นทั้งนักกีฬา อาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย วิทยากรให้ความรู้ รวมถึงทำงานวิจัย
• รายการ Wild Whisper เรื่องเล่าคนเฝ้าป่า ทางช่อง True Explore 1 ได้นำเสนอชีวิตของหมอล็อตในรูปแบบ Reality ตามติดชีวิตสัตวแพทย์สัตว์ป่า
• ล่าสุดทางสำนักพิมพ์แจ่มใสเลือกหยิบชีวิตหน้าที่การงานของเขาขึ้นมาเป็นต้นแบบของพระเอกนิยายในชุด Hot Guys, Hot Mind หล่อนี้...ที่หัวใจ
• ติดตามได้ที่ facebook/Lotterwildlifevet

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook