รู้ก่อนเชื่อ! ทำไมต้อง “สาธุ” "สาธุ99" เพราะเป็น “คำดี” อย่างนี้นี่เอง

รู้ก่อนเชื่อ! ทำไมต้อง “สาธุ” "สาธุ99" เพราะเป็น “คำดี” อย่างนี้นี่เอง

รู้ก่อนเชื่อ! ทำไมต้อง “สาธุ” "สาธุ99" เพราะเป็น “คำดี” อย่างนี้นี่เอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยุคนี้คำว่า “สาธุ” ไม่ใช่เพียงคำกล่าวจากปากพระสงฆ์หรือฆราวาส แต่ยังเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการแสดงความคิดเห็นผ่านคอมเมนต์ทางโซเชียล ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องทางศาสนา จนหลายคนมองว่าผู้ที่พิมพ์ “สาธุ สาธุ สาธุ” รวมถึง “สาธุ 99” คำที่มีเลขมงคลต่อท้าย เป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อเฉพาะ บ้างถูกชี้ถึงขั้นว่าเป็นผู้ที่ “งมงาย” แต่เมื่อขุดค้นรากศัพท์จะพบว่า คำกล่าว “สาธุ” นั้น มีความชัดเจนโดยเจตนา ด้วยมีความหมายและมีที่มาที่ไปซึ่งควรรู้ไว้ก่อนเชื่อหรือทำตามกัน

“สาธุ” หมายถึงอะไร

สาธุ เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต แปลว่า ดี ถูกต้อง ยอดเยี่ยม ประสบผลสำเร็จ ทั้งในภาษาบาลีและสันสกฤต ใช้คำว่า สาธุ เป็นคำแสดงว่า เห็นด้วยกับเรื่องที่พูดหรือสิ่งที่ทำ หรือใช้ในประโยคคำสั่งหรือขอร้องเพื่อแสดงความสุภาพ

ในบริบททางศาสนา คำว่าสาธุ กล่าวไว้ในคัมภีร์พระสูตรในหลายเหตุการณ์ กล่าวเฉพาะในสังคมไทยปัจจุบัน คำว่า สาธุ เป็นคำที่พระภิกษุสงฆ์ใช้เปล่งเพื่อแสดงว่า เห็นด้วย ยอมรับว่าเหมาะสมดีงาม ฆราวาสมักเปล่งคำนี้เมื่อฟังเทศนาจบ หรือเมื่อพระให้พร ส่วนพระสงฆ์จะเอ่ยคำ สาธุ ออกมาพร้อมกันเพื่อแสดงว่ารับรองมติของที่ประชุมสงฆ์หรือรับรองพิธีกรรมหรือสังฆกรรมที่เพิ่งทำเสร็จสิ้นไป

เช่น ในพิธีทอดกฐิน เมื่อเจ้าภาพกล่าวคำถวายผ้ากฐินแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งจะถามว่าควรจะมอบผ้ากฐินแก่ภิกษุรูปใด  ภิกษุอีกรูปหนึ่งจะเสนอชื่อภิกษุที่สมควรได้รับผ้ากฐิน เมื่อที่ประชุมสงฆ์มีมติเห็นชอบที่จะมอบให้แก่ผู้นั้นแล้ว จะกล่าวพร้อมกันว่า สาธุ.  ในการถวายสังฆทาน เมื่อผู้ถวายกล่าวคำถวายสังฆทานแล้ว พระสงฆ์จะกล่าวว่า สาธุ.

ทำไมต้อง สาธุ

สาธุ ในสังคมไทยรับเอาความหมายเดียวกับบาลีและสันกฤต คือหมายถึง  “ดีแล้ว” “ชอบแล้ว” หรือต้องการแสดงความเห็นว่าชอบแล้ว หรืออนุโมทนา จึงมักใช้เข้าคู่กับคำ โมทนา เป็น “โมทนาสาธุ”  สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ระบุด้วยว่า สาธุมีลูกคำ คือ “สาธุการ” หมายถึง การเปล่งวาจาว่าชอบแล้วเมื่อเวลาเห็นควรหรือยกย่องสรรเสริญ เช่น แซ่ซ้องสาธุการ กล่าวสาธุการขึ้นพร้อม ๆ กัน  อีกคำคือ “สาธุชน” หมายถึง คนดี คนที่มีคุณงามความดี  

หากแปลตามความหมายจะเห็นชัดว่า “สาธุ” เป็นคำที่แสดงเจตนาเพื่อการยกย่องสรรเสิญ ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ยังมีการแสดงให้เห็นว่าใช้เพื่อวอนขอ น้อมรับ และปลอบใจ  เป็นต้นว่า สาธุ เม ภนฺเต ภควา สงฺขิตฺเตน ธมฺมํ เทเสตุ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโดยย่อโปรดข้าพระองค์ด้วยเถิด  

ส่วนในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ได้จำแนกการใช้คำว่าสาธุไว้ถึง 6 นัยยะ กล่าวคือ

  1. สุนทระ หมายถึง ดีงาม
  2. ทัฬหิกัมมะ เป็นการย้ำอีกครั้ง เพื่อให้การกระทำนั้นมั่นคงยิ่งขึ้น
  3. อายาจนะ เป็นคำอ้อนวอนหรือเรียกร้อง เมื่อเริ่มต้นจะพูดอย่างอื่นต่อไป
  4. สัมปฏิจฉนะ เป็นการรับคำหรือยอมรับคำพูดของผู้อื่น
  5. สัชชนะ หมายถึง คนดี
  6. สัมปหังสา เป็นคำแสดงความยินดีหรือพอใจ

“สาธุ” คือเสียงปรบมือ

 สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (พิจิตร ฐิตวณฺโณ) สมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เจ้าอาวาสวัดโสมนัสราชวรวิหาร ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม ได้แสดงธรรมเทศนาในเรื่องนี้ไว้เมื่อนานมาแล้ว ท่านอธิบายว่า สาธุ ในภาษาไทยมีความหมายอย่างน้อย 5 อย่าง

  1. สาธุหมายถึง อนุโมทนา แสดงความยินดี ตกลง เห็นด้วย

ท่านยกตัวอย่างว่า “เวลาเราเห็นด้วยกับใครตกลง โอเค เราก็บอกสาธุ เห็นด้วย ๆ สมมุติว่าเราเลือกตั้งเห็นคะแนนเสียงเราก็บอกสาธุ ไม่ต้องปรบมือกราว ๆ เพราะปรบมือเป็นของฝรั่งเขา ของไทยคือสาธุเห็นด้วยเหมาะสมแล้ว หรืออาจารย์รู้ว่าลูกศิษย์กราบสวยอาจารย์ก็บอกสาธุดีแล้วอนุโมทนายินดีด้วย”

  1. สาธุ หมายถึง ยังประโยชน์ให้สำเร็จ คือให้สำเร็จประโยชน์

ท่านยกตัวอย่างว่า “ได้ยินคำว่า มัตตัญยุตตา สทา สาธุ ความรู้จักประมาณให้สำเร็จประโยชน์เสมอ”

  1. สาธุ หมายถึง ขอให้สมพรปากกับคำอวยพรที่ท่านให้

ท่านยกตัวอย่างว่า “อันนะภาระในครั้งสมัยพุทธการเป็นคนยากจนเข็ญใจทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้อธิฐานว่าคำว่าจนอย่าได้มีและจงได้รู้ธรรมอย่าง ท่านพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ให้พรว่า อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ สัพเพ ปูเรนตุ  สังกัปปาจันโท ปัณณะระโส ยะถา มะณิ โชติระโส ยะถา แปลว่า ขออิฏฐผลที่ท่านปรารถนาแล้วตั้งใจแล้วจงสำเร็จโดยฉับพลัน ขอความดำริทั้งปวงจงเต็มที่ เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ เหมือนแก้วมณีอันสว่างไสวควรยินดี ฯ จึงรับว่าสาธุขอให้สมพรปากท่าน”

  1. สาธุ เป็นสำนวนของพระ หมายถึง ขอโอกาส

ท่านยกตัวอย่างว่า “อย่างสมมุติว่าจะอาราธนาศีลก็จะขึ้นว่า สาธุ สาธุ มะยัง ภันเต เคยได้ยินบ้างไหม เหมือนกับว่าคนเป็นครูบาอาจารย์จะทำอะไรก็ขอโอกาส พระเถระเสียก่อนเช่น จะเปิดหน้าต่างก็ ขอโอกาสท่านอาจารย์ครับผมจะเปิดหน้าต่าง ทำอะไรต้องบอก ผู้ใหญ่เสียหน่อย ไม่ใช้ทำพรวด ๆ ไปขาดความเคารพ การทำขอโอกาสอย่างนี้ท่านเรียกว่าสาธุภาษาบาลี ภาษาไทยว่าขอโอกาส”

  1. สาธุ หมายถึง แสดงความต้อนรับแสดงความยินดีไชโยโห่ร้องกราบไหว้

ท่านยกตัวอย่างว่า “เวลาสมเด็จสังฆราชหรือใครก็ตามเสด็จไปต่างประเทศ ต่างประเทศเช่นเนปาลเขานิยมเวลามาต้อนรับเขาจะร้องสาธุตลอดทาง ที่มาต้อนรับ สาธุตัวนี้ก็คือขอยินดีต้อนรับ”

“สาธุ” ด้วยเจตนาดี

ดังความหมายที่กล่าวมาแล้วนั้น เห็นได้ว่าในกลุ่มสาธุชนนิยมใช้คำว่า สาธุ ด้วยเจตนาเดียวดังสงฆ์ คือ เห็นชอบ เห็นว่าดีงาม เช่น เมื่อเห็นใครไหว้พระ ทำบุญ โพสลงโซเชี่ยล หากรู้สึกยินดีในการกระทำนั้นจึงมักแสดงความเห็นชอบด้วยคอมเมนต์ว่า “สาธุ” หรือ “ขออนุโมทนาสาธุด้วยคน”  ส่วน “สาธุ 99” เป็นการแสดงการยอมรับเช่นกัน แต่ต่อท้ายด้วยเลขมงคลตามความเชื่อ ด้วยเลข 9 สื่อถึงความก้าวหน้ารุ่งเรือง

รวมไปถึงเมื่อได้รับคำอวยพร หรือแม้แต่การอ่านคำพยากรณ์ดวงชะตาที่ถูกทำนายทายทักว่าจะมีเรื่องที่ดีเกิดขึ้น การตอบคอมเมนท์ว่า สาธุ จึงเป็นการแสดงการยอมรับว่าเหมาะสมดีงาม ขอให้สมพรปากหรือเป็นจริงดังคำนั้น ๆ นอกจากเป็นการตอบรับอย่างสุภาพ ในกลุ่มผู้มีความเชื่อด้านโหราศาสตร์ยังเชื่อด้วยว่า เป็นวิธีการหนึ่งที่แสดงถึงการเปิดใจ เปิดรับพลังงานที่ดีเข้ามาหาตนเอง หรืออาจเป็นกุศโลบายหนึ่งที่นำพาให้ตนเองมองเห็นเรื่องต่าง ๆ ในด้านบวกมากขึ้น

นอกจากนี้ “สาธุ” ยังเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อแสดงความเคารพ โดยกร่อนเสียง เป็น “ธุ” ดังที่เห็นผู้ปกครองรุ่นก่อนมักสอนเด็ก ๆ ให้ยกมือไหว้พระ หรือไหว้ผู้ใหญ่ โดยบอกว่า “ธุจ้า” เช่น “ธุจ้าย่าก่อนลูก” ซึ่งหมายถึงให้ลูกไหว้สวัสดีหรือขอบคุณคุณย่าก่อน

ดังนั้นการใช้คำว่า “สาธุ” ไม่ว่าด้วยการเปล่งวาจา การพิมพ์คอมเมนท์ หรือเพียงกล่าวหรือคิดในใจ ล้วนหมายถึงการแสดงถึงการยอมรับต่อเรื่องดี เป็นคำที่ใช้แสดงการยอมรับการกระทำของผู้อื่นด้วยความสุภาพ อันเป็นพื้นฐานของ “สาธุชน”

หากใช้ด้วยเจตนาเช่นนี้ ก็มิใช่เรื่องผิดแปลกหรือไร้ประโยชน์แต่อย่างใด

  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook