ละคร “เงินปากผี” กับสถานที่จริงสุดเฮี้ยน "บ้านเขียว" (ขุนพิทักษ์บริหาร)

ละคร “เงินปากผี” กับสถานที่จริงสุดเฮี้ยน "บ้านเขียว" (ขุนพิทักษ์บริหาร)

ละคร “เงินปากผี” กับสถานที่จริงสุดเฮี้ยน "บ้านเขียว" (ขุนพิทักษ์บริหาร)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากละครแนวทริลเลอร์ ที่นำความเชื่อตั้งแต่โบราณ เรื่องไสยศาสตร์และพุทธธรรมเข้ามารวมไว้ด้วยกัน กับบทละครเรื่อง “เงินปากผี” ของค่าย กันตนา เอฟโวลูชั่น ที่มี ป๋อ-ณัฐวุฒิ สะกิดใจ มารับบทนำ แสดงเป็นนักธุรกิจผู้หลงใหลในไสยศาสตร์จนทำให้ครอบครัวแตกแยก ได้สะกดวิญญาณตนเองด้วยมนต์ดำ และอาถรรพ์ “เงินปากผี” เพื่อรอวันกลับมาแก้แค้น

​และเบื้องหลังการถ่ายทำนี้เอง ฉากนี้ได้ยกกองไปถ่ายทำกันที่ บ้านเขียว หรือ บ้านขุนพิทักษ์บริหาร จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีความเชื่อเรื่องความอาถรรพ์น่ากลัวอยู่ไม่น้อย ในบ้านเขียวนี้แม้จะเซ็ทฉากโลงผีขึ้นมาแต่บรรยากาศความน่ากลัวขนหัวลุกกลับไม่ต่างกัน เพราะบ้านร้างริมแม่น้ำแห่งนี้ ทั้งสวยงามและน่าสะพรึงกลัว ถูกทิ้งรกร้างในสภาพดูเก่าและทรุดโทรม

ซึ่งบ้านแห่งนี้เคยมี รายการทีวีจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 5 บ้านผีสิงที่น่ากลัวที่สุด บ้านที่ชาวบ้านเรียกกันสั้นๆ ว่า “บ้านเขียว” ซึ่งชาวบ้านต่างร่ำลือกันว่า วันดีคืนดีจะเห็นเจ้าของบ้านและบริวารอยู่กันคึกคักเต็มบ้าน บ้างก็ได้ยินเสียงเพลงแว่วมาในยามดึกลอยออกมาจากบ้านร้างสภาพน่ากลัวแห่งนี้

อีกทั้งยังมีข่าวดัง ตอกย้ำความน่ากลัวเข้าไปอีกเมื่อมี หญิงสาวคนหนึ่งเผลอไปเตะกระทง ถาดบายศรีที่วางอยู่อย่างไม่ตั้งใจ และเมื่อกลับมาบ้านปรากฏว่าเกิดล้มป่วยหนัก หมดเรี่ยวแรง และยังได้ยินเสียงคนมาเรียกทุกคืน บางครั้งก็เห็นคนแก่มานั่งอยู่ด้วย ทำให้ร่างกายของเธอซูบผอมหนังติดกระดูกลงไปเรื่อยๆ และเสียชีวิตลง

ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเรื่องลึกลับหรือไม่ แต่เหตุการณ์นี้มันยิ่งทำให้บ้านท่านขุนเป็นที่กล่าวขวัญเกี่ยวกับความน่ากลัว มากยิ่งขึ้นไปอีก

 

ประวัติความเป็นมา

บ้านเขียวหรือบ้านขุนพิทักษ์บริหาร อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นของขุนพิทักษ์บริหาร (พึ่ง มิลินทวนิช) ผู้เป็นนายแขวงเสนาใหญ่ หรือ อำเภอผักไห่ในปัจจุบัน (เคยเข้ารับใช้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ด้วย) ภรรยา คือ นางจ่าง มิลินทวนิช ขุนพิทักษ์ฯ เป็นเจ้าของกิจการเรือสองชั้นที่เรียกว่าเรือเขียว ซึ่งเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่ (มีจำนวน 10 กว่าลำ) รับส่งผู้โดยสารระหว่างผักไห่-ท่าเตียน กรุงเทพฯ และผักไห่-ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์

จึงทำให้การค้าขายบริเวณนี้ เจริญรุ่งเรือง (เมื่อมีการทำประตูทดน้ำในแม่น้ำ เรือจึงไม่สามารถแล่นได้ ประกอบกับถนนหนทางเจริญขึ้นกิจการเดินเรือจึงเลิกไป) ตระกูลขุนพิทักษ์ฯ เป็นตระกูลใหญ่ ขุนพิทักษ์ฯ มีบุตรทั้งหมด 6 คน มีหลานอีกหลายคน บุตรคนโต คือ นางทองคำ มิลินทวนิช (นางทองคำมีบุตร 3 คน) บุตรคนที่ 2 คือ นางบุญมี บุตรคนที่ 3 คือ นายโกย คนที่ 4 คือ หลวงมิลินทวนิช คนที่ 5 นางวงศ์ ซึ่งเป็นภรรยาของหลวงพร้อมธีระพันธ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรีเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และคนที่ 6 คือ นางยูร

คุณยายสมพร มิลินทวนิช อายุ 78 ปี และคุณยายอุดมวรรณ มิลินทวนิช อายุ 80 ปี สองพี่น้องซึ่งเป็นหลานสาว (หลานตา) ของขุนพิทักษ์ฯ แต่ใช้นามสกุลของตา (เป็นบุตรนายเติมกับนางทองคำ โดยนางทองคำเป็นลูกสาวคนโตของขุนพิทักษ์) ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 563 ซอยลาดพร้าว 130 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ เล่าว่าขุนพิทักษ์ฯ เกิดที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา ส่วนภรรยา (นางจ่าง) เป็นคนอำเภอผักไห่

สมัยตนเป็นเด็ก บ้านของตนเป็นแพอยู่ริมน้ำหน้าบ้านขุนพิทักษ์ฯ ตนผูกพันกับบ้านหลังนี้มาตั้งแต่เด็ก วิ่งขึ้นลงคลุกคลีกับคนในบ้านมาตลอด หลังจากยกให้หลวงแล้ว ตนกลับมาดูบ้านหลังนี้ทุกปี เนื่องจากมีที่นาและญาติพี่น้องอยู่ที่อยุธยา แต่หลายปีหลังมานี้ตนไม่ได้มา

บ้านของขุนพิทักษ์บริหาร เป็นบ้านโบราณอายุเกินกว่า 100 ปี สถาปัตยกรรมเป็นบ้านไทยที่ได้รับอิทธิพลทางตะวันตก ซึ่งน่าสนใจมาก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย (ด้านหลังติดกับถนนในหมู่บ้าน ) หมู่ที่ 2 ต.อมฤต อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (เดินทางจากตัวอำเภอผักไห่ไปทางทิศเหนือตามถนนลาดยาง เพียง 3 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าไปในบริเวณวัดอมฤต แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านโรงสีเข้าไป)

บริเวณที่ตั้งมีเนื้อที่ทั้งหมด 1 ไร่ 72 ตารางวา ด้านหลังบ้านที่ติดกับถนนปักป้ายประกาศว่าเป็นที่ดินราชพัสดุของ กรมธนารักษ์ ลักษณะบ้านเป็นบ้านทรงปั้นหยาสองชั้นยกพื้นสูง ปลูกสร้างด้วยไม้สัก (บางส่วนเป็นตึก) ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “บ้านเขียว” (เพราะเดิมทาสีเขียว เนื่องจากขุนพิทักษ์เกิดวันพุธ)

หลังคามุงกระเบื้องสีน้ำตาลเข้ม สภาพภายในยังแข็งแรงแต่สภาพภายนอกทรุดโทรม ประตูหน้าต่างมีลวดลายแกะสลักอย่างประณีตบรรจง พื้นเป็นกระดานไม้สักแผ่นใหญ่ ชั้นล่างมีห้องโถงใหญ่ 1 ห้อง (มีตู้ไม้สัก 3 หลัง) ห้องเล็ก 2 ห้อง (ในห้องเล็กใกล้ระเบียงหลังบ้าน มีตู้เหล็กนิรภัย สูงถึง 1 เมตร ปิดล็อกไว้) และห้องใต้บันไดอีก 1 ห้อง ส่วนชั้นบนมีห้องโถง 1 ห้อง ห้องเล็ก 3 ห้อง และห้องซอยด้านหลังอีก 1 ห้อง ในห้องเล็กที่ใกล้กับทางลงมีห้องแยกออกไปอีก เป็นห้องที่ใช้ประตูเดียวกับห้องแรก ภายในห้องแยกมีห่วงเหล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ตรึงอยู่กับพื้นมุมห้อง ใช้สำหรับล็อกโซ่ล่ามกำปั่นสมบัติ

หน้าต่างและประตูใช้กลอนไม้แบบโบราณ ด้านหน้ามีสะพานไม้เชื่อมไปที่ศาลาใหญ่ริมแม่น้ำ และเรือนพักคนรับใช้หลังเล็ก (นายฟื้น ผู้ดูแลบ้านคนสุดท้ายมีอาชีพทำขนมจีนขาย ได้เสียชีวิตที่เรือนหลังเล็กนี้ หลังจากนายฟื้นเสียชีวิต นางวาสน์ซึ่งเป็นภรรยานายฟื้นและเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ได้ย้ายไปอยู่บ้านพักคนชรา และไม่มีใครพบอีกเลย

ส่วนเรือนหลังใหญ่ไม่ปรากฏว่า เคยมีผู้เสียชีวิตในเรือน แม้แต่ขุนพิทักษ์ฯ เมื่อชราภาพใกล้สิ้นอายุขัย ได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ระยะหนึ่ง จึงเดินทางกลับบ้านทางเรือ และสิ้นชีวิตในเรือระหว่างเดินทาง) หลังจากขุนพิทักษ์ฯ สิ้นชีวิตแล้ว ลูกหลานได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่น ส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ แม่จ่าง ภรรยาท่านขุนจึงได้ยกบ้านให้หลวง เป็นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ เมื่อ พ.ศ.2505 โดยกระทรวงมหาดไทย ได้มอบเข็มชั้นเครื่องหมายทองประดับเพชรให้กับนางจ่างด้วย โดยปัจจุบันนี้บ้านเขียวมีสภาพทรุดโทรมลงไปเป็นอย่างมาก

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook