เรียนรู้วิธีการใช้ห้องน้ำในบ้านในญี่ปุ่นอย่างถูกต้องเมื่อเกิดภัยพิบัติ น้ำไม่ไหล

เรียนรู้วิธีการใช้ห้องน้ำในบ้านในญี่ปุ่นอย่างถูกต้องเมื่อเกิดภัยพิบัติ น้ำไม่ไหล

เรียนรู้วิธีการใช้ห้องน้ำในบ้านในญี่ปุ่นอย่างถูกต้องเมื่อเกิดภัยพิบัติ น้ำไม่ไหล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย่างที่ใครก็รู้กันเป็นอย่างดีว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ แม้ว่าสาธารณูปโภคและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในญี่ปุ่นจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการเกิดภัยพิบัติเป็นอย่างดี แต่ถ้าเกิดโชคร้ายเกิดภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น แน่นอนว่าสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานก็อาจถูกตัดขาดได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำประปา ที่ถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับการใช้ชีวิตของเราในทุกมิติ คราวนี้เราเลยจะนำความรู้เกี่ยวกับการใช้ห้องน้ำอย่างถูกวิธี หากเกิดเหตุการณ์ถูกตัดน้ำ หรือน้ำไม่ไหลมาฝากเพื่อน ๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นกันนะคะ

วิธีกดชักโครกเมื่อน้ำไม่ไหล

แน่นอนค่ะว่าเมื่อน้ำไม่ไหล เราจะไม่สามารถกดชักโครกได้อย่างแน่นอน ในปัจจุบันสุขภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ใช้กันตามบ้านของคนญี่ปุ่นเป็นระบบฟลัชแทงค์ โดยตัวแทงค์จะอยู่ด้านหลังของชักโครกเพื่อกักเก็บน้ำไว้สำหรับกดชักโครกนั่นเอง แต่หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่า ถึงแม้น้ำจะไม่ไหล ก็ยังคงมีน้ำที่ถูกกักเก็บไว้ที่แทงค์ของชักโครก น่าจะยังใช้ได้อีกสักพัก ซึ่งก็ต้องขอบอกว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดค่ะ เพราะน้ำที่ถูกเก็บไว้ในแทงค์ไม่เพียงพอสำหรับการกดชักโครกนั่นเอง

อีกหนึ่งความเข้าใจผิดที่บางคนทำกันก็คือ การเติมน้ำเข้าไปในแทงค์เพราะหวังว่าถ้ามีน้ำอยู่ในแทงค์ จะสามารถกดชักโครกได้ตามปกติ ซึ่งนั่นก็เป็นความเข้าใจที่ผิดด้วยเช่นกัน เพราะอย่างที่พูดไปข้างต้นนั่นก็คือ น้ำที่อยู่ในแทงค์ยังไม่เพียงพอสำหรับการชำระล้าง และยังจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดตันได้อีกด้วย นอกจากนี้สุขภัณฑ์บางชนิดยังมีส่วนที่ใช้ไฟฟ้าอยู่บริเวณแทงค์ ซึ่งการเติมน้ำเข้าไปอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจจะทำให้เกิดการชำรุดเสียหายของชิ้นส่วนด้านในได้

วิธีการใช้ชักโครกอย่างถูกต้องเมื่อน้ำไม่ไหล

วิธีการใช้ชักโครกอย่างถูกต้องเมื่อน้ำไม่ไหลก็คือ การราดน้ำเข้าไปโดยตรง เหมือนเวลาเราใช้ส้วมแบบตักราดนั่นเองค่ะ สำหรับวิธีการราดน้ำลงชักโครกอย่างถูกต้องเวลาน้ำไม่ไหลนั้น มีดังต่อไปนี้

1.ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษที่ไม่ใช้แล้ววางปูไว้รอบห้องน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำกระเด็นออกมาเลอะที่พื้นด้านนอก
2.ยกฝาที่นั่งขึ้น แล้วนำน้ำที่ตักใส่ถังไว้ (ปริมาณราว 5-6 ลิตร) ราดลงไปรวดเดียวเพื่อชำระล้างสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไป
3.ราดน้ำปริมาณค่อนข้างมากราว 10-12 ลิตร ประมาณ 2-3 ครั้งเพื่อให้ท่อระบายของเสียอยู่ในสภาพที่สะอาด
4.เมื่อสิ่งปฏิกูลไหลลงไปจนหมดแล้ว ให้ราดน้ำราว 3-4 ลิตรลงไป เพื่อรักษาระดับน้ำภายในตัวโถสุขภัณฑ์ให้อยู่ในระดับปกติ

หลายบ้านในญี่ปุ่นมักจะเก็บน้ำในอ่างอาบน้ำเอาไว้หลังจากอาบน้ำเสร็จใช่ไหมละคะ จึงทำให้มีหลายคนที่นำน้ำในอ่างอาบน้ำมาใช้ราดห้องน้ำเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น แต่ต้องขอบอกว่านั่นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องนะคะ เพราะในน้ำที่เหลือหลังจากอาบน้ำเสร็จนั้นมักมีเศษเส้นผม และสิ่งสกปรกต่าง ๆ หลงเหลืออยู่ ซึ่งสิ่งสกปรกเหล่านั้นสามารถทำให้เกิดการอุดตันในชักโครกได้นั่นเองค่ะ ดังนั้นหากมีประกาศเตือนว่าจะมีภัยพิบัติ แนะนำให้เพื่อน ๆ เตรียมตัวกักเก็บน้ำสะอาดไว้ใช้โดยเฉพาะกันด้วยนะคะ นอกจากนี้โถสุขภัณฑ์รุ่นใหม่ ๆ ในญี่ปุ่นมักมีฟังก์ชั่นการใช้งานแบบกดอัตโนมัติ หรือเปิดปิดฝาแบบอัตโนมัติ เป็นต้น แนะนำว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้น้ำไม่ไหล ให้เพื่อน ๆ ปิดระบบอัตโนมัติทั้งหมดไปก่อน และในเวลาปกติแนะนำว่าควรอ่านศึกษาคู่มือและข้อควรระวังของสุขภัณฑ์รุ่นที่เราใช้อยู่ไว้ด้วยก็ดีค่ะ

และนี่ก็เป็นวิธีการใช้ห้องน้ำอย่างถูกต้องของคนญี่ปุ่นเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินน้ำไม่ไหลขึ้นนะคะ เหตุการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติในญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การเตรียมตัวรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอยู่เสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ สำหรับการใช้ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะห้องน้ำเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในชีวิตประจำวันของเรา การเรียนรู้วิธีใช้และการดูแลห้องน้ำอย่างถูกวิธีจึงเป็นเรื่องที่เราอยากให้เพื่อน ๆ ที่ใช้ชีวิตในญี่ปุ่นศึกษาไว้นั่นเองละค่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook