คำสอนจาก "แม่ชีศันสนีย์" ข้อคิดที่เข้าใจง่าย นำไปใช้ได้จริง

หลังจากที่วันนี้ (7 ธ.ค. 2564) เสถียรธรรมสถาน ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน ได้คืนสู่ธรรมชาติ หลังป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย สิริอายุ 68 ปี
- สิ้นแล้ว! แม่ชีศันสนีย์ ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน สิริอายุ 68 ปี
- เปิดประวัติ "แม่ชีศันสนีย์" ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน ก่อนคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ
แม้ว่า แม่ชีศันสนีย์ จะได้จากไปแล้ว แต่สิ่งที่แม่ชีได้สร้างไว้หลังจากที่ได้เดินทางเข้าสู่ทางธรรม ทั้งการปฏิบัติ การเผยแพร่ธรรมะ รวมไปถึง "คำสอน" จากแม่ชี นั้นยังคงอยู่ วันนี้ Sanook Horoscope จึงขออนุญาตหยิบยกคำสอนส่วนหนึ่งของแม่ชีมาให้ทุกคนได้อ่านกัน ซึ่งแต่ละคำสอนของแม่ชีนั้น ล้วนแล้วแต่เข้าใจง่าย และสามารถนำไปปฏิบัติปรับใช้ได้จริง ทั้งข้อคิดการสละจากความทุกข์ การให้อภัย และสิ่งที่ทำให้เกิดความสุข
ข้อคิด-คำสอน จาก แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต
- ทุกคนมีหน้าที่ที่แตกต่าง แต่จิตเสมอกันได้ ด้วยความไม่ขุ่นมัว
- การฝึกเจริญสติปัญญา เป็นสิ่งมีค่าที่สุด ที่เราจะมอบเป็นของขวัญแก่ตัวเองได้ ระหว่างการเดินทางของชีวิต
- จงรู้ว่าเรามีลูก อย่างที่ลูกไม่ใช่ของเรา เขาจะเป็นอย่างที่เขาเป็น และถ้าเขาเป็นได้อย่างไม่ทุกข์ เราควรจะยกย่องลูกเรา อย่าทำให้ลูกกลับมาตั้งคำถาม ว่าเขาก็ไม่ได้อยากเกิดมา
- จงรักลูก อย่างที่เขาเป็น แม้เขาไม่น่ารัก ก็อย่าเกลียดเขา ให้โอกาสเขาอย่างเต็มที่ ในฐานะที่เราเป็นผู้ให้ชีวิต เราให้ชีวิตกับเขา แต่ชีวิตเป็นของเขา ไม่ใช่ของเรา
- กตัญญูยังไม่พอ ต้องต่อไปให้ถึงกตเวทิตา เพราะกตัญญูแปลว่ารู้คุณท่าน และกตเวทิตาแปลว่าตอบแทน หรือสนองคุณท่าน
- จงตอบแทนคุณพ่อแม่ กตัญญูครูบาอาจารย์ ด้วยการอยู่อย่างพึ่งตัวเองให้ได้ และให้คนอื่นให้เป็น
- คำว่า ‘อิสระ’ ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ แต่หมายถึงการทำสิ่งใดแล้ว สิ่งนั้นต้องไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ ต้องเป็นอิสระจากความทุกข์
- ถ้าโลกภายในคือใจงดงาม ไม่มีมลทิน เราก็จะสามารถดำรงชีวิตอยู่กับโลกภายนอกได้อย่างงอกงาม และเป็นอิสระ
- "การให้อภัย" เป็น "กุศล" แม้ว่าการให้อภัยของเราเขาจะรับรู้หรือไม่ก็ตาม
- คนที่รักตัวเองเป็น จะดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ขาดสติ
- คนที่ชอบแก้ตัว คือคนที่ไม่เคยเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา
- "ชีวิต" ไม่ว่าจะขาขึ้น หรือขาลง จงมี "สติ" อารักขาจิตไว้
- อย่าคิดเปลี่ยน "เขา" ถ้าจะเปลี่ยน ก็เปลี่ยนที่ "เรา" และเปลี่ยนด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่จำใจเปลี่ยน
- อย่าอ้อนวอน ขอให้สิ่งที่เปลี่ยนไปแล้ว กลับมาเหมือนเดิม แต่จงปรับตัวเอง เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ทุกข์ หรือทุกข์น้อยที่สุด
- เมื่อใดที่เราโกรธ เราจะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างสง่างาม เพราะไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ความร้อน
- ก่อนลงมือทำอะไร ให้มีความสุจริตใจเป็นที่ตั้ง
- จะ "สุข" ได้อย่างไร ถ้าคุณ "ให้" ไม่เป็น
- เมื่อพบความสูญเสีย เศร้าได้ แต่เศร้าให้สั้น แล้วลุกขึ้นมาทำงานต่อ อย่างสดที่สุด
- คนที่รักตัวเองเป็น จะไม่เกลียดใคร เพราะความเกลียด ทำให้ทุกข์
- เมื่อมีโอกาส "ให้" จง "ให้" อย่ามัวลังเลสงสัย จะได้ "กำไร" หรือ "ขาดทุน"
- "สติ" คือ "ชีวิต" การอยู่อย่างขาดสติ คือการอยู่อย่างตายทั้งเป็น
- เมื่อเกิดทุกข์ ถ้าไม่คลุกคลีกับทุกข์ ไม่นานจะลุกจากทุกข์ได้
- อย่ามัวทุกข์กับสิ่งที่ขาด จนลืมสุขกับสิ่งที่มี
- รับรู้ "ทุกข์" เข้าใจ "ทุกข์" ยอมรับ "ทุกข์" จะหาทางออกจาก "ทุกข์" ได้ง่ายขึ้น
- ที่ยังทุกข์กันอยู่ เพราะไม่รู้ว่าทุกสิ่ง ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็จะดับไป
- อะไรที่เกินพอดี ทำให้มีทุกข์ทั้งนั้น
- อย่าเอาใจเรา ไปรองรับความหยาบคายของใคร
- "สุข" ที่ได้จากการยื้อแย่ง ไม่เคยยั่งยืน
- ชีวิต ไม่มีอะไรแน่นอน อย่าเก็บความบาดหมางไว้ อภัยได้ อภัยเลย
- ไม่มีคำว่า อาภัพ สำหรับคนที่เริ่มเดินทาง อยู่บนหนทางแห่งการตื่น
- ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ทำไมเขาจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมเขาถึงทำอย่างนี้ แต่ปัญหาอยู่ที่ ทำไมเราจึงเอาใจ ไปจมอยู่กับเขา
- ชีวิตต้องมีคาถา คาถาที่ว่าคือ "อย่าชั่ว"
- การจากพรากไม่ได้ทำให้ทุกข์การไม่ยอมรับการจากพรากต่างหาก ที่ทำให้ทุกข์
- การให้ คือการทำลายอัตตาตัวตนของผู้ให้ ผู้ให้จึงพึงขอบคุณผู้รับ มิใช่ให้แล้วทวงบุญทวงคุณ
- จงสอน เมื่อเขาพร้อมเปิดใจรับฟัง
อัลบั้มภาพ 24 ภาพ