ทำความเข้าใจค่า Ft คืออะไร เกี่ยวกับค่าไฟอย่างไร

ทำความเข้าใจค่า Ft คืออะไร เกี่ยวกับค่าไฟอย่างไร

ทำความเข้าใจค่า Ft คืออะไร เกี่ยวกับค่าไฟอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อไหร่ก็ตามที่ค่า Ft (เอฟที) ปรับขึ้น ค่าไฟก็จะขยับขึ้น และเมื่อไหร่ที่ ค่า Ft ปรับลด ค่าไฟก็จะขยับลดลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของเราด้วยเช่นกัน

ลองมาทำความรู้จักกับค่า Ft ว่าคืออะไร และมีผลต่อค่าไฟที่เราเสียไปในแต่ละเดือนอย่างไร พร้อมอัปเดตมาตรการตรึงค่า Ft ของภาครัฐเพื่อช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ที่นี่

ค่า Ft คืออะไร

การคิดค่าไฟจะประกอบด้วยหลาย ๆ ส่วน ซึ่งค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

1. ค่าไฟฟ้าฐาน 

ค่าการใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะคิดจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า โดยวิธีการคำนวณก็จะแบ่งตามประเภทผู้ใช้งาน ได้แก่

ประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย

ประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก

ประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง

ประเภทที่ 4 กิจการขนาดใหญ่

ประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง

ประเภทที่ 6 องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร

ประเภทที่ 7 กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร

ประเภทที่ 8 ไฟฟ้าชั่วคราว

ทั้งนี้ ในแต่ละประเภท ก็จะแบ่งหน่วยการคิดค่าไฟฟ้าแยกย่อยตามแต่ละหน่วยที่แบ่งการคิดต้นทุนไว้

2. ค่า Ft

ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่าไฟฟ้าผันแปร หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ค่า Ft ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับที่กำหนดไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน โดยค่า Ft มีการปรับปรุงทุก ๆ 4 เดือน

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 

นอกจากค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft แล้ว ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) รวมกับค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft ด้วย

อัปเดตค่า Ft ล่าสุด

ค่า Ft จะมีการประกาศปรับปรุงทุก ๆ 4 เดือน ตามแต่ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในช่วงเวลานั้น และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะมีการประกาศให้ประชาชนรับทราบ แต่ล่าสุดเพื่อช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้คงอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft สำหรับการเรียกเก็บเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2563 จำนวน -11.60 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย ต่อไปอีก 4 เดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2563

หมายเหตุ: จะเห็นว่า ตัวเลข Ft เป็นค่าติดลบ ถ้าสรุปให้เข้าใจแบบง่าย ๆ คือเมื่อไหร่ก็ตามที่ ค่า Ft ซึ่งเป็นตัวเลขติดลบกลายเป็นตัวเลขที่น้อยลง ก็หมายถึง ตัวที่จะนำไปหักกับค่าไฟฐานลดลง ก็อาจจะต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้น

เช็กมาตรการช่วยเหลือจากกระทรวงพลังงาน

กระทรวงพลังงานยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนี้

1. การคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก โดยเงินประกันตั้งแต่ 300-6,000 บาทต่อมิเตอร์ และจะทยอยคืนตั้งแต่รอบบิลสิ้นเดือนมีนาคม 2563

2. การขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 2 รอบบิล ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 สามารถขยายระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้าได้ 6 เดือน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัย, กิจการขนาดเล็ก และกลุ่มโรงแรม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อภาคการท่องเที่ยว

4. กระทรวงพลังงานจะนำเงินเบื้องต้นจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ในวงเงินราว 4 พันล้านบาท และจะรวมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่น เพื่อนำเงินดังกล่าวมากระตุ้นการใช้จ่ายด้วยการเร่งสร้างงาน เช่น การขุดบ่อบาดาล รอกคลอง ตลอดจนเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มค่า Ft ยังมีโอกาสปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง และมีผลทำให้ค่าไฟขึ้นได้อีก ดังนั้น จึงควรหาวิธีประหยัดการใช้พลังงาน เพื่อลดทั้งค่าไฟฐาน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลัก และค่า Ft ที่ผันผวนตามค่าไฟฐานด้วย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook