พ่อค้าข้าวถุง ไก่แจ้พันล้าน "ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล"

พ่อค้าข้าวถุง ไก่แจ้พันล้าน "ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล"

พ่อค้าข้าวถุง ไก่แจ้พันล้าน "ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย สุชาฎา ประพันธ์วงศ์

การส่งไม้ต่อทางธุรกิจจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ในยุคที่กิจการกำลังเติบโต มั่นคง มีระบบที่แข็งแรง ความพร้อมในการเปลี่ยนมือ จึงไม่มีอะไรที่ยุ่งยากหรือกังวลมากนัก แต่ทว่าบางกิจการอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะความคิดความเห็นของนักบริหารต่างเจเนอเรชั่น อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจูนกันติด เมื่อความคิดไม่ตรงกัน แม้มีเป้าหมายเดียวกันก็ตาม

กลยุทธ์การบริหารและมุมมองอาจจะต่างกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าจะเห็นพ้องต้องกันในทุกเรื่อง เพราะความเก่ง ความเชื่อของแต่ละคนเป็นสิ่งที่หักล้างลำบาก นอกจาก "ต้องทำให้เห็น"

ความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ข้าวบรรจุถุงตรา "ไก่แจ้" พันธุ์ข้าวดีที่ตั้งตามชื่อสัตว์เลี้ยงตัวโปรดของผู้ก่อตั้ง มีขายอยู่ทั่วประเทศและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และกำลังโด่งดังในตอนนี้ มีขนาดธุรกิจระดับพันล้าน โดยมีเถ้าแก่รุ่นใหม่ "กอล์ฟ-ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล" วัย 37 ปี สืบทอดกิจการต่อจากบิดา "สุนทร ธัญญวัฒนกุล" เถ้าแก่รุ่นเก๋า มีตำแหน่งเป็นประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรีและประธานกลุ่มหอการค้าภาคตะวันออก ทำข้าวถุงตราไก่แจ้ขายมากว่า 40 ปี

ด้วยระยะเวลาเพียง 10 ปีที่ ธีรินทร์ เข้ามาช่วยกิจการข้าวไก่แจ้ หลังจากที่เขาเรียนจบมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งปริญญาตรีจาก California State University of Fullerton สาขา Supply Chain Management และปริญญาโท University of La Verne สาขา Management Information System เขายังมีตำแหน่งประธาน YEC หอการค้าชลบุรี และคณะกรรมการสมาคมข้าวถุง

จากเด็กขนข้าว ขับรถส่งข้าว และเป็นเซลส์ขายข้าว ในโรงงานขนาด 80 ตร.ว. อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ที่มีพนักงาน 20 คน ทำกันมากว่า 30 ปี อยู่แบบไม่โตไม่ตาย ขายได้ปีละ 10 ล้านบาท

10 ปีหลังจาก "ธีรินทร์" เข้ามาช่วยกิจการที่บ้าน เขาสามารถขยายกิจการสร้างโรงงานใหญ่โตบนพื้นที่กว่า 100 ไร่ และมียอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็น 1 พันล้านบาท ปัจจุบันอยู่ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท สุนทรธัญญทรัพย์ จำกัด

แต่กว่าจะถึงวันนี้ เขาต้องต่อสู้ฝ่าฟันด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากพ่อ ผู้คร่ำหวอดในวงการข้าวและมีความเชื่อมั่นสไตล์เถ้าแก่ยุคเก๋า "ไม่โตไม่ตาย" มากว่า 30 ปี

บทพิสูจน์ที่ต้องใช้กลยุทธ์น้ำซึมบ่อทรายของ "ธีรินทร์" เริ่มตั้งแต่ก้าวแรกที่เขากลับมาถึงเมืองไทย เขาตรงดิ่งกลับบ้านเกิดที่พนัสนิคม ไม่สนใจปริญญาที่ได้ร่ำเรียนมา ทำตามความต้องการและความตั้งใจของตนเองในการกลับมาช่วยกิจการที่บ้าน เดินตามแผนการในสมองที่เขาวางแผนไว้ตลอดระยะเวลาที่เรียนในต่างแดน เช่นเดียวกับแผนการที่เขาจะมีครอบครัวและมีลูก 4 คน

วันนี้สิ่งที่เขามุ่งหวังใช้เวลาเพียง 10 ปี เขาสร้างให้เป็นจริงขึ้นมาได้ ทั้งเรื่องงานและครอบครัว โดยมีภรรยาคนสวย "ชญานิศ ธัญญวัฒนกุล" เป็นคู่ชีวิตและคู่คิดที่คอยให้กำลังใจตลอดมา พร้อมกับลูกน่ารัก ๆ อีก 4 คน

ก้าวแรกที่เขากลับเข้ามาในโรงงาน โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของผู้เป็นพ่อและแม่ที่อยากให้ออกไปหาประสบการณ์จากที่อื่นก่อน แล้วค่อยกลับมาบริหารงานที่บ้าน แต่ธีรินทร์คิดต่าง เขามองว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกไปหาประสบการณ์ เพราะในโรงงานยังมีสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้อีกมากมาย

งานแรกที่เขาทำคือ มองหาสิ่งของที่มีอยู่มาทำประโยชน์ให้มากที่สุด เขาจัดการซ่อมแซมรถคันเก่าที่ไม่ได้ใช้งาน ออกมาขับส่งข้าว จากเดิมที่มีรถแค่คันเดียว กลายเป็นรถสองคัน แถมลูกเถ้าแก่ยังแบกข้าวมาส่งด้วยตัวเอง จนเป็นที่กังขาของคนในตลาดที่รู้จักกับเถ้าแก่สุนทร ว่าใช้ลูกแบกข้าวสาร หรืออีกนัยหนึ่งคือ ลูกมาเกาะพ่อกิน

แต่เสียงเหล่านั้นมิได้สั่นคลอนความมุ่งมั่นหรือดับไฟนักธุรกิจหนุ่มลงได้ เขายังคงขนข้าว ขับรถส่งข้าว พบปะลูกค้า ได้เรียนรู้ และรับรู้หลายอย่างจากลูกค้า แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขในโรงงาน เพราะการออกพบลูกค้าของพ่อสุนทรเป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากทิ้งหน้าร้านก็ไม่ได้ เพราะต้องเช็กของขึ้นรถและนับเงินสดกันหน้าโรงงาน ฉะนั้นจะไว้ใจใครก็ไม่ได้ จึงต้องอยู่เฝ้าตลอดเวลา

แผนการต่อมาที่ธีรินทร์ต้องสร้างให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดคือ ระบบงานที่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ โดยการหาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จัดสต๊อกและคีย์บิล แต่เทคโนโลยีเป็นเรื่องยุ่งยากของคนรุ่นเก่า กว่าที่เขาจะหว่านล้อมให้พ่อเห็นประโยชน์ของโปรแกรมนี้ได้ เขาเองก็ต้องไปคัดเลือกโปรแกรมที่ดีที่สุดมานำเสนอ พร้อมพนักงานคีย์ข้อมูลที่พ่อและแม่ไม่ต้องทำเอง แต่ก็ไม่ง่ายกว่าจะรับพนักงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกรอกข้าว ขนข้าว มานั่งทำงานในโรงงานข้าวถุง

"เรื่องการยอมรับ ผมใช้เวลานานมาก เขาก็ยอมรับเรื่อย ๆ จนถึงบัดนี้บางอย่างพ่อก็ยังขัดผมเลย แต่ว่าตอนนี้ผมก็ดูแล 100% แล้ว แต่คำว่าขัดของผมคือ พ่อจะช่วยกันคิดให้คำปรึกษา เพราะมีหลาย ๆ อย่างที่พ่อผมทำแล้วโอเค ผมก็ยึดทำต่อไป อีกหลายอย่างที่มันหมดอายุแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเลยก็มีเหมือนกัน ช่วงแรกทะเลาะกันบ้านแตก แม้กระทั่งเรื่องซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 500 บาท เพื่อใช้ในการคีย์บิล ทำสต๊อกแล้วเอามายันกันทางบัญชี

ตอนนั้นพ่อผมแทบจะไล่ผมออก เพราะว่า หนึ่ง ไปจ้างคนเพิ่มเปลืองเงิน ซื้อคอมพิวเตอร์อีก ซื้อโต๊ะอีก แล้วถ้าเกิดเสมียนคนนี้ออกไปหรือหยุดงาน ใครจะทำให้ เพราะพ่อกังวลมาก เนื่องจากพ่อก็ทำเองไม่เป็น แล้วใครจะมานั่งอยู่ ผมก็บอกว่า ผมจะจ้างพนักงานสองคนให้มาทำตรงนี้ มันต้องมีคนหนึ่งขาดลามาสายหรือเจ็บป่วยบ้าง แล้วสลับกันหยุด แล้วถ้าสุดวิสัยจริง ๆ ผมนี่แหละจะมานั่งทำ แล้วการันตีว่าจะไม่มีปัญหา และจะช่วยเซฟเรื่องการโกงได้ด้วย เพราะแต่ก่อนเก็บเงินใส่ผ้ากันเปื้อน เข้าออกเท่าไหร่ก็ไม่รู้"

แผนการในหัวของธีรินทร์เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เขามีเวลาไปสำรวจตลาดและขยายตลาดออกไปจากเดิม 30 ปี ส่งขายแค่ 3 อำเภอ พนัสนิคม ศรีราชา และอำเภอเมือง ในขณะที่เมืองเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จำนวนประชากรก็เพิ่มขึ้น มีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมายในรอบ ๆ พื้นที่

"ผมจึงเริ่มหาเซลส์มาขยายตลาด ก็อีกนั่นแหละ ป๊าด่าอีกว่า ถ้าทำแบบนี้ออกไปเลย เราขายดีอยู่แล้ว ทำไมต้องจ่ายค่าคอมมิสชั่นอีก ทำไมต้องไปจ่ายค่าจ้างและค่าน้ำมันอีก ผมไฟต์เยอะมาก ที่เล่ามาแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น (หัวเราะ) ต้องอธิบายและทำให้พ่อเห็นว่า ถ้ามีเซลส์ยอดขายจะเพิ่มขึ้นอีก แต่โชคก็ไม่เข้าข้าง เพราะเซลส์คนแรกดันทำผิดพลาด เอาข้าวไปแล้วหายหัวไปเลย คือพ่อผมก็ไม่พอใจอย่างแรก เพราะไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ผมก็ยังดื้อจะหาเซลส์ต่อ พอคนที่ 2 คนที่ 3 เข้ามายอดขายก็เติบโตเร็วขึ้น จนตอนนี้โรงงานมีเซลส์ขายข้าวกว่า 100 คน และมีพนักงานกว่า 500 คน"

ทุกวันนี้ข้าวตราไก่แจ้ส่งขายแล้วทั่วประเทศและส่งออกประเทศเพื่อนบ้านแถมแตกไลน์ธุรกิจไปทำขนมไทยขายใช้ชื่อ "แม่นภา" เป็นชื่อของมารดาพ่อค้าข้าว รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโลจิสติกส์

ขนมไทยที่ไม่ธรรมดาสามารถโกอินเตอร์ไปต่างประเทศ ด้วยแพ็กเกจที่สวยหรู ผ่านการถนอมอาหารระดับสากลที่ได้มาตรฐานเก็บได้เป็นปี ทำให้คนไทยในต่างแดนและคนต่างชาติได้ลิ้มรสขนมไทยที่อร่อยไม่แพ้ขนมชาติใดเลย โดยเฉพาะข้าวต้มมัดรสชาติต่าง ๆ สิ่งที่พ่อค้าข้าวมุ่งมั่นจนสามารถเอาชนะใจพ่อ แม้จะไม่ได้ยินคำชื่นชมจากปากของพ่อด้วยตัวเอง แต่พ่อเขาก็ภาคภูมิใจในความสามารถของลูกชายคนโต ยกย่องลูกชายทุกครั้งเมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อน

นักธุรกิจหนุ่มไฟแรงยังได้สะท้อนความจริงบางอย่างที่เพื่อนบางคนประสบและต้องยอมพ่ายแพ้ไปในที่สุดก็คือความเปลี่ยนแปลงที่คนรุ่นเก่าอาจจะรับยาก แต่ถ้าพยายามทำให้เขาเห็นและเป็นสิ่งที่ดี ย่อมไม่มีใครปฏิเสธได้ แต่ต้องยอมรับว่า มันไม่ง่ายและเหนื่อยมาก แต่ถ้ายอมแพ้ไปกลางทาง เราก็ไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้เลย

"เมื่อก่อนยังไม่ได้เป็นบริษัท เป็นแค่ชื่อร้าน ผมเพิ่งมาจดเป็นนิติบุคคลได้ 8 ปี กว่าที่พ่อจะยอมรับในระบบแบบนี้ ผมดันทุรัง ทำให้เขาเห็นทีละจุด เขาก็เริ่มเข้าใจ ผมจะบอกเขาว่า ที่ผมเอาคนเข้ามา ไม่ใช่ให้ผมสบาย แต่ผมจะได้ทำอย่างอื่น ผมก็ไปหาลูกค้า ไปขยายตลาดมากขึ้น

สิ่งที่ขายกำไรที่ได้มากกว่ามาจ้างคนอีก เพื่อนผมหลายคนเขามีความสามารถนะ แต่กลัวพ่อ ไม่กล้าเถียงพ่อ แต่ผมไม่กลัว เอาเหตุผลไปยันกัน อะไรดีเอาไว้ บางอย่างมันใช้ไม่ได้กับปัจจุบันผมก็ไม่ยอม บ้านเราดีอย่างทะเลาะกันแล้วไม่มีความรู้สึก คืองานคืองาน นอกจากนั้นโอเค ไม่ใช่แบบว่าทะเลาะกัน ไม่มองหน้า กินข้าวไม่คุย ไม่มี"

จากเด็กเกเร ไม่ตั้งใจเรียน ในวันวาน

จากเด็กที่เอนทรานซ์ไม่ติด แล้วถูกส่งไปเรียนเมืองนอก ใช้ชีวิตลำพัง

จากเด็กที่ถูกดูถูกว่าโง่กว่าลิงชิมแปนซี เพราะทำคะแนนภาษาอังกฤษได้น้อยกว่าทดสอบกับลิงที่หลับตาจิ้มมั่ว ๆ

จากเด็กที่ไม่ได้เรื่องในสายตาพ่อแม่ เขาคือผู้ใหญ่ที่เติบโตขึ้นมาจากความพยายามอดทนและมุ่งมั่น เพียงเพื่อคำคำเดียว...

"ความสำเร็จ" ที่ทำได้จริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook