ประภัสสร เสวิกุล 50 ปี เส้นทางสายวรรณกรรม

ประภัสสร เสวิกุล 50 ปี เส้นทางสายวรรณกรรม

ประภัสสร เสวิกุล 50 ปี เส้นทางสายวรรณกรรม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นาม "ประภัสสร เสวิกุล" ชื่อนี้คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในฐานะนักเขียนผู้ซึ่งเป็นนักการทูตมากความสามารถ ด้วยช่วงเวลาที่ผ่านมาของการทำงานทุ่มเทให้หมดสิ้นแล้วทั้งอุดมการณ์และจิตวิญญาณในงานวรรณกรรม สมควรเป็นยิ่งนักกับรางวัลที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2554"


ปัจจุบันมีผลงานอะไรบ้าง
หลังเกษียณราชการจากกระทรวงการต่างประเทศมา 3 ปีแล้ว ตอนนี้งานที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของงานเขียน งานสังคม และงานวรรณกรรมต่าง ๆ โดยมีผลงานล่าสุดเป็นนวนิยายเรื่อง "จะฝันถึงเธอทุกคืนที่มีแสงดาว" เป็นนวนิยายหนึ่งในโครงการ "วรรณกรรมเพื่ออาเซียน" ของสมาคมอาเซียนแห่งประเทศไทย
นวนิยายเล่มนี้ใช้เวลาประมาณปีเศษในการเก็บข้อมูลที่ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อศึกษาข้อมูลและพบกับบุคคลต่างๆ เป็นโครงการของสมาคมอาเซียนแห่งประเทศไทยที่ต้องการจะให้คนไทยได้รู้จักประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนมากขึ้นผ่านงานวรรณกรรม ซึ่งคิดว่าน่าจะทำให้คนอ่านมีจำนวนมากขึ้นกว่าการถ่ายทอดเนื้อหาออกมาเป็นเรื่องของวิชาการหรือบทความ
จะฝันถึงเธอทุกคืนที่มีแสงดาว เป็นนวนิยายที่มีตัวละคร มีฉาก มีเหตุการณ์ โดยสร้างตัวละครขึ้นมาเป็นคนไทยกับคนอินโดนีเซีย เริ่มตั้งแต่วัยเยาว์จนกระทั่งเติบโต รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ของประเทศอินโดนีเซียนำมาใส่ไว้ในเนื้อเรื่อง ให้ตัวละครได้บอกเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ผู้อ่านได้รับทราบ
โครงการ "วรรณกรรมเพื่ออาเซียน" จัดทำขึ้นทั้งหมด 9 ประเทศ ตอนนี้ทำเสร็จไปแล้วคือ ประเทศอินโดนีเซีย และกำลังจะพิมพ์อีกเล่มคือเรื่อง "มีเมฆบ้างเป็นบางวัน" เป็นนวนิยายเกี่ยวกับประเทศฟิลิปปินส์และเหตุการณ์ของฟิลิปปินส์ตอนกู้เอกราช จากการที่ญี่ปุ่นบุกยึดครอง
มาจนถึงเหตุการณ์การโค่นล้มประธานาธิบดีมาร์กอส ถือเป็นประวัติศาสาตร์ช่วงหนึ่งของฟิลิปปินส์ โดยนำมาบอกเล่าในลักษณะของนวนิยาย และอีกเล่มคือเรื่อง "รักในม่านฝน" เป็นนวนิยายที่กล่าวถึงเหตุการณ์ปัจจุบันของประเทศเวียดนาม ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนเวียดนาม

 

มีหลักในการตั้งชื่อหนังสืออย่างไร
จริงๆ ชื่อเรื่องเป็นการบอกนัยยะของตัวเรื่องทั้งหมด โดยใช้วลีไม่กี่คำ เหมือนการย่อจักรวาลลงมาให้เหลือเท่าเม็ดถั่วเขียว ทั้งเรื่องต้องสรุปให้ได้ว่าพูดถึงอะไร แล้วทำให้เป็นชื่อเรื่องโดยแฝงนัยยะให้ชวนติดตาม เกิดความฉงนและต้องอ่านต่อ
การตั้งชื่อเรื่องบางทีก็คิดขึ้นมาได้แบบไม่แน่นอน บางเรื่องชื่อก็มาก่อน แต่บางเรื่องชื่อก็มาทีหลังเมื่อ เขียนนิยายจบแล้ว หรือกำลังเขียนอยู่ยังไม่มีชื่อเรื่องก็มี


มีผลงานออกมาแล้วกี่เล่ม
นวนิยายประมาณ 55 เรื่อง ส่วนเรื่องสั้นเขียนไว้ประมาณ 200 เรื่องเพราะเขียนมา 12 ปีแล้ว บทกลอนและบทกวียังเขียนอยู่บ้าง ก่อนจะมาเขียนนวนิยายผมเขียนบทกวีมา 8 ปี จากนั้นมาเขียนเรื่องสั้น 12 ปี แล้วถึงมาเขียนนวนิยายจนถึงทุกวันนี้ก็ 30 ปีแล้วเฉพาะนวนิยายอย่างเดียว


เสน่ห์ของงานเขียนอยู่ตรงไหน
ผมทำเพราะผมมีความรัก รักในหนังสือ รักที่จะอ่าน รักที่จะเขียน รักที่จะบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่ประสบมาให้ผู้อื่นได้รับทราบ เพราะปัจจัยหลักของการทำงานคือ ความรักสิ่งที่ตัวเองทำ


มีกฏอะไรบ้างในงานเขียนของคุณประภัสสร
ประเด็นแรกคือ การเขียนนวนิยายของผม ๆ ต้องการที่จะมองมนุษย์หรือมองโลกในแง่ดี เพื่อให้คนรู้สึกมีความหวัง มีกำลังใจ แต่ถ้าเรามองโลกในแง่ร้ายทุกคนก็จะหดหู่ โลกจะไม่สวยงาม ชีวิตจะไม่สดใส
จริงอยู่ที่คนเรามีทั้งดีและเลว แต่ถ้าเรามองโลกในแง่ดีหรือมุ่งค้นหาความดีของมนุษย์ พูดถึงแง่ดีของคน แง่ที่ไม่ดีก็ต้องหาทางชี้ให้เห็นว่าความดีเป็นอย่างไร และทางออกที่ดีเป็นอย่างไร
ประการต่อมาคือ เรื่องของศิลธรรม จรรยา เรื่องของคุณธรรมต่าง ๆ ผมพยายามจะสอดใส่ทุกเรื่อง เพราะถือว่าคุณค่าของมนุษย์อยู่ตรงที่มีจริยธรรม มีคุณธรรม มีศิลธรรม ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้คนเราก็จะเหมือนสัตว์ป่า


วลีหรือประโยคที่โดนใจในงานเขียนมีการสรรหามาจากไหน
ผมได้ภาษามาจากการเขียนกลอนมา 8 ปี ซึ่งมีส่วนช่วยในงานเขียนมาก อย่างเขียนบทกลอนจะมีการบังคับโดยฉันทลักษณ์ ต้องหาคำมาใส่ให้ลงฉันทลักษณ์ให้ได้ ดังนั้น กฏข้อแรกในงานเขียนของผมคือ ต้องไม่เล่นคำซ้ำ เพราะเราเป็นช่างประดิษฐ์ ไม่ใช่ช่างปั๊มที่จะปั๊มงานเดิมออกมาเรื่อย ๆ
ต้องมีความใหม่ มีความแปลก มีความสดที่เกิดขึ้น ต้องคิดถึงเสียงและสัมผัสต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และผมจะมี "คลังคำ" ค่อนข้างมาก เพราะบางครั้งคำเดียวกันสามารถใช้ได้หลายอย่าง ถ้าใช้คำเดียวซ้ำๆ ก็เหมือนกับเราไม่มีคำจะใช้
ถ้าได้ผ่านการอ่านมามาก ผ่านการเขียนกวีมาเยอะ เราจะมีคลังคำเยอะ ส่วนความสะเทือนใจในภาษานั้นได้มาจากการเขียนบทกวี เพราะมีคำให้เลือกใช้ค่อนข้างมาก คำบางคำถึงได้สะเทือนใจ
ส่วนการสร้างเรื่องให้กระชับ จะได้มาจากการเขียนเรื่องสั้น เพราะเรื่องสั้นจะบังคับว่าต้องเขียนไม่เกิน 8 หน้า หรือ 6 หน้า ฉะนั้นต้องพยายามเขียนหน้าให้กระชับ ไม่มีความเยิ่นเย้ออยู่ในเรื่อง สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่สั่งสมมา


ถ้าอยากเป็นนักเขียนต้องทำอย่างไร
สิ่งที่ต้องทำคือ การอ่าน ต้องผ่านการอ่านมาก่อนถึงจะเขียนกลอน เขียนเรื่องสั้นหรืออะไร ต้องตีความให้แตกก่อนจะเขียนอะไร ต้องศึกษาให้ท่องแท้แล้วถึงจะลงมือเขียน
ผมอ่านหนังสือมาค่อนข้างมากตั้งแต่เด็ก อ่านตั้งแต่วรรณคดีไทย วรรณกรรมเอกของโลก สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราได้ซึมซับเรื่องของวิธีคิดและวิธีเขียน งานเขียนต่าง ๆ เหล่านี้ผ่านกาลเวลามาเป็นร้อยๆ ปี ฉะนั้นต้องเป็นงานที่ยั่งยืน เป็นงานที่มีจุดเด่นและจุดดีถึงได้อยู่มานาน ถ้าได้ศึกษาและอาศัยการเรียนรู้จากการอ่านหนังสือเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเขียนมาก


งานเขียนที่ถูกนำไปทำเป็นละครได้มีส่วนร่วมอะไรบ้าง
ผมค่อนข้างที่จะเปิดกว้างและยอมรับว่าการที่จะนำนวนิยายไปทำเป็นอย่างอื่น มันเป็นศาสตร์คนละแขนง อาจต้องปรับให้เข้ากับศาสตร์หรือวิธีการนำเสนอของเขา
อย่างไรก็แล้วแต่ ขอให้รักษาหัวใจของเรื่องเอาไว้ รักษาแก่นของเรื่องและรักษาคาแรตเตอร์ตัวละครไว้ อาจจะเสริมหรือแต่ง อาจจะบอกให้เพิ่มหรือลดอะไรลงก็ทำได้ แต่ออกมาแล้วก็คือเรื่องนั้น แต่มีวิธีการเล่าอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่ไปสร้างเรื่องใหม่ขึ้นมา

 

ทำงานย่อมมีทั้งคำชมและคนตำหนิ
ผมทำงานมา 50 ปีแล้ว ผ่านทุกจุดมาแล้ว ค่อนข้างที่จะเฉยกับคำชม แต่อาจกังวลมากกว่าถ้ามีเสียงจากผู้อ่านติงอะไรเข้ามา เพราะต้องศึกษาว่าเราทำอะไรผิดหรือเปล่า หรือทำอะไรที่ไม่น่าจะทำหรือไม่ ผมโชคดีอย่างที่ไม่ได้รับการวิจารณ์อะไรมากมายนัก อาจเป็นเพราะมีการเตรียมตัวที่ดีพอ และผ่านงานต่าง ๆ มามากพอ


งานเขียนที่ถนัดจะเป็นแนวไหน
คงเป็นนวนิยาย เพราะอยู่กับนวนิยายมานานกว่าเรื่องสั้นและบทกวี มาถึงวันนี้ก็เป็นปีที่ 30 แล้ว ฉะนั้นผมค่อนข้างที่จะคุ้นเคยกับนวนิยายมากกว่าเรื่องสั้น และการเขียนนวนิยายจะมีพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ได้มากกว่า


ทำไมใช้นามปากกาเดียวในงานเขียน
เป็นเหตุบังเอิญที่เริ่มด้วยการใช้ชื่อจริงมาโดยตลอด เลยไม่อยากจะเปลี่ยน คิดว่าแสดงเป็นตัวของตัวเองดีที่สุด ไม่ควรที่จะมีนามแฝงอะไร และยอมรับผลงานที่เกิดขึ้นว่าเราเป็นคนสร้างขึ้นมา จะผิดหรือถูก จะดี หรือไม่ดี เราก็รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
นักเขียนบางท่านอาจมีแนวทางของท่านโดยเฉพาะ เช่น แนวโรแมนติก แนวสืบสวน แต่ผมชอบหลายแนว ผมก็เขียนหลายแนว บางคนเอาชื่อประภัสสรไปผูกว่าเป็นเรื่องของนวนิยายการเมือง นวนิยายรัก นวนิยายเกี่ยวกับคนจีน หรือนนวนิยายวัยรุ่น ซึ่งมันไม่ใช่
ผมจะเขียนอะไรก็ได้เพราะนั่นคือ "ประภัสสร" แต่วิธีการเขียน การนำเสนอเป็นตัวของผมเอง และนั่นคือ ความไร้รูปลักษณ์ ไม่มีแบบเฉพาะว่าต้องเขียนแบบไหน แต่การทำงานทุกอย่าง ต้องทำงานหนัก ศึกษาในเรื่องข้อมูล ในเรื่องข้อเท็จจริงต่าง ๆ ให้มากอันนี้คือสิ่งสำคัญ


ความยากง่ายในการทำงานด้านนี้
1.การหาข้อมูล 2.เรื่องของวิธีการนำเสนอ ทำอย่างไรถึงจะให้คนอ่านเข้าใจในสิ่งที่เราพูดหรือคิดทั้งหมดที่เราเขียนได้ ถ้ามีปัญหาก็คือ การสื่อสารไม่สมบูรณ์ ผู้อ่านจะได้รับสารที่ไม่ถูกต้อง หรือได้รับสารที่ผิดไปจากสิ่งที่เราต้องการให้เป็น อันนี้เป็นปัญหาสำหรับคนเขียนหนังสือ


เคยรู้สึกท้อแท้กับการทำงานบ้างมั้ย
ไม่มีเวลาท้อเลย ผมทำงานตรงนี้รู้สนุกนะ สนุกกับการคิดอะไรไปเรื่อย ๆ มีความสุขกับการที่ได้คิดได้ทำอะไร ผมคิดว่าคนที่รู้สึกท้อแท้อาจเป็นเพราะไม่ได้ในสิ่งที่หวัง หรือมีปัจจัยภายนอกเข้ามารบกวนทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้
ฉะนั้น ต้องพยายามตั้งตัวเองให้เข้มแข็ง เปรียบเสมือนตัวเราเป็นภูเขา ถึงแม้จะมีลมพัดมา ฝนจะตก แดดจะออกเราก็ไม่เดือดร้อน แต่ถ้ายังทำตัวเป็นจอมปลวก พอฝนตกหรือแดดออกเราก็จะเดือดร้อน ดังนั้น ต้องทำจิตใจให้เข้มแข็ง อย่าไปกังวลกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากภายนอก มั่นใจในตัวเองดีที่สุด


ฝากข้อคิดและกำลังใจสำหรับคนทำงาน
สิ่งแรกคือ ต้องมีจุดหมายในชีวิตและจุดหมายในการทำงาน ว่าเราจะทำอะไร ทำเพื่อใคร แล้วเดินไปให้ถึงจุดหมายนั้น แม้จะมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นก็แล้วแต่ พยายามคิดถึงปลายทางเอาไว้
ถึงแม้ระหว่างทางอาจจะมีขวากหนาม มีก้อนหิน หรือก้อนกรวด แต่ถ้ามีจุดหมายที่มองเห็น เราจะมีกำลังใจที่จะเดินทางต่อไปได้ แต่ถ้าทำงานโดยไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร หรือทำไปเพื่อใคร ไม่มีจุดมุ่งมั่น เราอาจจะเบื่อหรือล้มเลิกได้เพราะมองไม่เห็นปลายทาง
ประการต่อมาคือ ความอดทน งานทุกอย่างไม่ได้เป็นเหมือนกับอาหารกระป๋องที่เปิดออกมารับประทานได้ทันที แต่เราต้องปรุงเอง ต้องรู้จักอดทน รู้จักการรอคอย ถ้าทำแล้วยังไม่ดี หรือทำแล้วไม่มีใครเห็น อย่านึกว่าเราทำดีแล้ว แต่ให้นึกว่าเราทำดีพอหรือเปล่า แล้วทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก
เด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงาน ควรมีความรู้ในงานที่จะทำให้มากเพียงพอ พร้อมกับศึกษาการทำงานของคนอื่น เพื่อที่จะได้นำมาเป็นต้นแบบและนำมาเปรียบเทียบเพื่อที่จะได้ก้าวต่อไป
งานทุกอย่างมีความแตกต่างกันในเนื้องาน แต่วิธีการคิด วิธีการทำไม่ได้ต่างกันมากนัก ต่อให้เป็นวิศวกรสร้างยานอวกาศ หรือสร้างเรือกำปั่น ไอเดียหรือวิธีการคิด วิธีการทำไม่ต่างกัน แตกต่างกันแค่องค์ประกอบ
ฉะนั้น ถ้าสร้างความคิดของคุณได้ และหาวิธีการทำงานได้ คนเราสามารถทำได้ทุกอย่าง

 

ผู้เขียน : ณัฐกานต์
ช่างภาพ : กันสกล

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook